เปิดโผ 7 หุ้นรับอานิสงส์ “ชิม ช้อป ใช้”-เม็ดเงินสะพัดกว่า 1 แสนลบ.
เปิดโผ 7 หุ้นรับอานิสงส์ "ชิม ช้อป ใช้"-เม็ดเงินสะพัดกว่า 1 แสนลบ.
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลได้ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ”ชิมช้อปใช้” ซึ่งทางรัฐบาลได้เตรียมความพร้อมให้ประชาชนที่จะมาร่วมโครงการ 10 ล้านคนได้จับจ่ายใช้สอยซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.62 ถึงวันที่ 30 พ.ย.62
โดยได้กำชับธนาคารกรุงไทย (KTB) เตรียมพร้อมแอพ “เป๋าตัง” รองรับ”ชิม ช็อป ใช้” 10 ล้านคนไม่ให้สะดุดเพื่อเปิดดาวน์โหลดตั้งเที่ยงคืน 26 ก.ย. โดยโครงการดังกล่าวคาดว่าจะมีเม็ดเงินใช้จ่ายสะพัดไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท
ดังนั้นทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการสำรรวจกลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลดีจากมาตรการดังกล่าวมานำเสนอให้นักลงทุนเพื่อเป็นทางเลือกการลงทุนโดยกลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลดี อาทิ ERW,MINT,CPALL,BJC,SPA,TNP,ASAP
บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า หุ้นอิงเศรษฐกิจในประเทศและได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวจากภาครัฐจะเคลื่อนไหวดีกว่าตลาด (Outperform) ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ขณะที่ธีมหุ้นเทรดดิ้งระยะสั้น แนะนำหุ้นรับอานิสงส์ “ชิมช้อปใช้” ที่จะเริ่ม 27 ก.ย. – 30 พ.ย. – BJC, CPALL, ERW, MINT
บล.โกลเบล็ก ระบุในบทวิเคราะห์ว่า หากประเมินหุ้นที่ได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว “ชิม ช็อป ใช้” ดังกล่าว มองว่าหุ้น TNP ได้ประโยชน์สูงสุด เพราะเป็นประกอบธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ปัจจุบันมีสาขารวมทั้งสิ้น 25 สาขา ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา รองลงมาเป็นหุ้น ASAP ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถยนต์ให้เช่า ซึ่งจะช่วยให้มีการเช่ารถเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีรถรองรับให้บริการถึง 6,700 คัน
รวมถึงหุ้น SPA ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจด้านสปาเพื่อสุขภาพ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสปา ที่มีการให้บริการในหลายระดับตั้งแต่ระดับ 2 ดาวไปถึง 5 ดาว ขณะที่ ERW มีโรงแรมหลายระดับราคารวมทั้งโรงแรมราคาประหยัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ
บล.โกลเบล็ก ระบุในบทวิเคราะห์ว่า TNP เริ่มต้นด้วยคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสม 2.56 บาท ด้วยเหตุผล 3 ประการ 1) ราคาปัจจุบันต่ำกว่าราคาพื้นฐานที่ควรจะเป็น ปัจจุบัน PE อยู่ที่ระดับ 21 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 2 ปี ที่ 25 เท่า และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ที่ 31 เท่า 2) ผลประกอบการช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตแรงจากการเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ประกอบกับการทยอยเปิดสาขาใหม่ และ 3) TNP จะได้รับ
บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW จะมีอัตราการเติบโต CAGR ในปี 2020-2021 อยู่ที่ 20% ต่อปี โดยมีแรงผลักดันจากการขยายของจำนวนห้องพักในโรงแรม การรีบาวน์ของ RevPar ซึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว และการปรับกลยุทธ์สินทรัพย์ รวมถึงกำไรที่มาจากการประหยัดต่อขนาด หรือ economies of scale ระหว่างไทย และฟิลิปปินส์จึงแนะนำ ซื้อ ที่ราคาเป้าหมาย 7.20 บาท
บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT มีพอร์ตสินทรัพย์ในธุรกิจบริการที่กระจายตัวไปทั่วทั้งใน APAC, ยุโรป, อาฟริกา และอเมริกาใต้ คาดว่า MINT จะสามารถตอบสนองต่ออุปสงค์ของการท่องเที่ยว และการบริโภคปลายน้ำ (กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม) ที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนชนชั้นกลางที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ กำไรที่เพิ่มขึ้นจาก NH Hotel รวมถึงโมเมนตั้มที่แข็งแกร่งของกิจการโรงแรมในต่างประเทศ และการฟื้นตัวของโรงแรม UPC ในประเทศไทย และ Food-Hub ในประเทศไทยจะช่วยหนุนให้กำไรโตได้ปีละ 13% CAGR ในช่วงปี FY19-21F แนะนำให้ซื้อ MINT และให้ราคาเป้าหมายที่ 47 บาท ซึ่งประเมินโดยวิธี DCF (ใช้ WACC ที่ 6.9%)
บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนะนำ “ซื้อ” SPA ราคาเป้าหมาย 16.20 บาท/หุ้น มองผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 62 ของ SPA เพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนเป็น 106 ล้านบาท เพิ่มขึ้นตามนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น 1.5% (แต่จีนลดลง 5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน)
แต่อย่างไรก็ตามมองว่าผลประกอบการจะฟื้นตัวขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 62 จากฐานที่ต่ำในปีก่อน เนื่องจากเหตุเรือล่มที่ภูเก็ต และการปิดปรับปรุงของรีสอร์ทระรินจินดา (โต 5% ในเดือน ก.ค. ในขณะที่นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้น 5%) และเชื่อว่าอัตรากำไรขั้นต้นของ Stretch Me จะเพิ่มขึ้นจากการชะลอการขยายสาขา แนะนำให้ “ซื้อ” โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 16.20 บาท
ด้านบล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 58 บาท เป็นหนึ่งในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการกระตุ้นศก.กำไรครึ่งปีแรก +23% เทียบช่วงเดียวกันชองปีก่อนคิดเป็น 47% ของประมาณการทั้งปี แนวโน้มกำไร ครึ่งหลังปี 2562 สดใสต่อเพราะจะรับรู้รายได้จากลูกค้าธุรกิจกระป๋องรายใหม่อีก 1 ราย
ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบลดลงโดยเฉพาะราคาเยื่อกระดาษ และยังเป็นช่วงนับ stock ของ Big C ซึ่งมักมีการกลับรายการสต็อก ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้น และหุ้นกู้ที่ครบกำหนดเดือนหน้า 2.2 หมื่นลบ. จะถูกชำระคืนและ refinance ทำให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลง
บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ชอบหุ้น CPALL เนื่องจากเป็นผู้นำในกลุ่มค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าที่จำเป็น (staple) และมีโอกาสสูงที่จะได้ประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านสาขาที่มีกระจายอยู่ทั่วและเข้าถึงชุมชน ขณะที่กรมบัญชีกลางรายงานว่า ยอดร้านค้าในโครงการ”ชิม ช้อป ใช้”เริ่มมีมากขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะภาครัฐให้การสนับสนุนอำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนคาดว่า CPALL จะมีกำไรปี 2019E และ 2020E อยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านบาท และ2.7 หมื่นล้านบาท (+12% YoY และ +16.3% YoY ตามลำดับ)
เงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง แถลงข่าวความพร้อมของมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้” โดยระบุว่า ในขณะนี้ระบบงานและแอปพลิเคชันต่าง ๆ มีความพร้อมแล้วสำหรับรองรับการเปิดรับลงทะเบียนประชาชนที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.62 ผ่าน www.ชิมช้อปใช้.com และการเดินทางท่องเที่ยวพร้อมจับจ่ายใช้สอยที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.62 ถึงวันที่ 30 พ.ย.62 โดยได้กำชับธนาคารกรุงไทย (KTB) ดูแลระบบอย่างเต็มที่ ไม่ให้ล่ม หรือมีปัญหาอุปสรรค กับประชาชนที่จะมาร่วมโครงการ 10 ล้านคน โดยคาดว่าจะเกิดเม็ดเงินใช้จ่ายสะพัดไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท
ร้านค้าร่วมโครงการกว่า 5 หมื่นราย
น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมบัญชีกลางได้ปรับกลยุทธ์เชิงรุกร่วมกับธนาคารกรุงไทย(KTB) ทำให้มีผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายและร้านค้าทั่วไปสนใจสมัครเข้าร่วมมากขึ้น
โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการร้านค้าทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้” แล้ว 55,579 ราย เป็นร้านประเภทชิม 26,321 ร้านค้า ประเภทช็อป 26,576 ร้านค้า และประเภทใช้ 2,682 ร้านค้า ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เพิ่มขึ้น และเมื่อรวมกับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่มี App ถุงเงินเดิมอยู่แล้วกว่า 50,000 ร้านค้า
โดยธนาคารกรุงไทยได้อัพเดท App ถุงเงินเวอร์ชั่นใหม่ให้อัตโนมัติ และร้านค้าประชารัฐที่ติดตั้งเครื่อง EDC กว่า 30,000 ร้านค้า ธนาคารกรุงไทยได้อัพเดทข้อมูลให้สามารถดาวน์โหลด App ถุงเงินได้ทันที ทำให้ยอดรวมร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการฯ ในตอนนี้มีจำนวนกว่า 135,000 ราย ซึ่งมีความหลากหลายและเพียงพอต่อการจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการของประชาชนจำนวน 10 ล้านคนที่จะมาลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการฯ ในวันที่ 23 ก.ย.62 อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ตั้งเป้าหมายผู้ประกอบการร้านค้าเข้าร่วมมาตรการฯ จำนวนประมาณ 40,000 ราย ประกอบด้วย ร้านอาหารที่มีเลขทะเบียนพาณิชย์ ประมาณ 14,000 ราย รวมถึงร้านอาหารขนาดเล็กในพื้นที่อีก 10,000 ราย ร้าน OTOP/วิสาหกิจชุมชน/ ประมาณ 6,000 ราย โรงแรมและโฮมสเตย์ ประมาณ 10,000 ราย
เงื่อนไขแจกเงิน 1000 บาท “ชิม ช้อป ใช้”
สำหรับผู้ที่จะลงทะเบียนรับสิทธิต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ 1. เป็นคนไทย ที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ลงทะเบียน 2. มีบัตรประจำตัวประชาชน 3. มี Smart Phone /เครือข่าย Internet 4. มี e-mail โดยในขั้นตอนการสมัครจะต้องระบุจังหวัดที่จะไปท่องเที่ยวจำนวน 1 จังหวัด และไม่ใช่จังหวัดตามสำเนาทะเบียนบ้านของตนเอง ซึ่งในวันที่ลงทะเบียนสามารถเข้าไปดูจำนวนร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการฯ ในแต่ละจังหวัดเพื่อช่วยในการตัดสินใจ และจะได้รับ SMS แจ้งยืนยันการได้รับสิทธิภายใน 3 วันหลังจากลงทะเบียน ซึ่งช่วงระยะเวลาการไปใช้สิทธิ คือภายใน 14 วัน หลังจากได้รับ SMS จากนั้นดาวน์โหลด App เป๋าตัง ก็จะได้รับสิทธิและวงเงินใน App
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า วงเงินใน App เป๋าตัง ที่ผู้มีสิทธิได้รับนั้น จะมี 2 ช่อง คือ เป๋าตัง ช่อง 1 (g-wallet 1) ได้รับสิทธิวงเงิน 1,000 บาท เพื่อใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการในจังหวัดที่เลือกไว้ และเป๋าตัง ช่อง 2 (g-wallet 2) สามารถเติมเงินของตนเองใน App ได้ เพื่อใช้จ่ายเป็นค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่พักหรือค่าซื้อสินค้าท้องถิ่น จากผู้ประกอบการ ร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการฯ
ตั้งแต่วันที่ได้รับสิทธิจนถึงสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 ในทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดตามทะเบียนบ้าน โดยการใช้จ่ายจากเป๋าตัง ช่อง 2 รัฐบาลจะจ่ายเงินคืนให้ (Cash Back) ร้อยละ 15 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน (หรือวงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาท) ซึ่งจะจ่ายคืนเงินให้หลังสิ้นสุดโครงการในเดือนธันวาคม 2562
ทั้งนี้ผู้ที่จะลงทะเบียนใช้สิทธิสามารถตรวจสอบและค้นหาตำแหน่งพิกัดของสถานประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการฯ ที่ได้ปักหมุดไว้ทั่วประเทศได้ทาง App เป๋าตัง และ เว็บไซต์ www.ktb.co.th ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ call center กรมบัญชีกลาง 02-270-6400 กด 7 และติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ชิมช็อปใช้ ได้ทางเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง www.cgd.go.th YouTube และ Facebook กรมบัญชีกลาง
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ธนาคารได้เตรียมความพร้อมแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ “ชิม ช็อป ใช้” ซึ่งเป็นมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศของรัฐบาล ซึ่งธนาคารมั่นใจความพร้อมของระบบในการให้บริการ ซึ่งเป็นการต่อยอดของการวางระบบเดียวกับระบบที่ใช้รองรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีผู้ใช้งานกว่า 14.5 ล้านคน ในทุกตำบลทั่วประเทศ ทำให้ธนาคารมั่นใจว่าระบบที่เตรียมความพร้อมไว้จะสามารถรองรับผู้เข้าร่วมโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” ในครั้งนี้ได้อีก 10 ล้านคน อย่างราบรื่น
แอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” จะเป็นการนำระบบมาต่อยอดในรูปแบบ G Wallet สำหรับประชาชนที่เข้าร่วมโครงการต่างๆของภาครัฐ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโครงการต่างๆของภาครัฐได้สะดวกขึ้น ซึ่งในอนาคตธนาคารจะมีการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆเข้ามาในแอพพลิเคชั่นดังกล่าว เพื่อเป็นการตอบรับต่อนโยบายต่างๆของภาครัฐที่จะมีโครงการต่างๆเข้ามาเพิ่มเติมอีกในอนาคต รวมถึงจะเป็นช่องทางสำหรับการให้บริการของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่จะมีการเพิ่มฟีเจอร์เข้ามาเพิ่มเติมด้วย โดยแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” จะเป็นส่วนเสริมจากแอพพลิเคชั่นที่ลูกค้าธนาคารที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งมีฐานลูกค้าทั้งหมด 1 ล้านราย
ทั้งนี้ธนาคารมองว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยในประเทศให้คึกคักขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ รวมถึงผู้ประกอบการ ร้านค้าต่างๆจะมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยหนุนช่วยกระตุ้นภาพรวมของเศรษฐกิจไทยให้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีให้สามารถเติบโตได้อย่างดี
ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน