เฟดกับฟันด์โฟลว์ (1)

การตัดสินใจของเฟดจะส่งผลต่อฟันด์โฟลว์ในตลาดหุ้นไทยอย่างไร


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

การตัดสินใจของเฟดจะส่งผลต่อฟันด์โฟลว์ในตลาดหุ้นไทยอย่างไร

คำตอบต้องพิจารณาในรายละเอียด

ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดก็เป็นไปตามคาดเพราะการเมืองภายในโดยเฟดมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ลงสู่กรอบ 1.75-2.0% แถมในแถลงการณ์หลังการประชุมยังสะท้อนมุมมองดอกเบี้ยสหรัฐฯในช่วงถัดไปพบว่าเสียงยังแตกไม่เป็นฉันทามติโดยกรรมการ 5 ท่านมองกรอบ 2.0-2.25%, 5 ท่านมอง 1.75-2.0% และ7 ท่านมอง 1.5-1.75% (อาจมีลดในช่วงที่เหลือของปีอีก 1 ครั้ง)

ที่สำคัญเฟดยังมีมุมมองเชิงบวกปรับเพิ่มคาดจีดีพีสหรัฐฯ ปีนี้จาก 2.1% สู่ 2.2% และคงเป้าหมายเงินเฟ้อที่1.8%

แถลงการณ์ประชุมคณะกรรมการนโยบาย FOMC ซึ่งเสร็จสิ้นลงโดยระบุว่าข้อมูลที่ได้รับนับตั้งแต่ที่คณะกรรมการ FOMC ประชุมกันในเดือนก.ค. บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่งและกิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวขึ้นในระดับปานกลาง ทั้งนี้การจ้างงานโดยเฉลี่ยมีความแข็งแกร่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาและอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ ขณะเดียวกันแม้ว่าการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนปรับตัวขึ้นในอัตราที่แข็งแกร่งแต่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของภาคธุรกิจและการส่งออกได้ชะลอตัวลง

คณะกรรมการ FOMC มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการจ้างงานให้เติบโตอย่างเต็มที่และหนุนราคาให้มีเสถียรภาพ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำคณะกรรมการจึงได้ตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลง 0.25% สู่ระดับ 1.75-2.00% โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนมุมมองของคณะกรรมการที่ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาวะตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่งและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวเข้าใกล้ระดับ 2% ซึ่งเป็นระดับเป้าหมายของคณะกรรมการ อย่างไรก็ดีคณะกรรมการมองว่าแนวโน้มดังกล่าวยังคงมีความไม่แน่นอน

การตัดสินใจของเฟดถือเป็นการพบกันครึ่งทางหลังจากที่เฟดต้องรับแรงกดดันจากนายทรัมป์ที่ต้องการให้ลดดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาหนี้สาธารณะที่พุ่งรุนแรงทะลุเพดานในปีนี้

หากยังไม่ลืมกันทรัมป์ถึงขั้นเคยออกทวิตเตอร์ตั้งคำถามว่า ศัตรูหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ ยามนี้ชื่อเจอโรม พาวเวลล์ หรือสี จิ้นผิงกันแน่ (พร้อมกับการปล่อยข่าวลือว่าทำเนียบขาวมีความคิดลดอำนาจ Powell ซึ่งตลาดประเมินว่ามีความเป็นไปได้ต่ำมาก)

การเมืองเรื่องลดแรงกดดันของเฟดในอัตราดอกเบี้ยเป็นที่เข้าใจกันได้เพราะข้อเท็จจริงของโดนัลด์ ทรัมป์กับพวกยังคงเดินหน้าหลอกคนอเมริกันที่เอียงขวาจนหน้ามืดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในยุคของเขาเติบโตดีที่สุดในรอบทศวรรษซึ่งก็ไม่อาจหลอกได้นานเพราะแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตเร็วกว่าที่เคยเป็นจริงแต่ตัวเลขขาดดุลงบประมาณก็เพิ่มขึ้นอีก17% เป็น 779,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมาซึ่งถือว่าเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 2012 ก็มีตัวดัชนีอื่นส่งสัญญาณเลวร้ายมากขึ้น 

ตัวเลขหนี้สินของสหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในเดือนสิงหาคมนี้ 22.39 ล้านล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้นจากเมื่อ เดือนก่อนที่ทำสถิติ 22 ล้านล้านดอลลาร์แซงหน้าตัวเลขจีดีพีที่คาดว่าจะต่ำกว่า 20 ล้านดอลลาร์

ตอนที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งใหม่ ๆ หนี้สินซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ยืมมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณเรื้อรังและดอกเบี้ยที่พอกพูนขึ้นอยู่ที่ราว ๆ 19.95 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหรัฐฯ มีหนี้สาธารณะเทียบเท่ากับจีดีพี

ระดับหนี้สาธารณะที่สูงเกิน 100% ของจีดีพีทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นห่วงโซ่ทำให้เกิดแรงกดดันที่พยายามผลักภาระให้เฟดตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ ระหว่างเขาควาย เพราะด้านหนึ่งถูก ขึงพืด” จำกัดขีดความสามารถในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพราะจะทำให้ต้นทุนการเงินและภาระหนี้รัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีก แต่อีกด้านหนึ่งก็จำต้องสู้กับเงินเฟ้อที่ตั้งเค้ามาจากผลพวงของสงครามการค้าโดยเฉพาะกับจีนในขณะที่ทุนสำรองเงินตราต่ำมาก ๆ ต่ำกว่าไทยด้วยซ้ำ

ปัญหาหนี้รัฐบาลที่สะท้อนการคลังย่ำแย่โยงกับตัวเลขขาดดุลงบประมาณอย่างแยกไม่ออก

(อ่านต่อฉบับหน้า)

Back to top button