เฟดกับฟันด์โฟลว์ (จบ)
ตัวเลขล่าสุดของปีงบประมาณระบุว่าสหรัฐฯ ขาดดุลงบประมาณ 7.79 แสนล้านดอลลาร์ในปีนี้เพิ่มขึ้น 17% จากปีที่แล้วโดยมีสาเหตุจากการที่โดนัลด์ ทรัมป์ประกาศปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสู่ระดับ 21% จากระดับ 35% ก่อนหน้านี้ขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลที่เพิ่มจากปีก่อน 3.0 แสนล้านดอลลาร์ทำให้รายจ่ายพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 ปีแต่รายได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยซึ่งผิดคาดมากจากเดิมที่เชื่อในเหตุกันว่าการลดภาษีจะย้อนกลับมาทำให้รายได้ภาษีเพิ่มขึ้นตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่เน้น “ใช้อุปทานสร้างอุปสงค์” ที่เคยใช้ได้ผลในยุคโรนัลด์ เรแกนเมื่อกว่า 30 ปีก่อน
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
(ต่อจากฉบับที่แล้ว)
ตัวเลขล่าสุดของปีงบประมาณระบุว่าสหรัฐฯ ขาดดุลงบประมาณ 7.79 แสนล้านดอลลาร์ในปีนี้เพิ่มขึ้น 17% จากปีที่แล้วโดยมีสาเหตุจากการที่โดนัลด์ ทรัมป์ประกาศปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสู่ระดับ 21% จากระดับ 35% ก่อนหน้านี้ขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลที่เพิ่มจากปีก่อน 3.0 แสนล้านดอลลาร์ทำให้รายจ่ายพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 ปีแต่รายได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยซึ่งผิดคาดมากจากเดิมที่เชื่อในเหตุกันว่าการลดภาษีจะย้อนกลับมาทำให้รายได้ภาษีเพิ่มขึ้นตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่เน้น “ใช้อุปทานสร้างอุปสงค์” ที่เคยใช้ได้ผลในยุคโรนัลด์ เรแกนเมื่อกว่า 30 ปีก่อน
การปรับลดดอกเบี้ยของเฟด รอบนี้เกิดขึ้นหลังจากธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายติดลบครั้งใหม่ถือเป็นการตอกย้ำว่าเหตุปัจจัยดอกเบี้ยธนาคารต้องต่ำติดพื้นกำลังกลับมาเหมือนทศวรรษก่อน ปัญหาใหญ่ของยุคสมัยปัจจุบันคือการลงทุนที่ต่ำกว่าในอดีตทำให้บรรดาธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกเผชิญหน้ากับปัญหาการปล่อยสินเชื่อไม่ออกและคุณภาพสินเชื่อที่ลดลงจนต้องหาทางลดดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝากต่อเนื่องเป็นแค่ส่วนหนึ่งของภาวะ
“ลิงแก้แห” ทางเศรษฐกิจโลกที่เรื้อรังนับตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์ ค.ศ. 2008 เมื่อ 12 ปีก่อนได้เกิดภาวะที่กดดันเศรษฐกิจโลกด้วยปัจจัยหลายด้านพร้อมกันดังนี้
– ภาวะผลผลิตอุตสาหกรรมล้นเกินอุปสงค์ของตลาดตัวอย่างเช่นสิ่งทอที่ท่วมโลกมากถึงขนาดว่าหากปิดโรงงานทอผ้าทั้งโลกจะมีผ้าเหลือใช้นานกว่า 10 ปี หรือเหล็กที่ผลิตล้นเกินความต้องการมากกว่า 150 ล้านตัน/ปี ปัจจัยนี้ส่งผลพวงให้ราคาสินค้าวัตถุดิบหรือโภคภัณฑ์ร่วงลงต่อเนื่องมาถึงจุดปะทุเมื่อปีที่ผ่านมาจากการพังทลายของราคาน้ำมันดิบ
– ความพยายามกอบกู้วิกฤตทางเศรษฐกิจด้วยการทุ่มมาตรการทางการคลังจนยอมขาดดุลงบประมาณเรื้อรังตามแนวทางเคนส์ทำให้หนี้สาธารณะของชาติสำคัญทั่วโลกมาถึงขีดอันตรายใช้มาตรการทางการคลังต่อไม่ได้เพราะรายได้จากการส่งออกลดลงต่อเนื่องทำให้โมเดลเศรษฐกิจที่พึ่งการลงทุนจากต่างประเทศและการส่งออกใช้การได้น้อยลง
– ทางเลือกสุดท้ายของการซื้อเวลารอเศรษฐกิจฟื้นตัวตามธรรมชาติคือใช้มาตรการทางการเงินอย่างจริงจังผลพวงตามมาคือการพิมพ์ธนบัตรจำนวนมหาศาลมาซื้อหนี้เอกชนผ่านมาตรการ QE ที่ส่งผลข้างเคียง 3 ประการตามมานั่นคือสงครามลดค่าเงินอย่างไม่เป็นทางการสงครามลดดอกเบี้ยเงินฝากอย่างไม่เป็นทางการและปริมาณเงินส่วนเกินที่ท่วมตลาดจนกลายเป็นทุนเก็งกำไรระหว่างประเทศโดยไม่ถูกดูดซับเข้ามาในภาคการผลิตและบริการที่แท้จริง
ทุนที่ล้นเกินจากการที่ปริมาณเงินซึ่งชาติหลักของโลก (สหรัฐฯ ยูโรโซน และ ญี่ปุ่น) ได้พิมพ์ออกมาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจนท่วมตลาดและทำท่ามีแนวโน้มว่าจะเกินความสามารถที่ภาคการผลิตและบริการจะรองรับหรือดูดซับไหว ไม่สามารถแปรสภาพเป็นการผลิตซ้ำใหม่จนเกิดการจ้างงานหรือกำลังซื้อใหม่ให้เศรษฐกิจเป็นขาขึ้นยั่งยืนแต่กลับจมปลักกับภาวะเงินเฟ้อติดลบหรือเงินฝืดเรื้อรัง
ภาวะนี้กำลังกลับมาแถมพ่วงด้วยปัจจัยลบอีก 2 ด้านที่เลวร้ายพอกันคือสงครามการค้าและการพุ่งขึ้นของหนี้สาธารณะของชาติต่าง ๆ เข้าข่าย “ดินพอกหางหมู”
สถานการณ์ใหม่นี้คงยากจะบอกว่าเมื่อเฟดลดดอกเบี้ยฟันด์โฟลว์จะไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทยอีกระลอก