12 หุ้นเด่นรับอานิสงส์กินเจ-เม็ดเงินสะพัดเฉียด 5 พันลบ.

เปิดโผ 12 หุ้นเด่น! รับอานิสงส์เทศกาลกินเจ-โกยเม็ดเงินสะพัดเฉียด 5 พันลบ.


ใกล้เข้าสู่เทศกาลกินเจปี 2562 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 29 กันยายน-7 ตุลาคม 2562 โดยคาดว่าบรรยากาศเทศกาลปีนี้จะยังได้รับความสนใจจากผู้บริโภค ทั้งกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนที่สืบทอดเทศกาลต่อจากบรรพบุรุษ รวมถึงคนทั่วไป ซึ่งให้ความสนใจเข้าร่วมเทศกาลโดยเล็งเห็นถึงประโยชน์ทางด้านสุขภาพ

ประกอบกับความสะดวกในการหาซื้ออาหารเจที่หาซื้อได้ง่ายกว่าอดีต จากการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ในตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการดัดแปลงอาหารเจให้มีความหลากหลายน่ารับประทาน ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้กำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีส่วนสำคัญที่หนุนให้เม็ดเงินค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มเจ ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตโดยต่อเนื่อง

โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เทศกาลกินเจปี 2562 คาดว่าเม็ดเงินค่าใช้จ่ายตลอดช่วงเทศกาลกินเจปี 2562 ของคนกรุงเทพฯจะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 4,760 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ดังนั้นเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศดังกล่าวทีมข่าว ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการรวบหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากเทศกาลกินเจมานำเสนอ โดยครั้งนี้เน้นไปในกลุ่มหุ้นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มบริการ  นำโดย CPF,MK,ZEN,TVO, LST, KASET ,TMILL,MALEE, TIPCO,TACC,CPALL และ MAKRO

สำหรับกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม อาทิ CPF,MK,ZEN ซึ่งคาดว่าจะได้ประโยชน์จากการจัดทำเมนูอาหารเจเพื่อจัดจำหน่ายตามสาขาต่างๆในช่วงเทศกาลกินเจ ส่วน TVO, LST, KASET ,TMILL จะดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์ม น้ำมันพืช และจำหน่ายแป้งสาลี แป้งขนมปัง แป้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แป้งเอนกประสงค์ ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการประกอบอาหารช่วงเทศกาลกินเจ

สำหรับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ประกอบธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารที่จำแนกธุรกิจหลักตามลักษณะของผลิตภัณฑ์ ออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) ธุรกิจอาหารสัตว์ (Feed) 2) ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ (Farm) 3) ธุรกิจอาหาร (Food) ได้แก่ การผลิตเนื้อสัตว์แปรรูปกึ่งปรุงสุกและปรุงสุก และการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปหรืออาหารพร้อมรับประทาน

รวมถึงกิจการค้าปลีกอาหารและร้านอาหารซึ่งเป็นธุรกิจร้าน ซีพี เฟรชมาร์ทได้มุ่งนำเสนอเมนูอาหารเจเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าทุกท่านในช่วงเทศกาลเจ มีเมนูหลากหลาย ทั้งข้าวอบห้าเซียน, ผัดบะหมี่เจ , ข้าวกระเพราเจ และอีกหลากหลายเมนูกับแบรนด์ซีพี วุ้นเส้นผัดทรงเครื่องเจ,สปาเก็ตตี้ผัดขี้เมาเจ,บะหมี่ผัดซอสกระเพราปลาเค็มเจ รวมถึงอีกหลายเมนูใหม่ที่น่าสนใจ เช่น ซุปเยื่อไผ่น้ำแดงเจ ,ก๋วยเตี๋ยวราดหน้าเซี่ยงไฮ้เจ ข้าวแกงเขียวหวานเจ, ผัดไทวุ้นเส้น และผลิตภัณฑ์อื่นๆ กว่า  100 รายการ

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำหุ้น CPF ได้รับอานิสงส์ราคาหมูในจีนที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและทำจุดสูงสุดกลางปี 2563 ซึ่งจะช่วยหนุนกำไรในช่วงปี 2562-63 พร้อมกำหนดราคาเป้าหมาย CPF ที่ระดับ 32 บาท/หุ้น

 

ด้านบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ M ประกอบธุรกิจร้านอาหาร “เอ็ม เค สุกี้” ร้านอาหารญี่ปุ่น “ยาโยอิ” ซึ่งได้รับสิทธิแฟรนไชส์จากประเทศญี่ปุ่น รวมถึงร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์อื่นๆ อีก 2 แบรนด์ ได้แก่ “ฮากาตะ” และ “มิยาซากิ” ร้านอาหารไทย “ณ สยาม” และ “เลอสยาม” ร้านกาแฟ/เบเกอรี่ “เลอ เพอทิท”

โดยธุรกิจอาหาร “เอ็ม เค สุกี้” ได้ทำโปรโมรชั่นน้ำซุปสุกี้เจ หรือน้ำซุปสุกี้เจเข้มข้น และอาหารจานเดียว อาทิ วุ้นเส้นต้มยำเจ,สุกี้น้ำ / แห้งเจ, บะหมี่ผัก / ข้าวหน้าเต้าหู้กะเพราเจ และเต้าหู้กะเพราเจ ส่วนของทานเล่น อาทิ ซาลาเปาเจ,ปอเปี๊ยะทอดเจ เป็นต้น

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ว่า M มีมุมมองที่เป็น slightly positive sentiment ต่อแผนการลงทุนในกิจการร้านอาหารแหลมเจริญ ซีฟู้ดของ M อย่างไรก็ตามหากอิงตามมูลค่าที่ M ลงทุนซื้อแหลมเจริญที่ 2,060 ล้านบาทเทียบต่อสาขาของแหลมเจริญพบว่าอยู่ที่ราว 127 ล้านบาทต่อสาขา เมื่อเทียบกับ market cap/ store ของร้าน MK ปัจจุบันที่ 120 ล้านบาท ถือว่าการซื้อแหลมเจริญสูงกว่ามูลค่าตลาดของ MK

ดังนั้นจะต้องสอบถามข้อมูลยอดขายและความสามารถในการทำกำไรของแหลมเจริญจากทาง M อีกครั้ง เพื่อประเมินว่าผลกำไรที่ได้จากแหลมเจริญจะสามารถชดเชยดอกเบี้ยรับที่จะสูญเสียไปประมาณปีละ 150 – 160 ล้านบาทได้หรือไม่

ทั้งนี้ในเบื้องต้นยังคงคำแนะนำ Neutral สำหรับ M ที่ TP20F 85.00 บาท/หุ้น เนื่องจากต้องรอข้อมูลที่ชัดเจนเรื่องดีลจาก M เพื่อประเมินมูลค่า ขณะที่ในระยะสั้นเรายังคงมีความกังวลในเรื่องของมุมมองที่แย่ลงต่อแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปี 2562 ของผู้บริหาร, การปรับแผนการดำเนินงานปี 62 ให้ aggressive น้อยลงของบริษัทฯ และประเด็นเรื่อง SSSG ที่คาดจะยังทรงตัวต่ำต่อเนื่องตลอดปีทั้ง MK และ Yayoi ตามผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว

 

ส่วนริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)  หรือ ZEN ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยมีบริษัทแกน คือ บริษัท เซ็นเรสเตอร์รองโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นและไทยภายใต้แบรนด์ “ZEN” “Musha” และ “เขียง”

โดยในส่วนของแบรนด์ “เขียง” ได้จัดทำเมนูอาหารรับเทศกาลกินเจและมีโปรโมชั่นเมนูแนะนำ 1 แถม 1 อาทิ ข้าวกะเพราเห็ด (เจ) , ข้าวราดเห็ดผัดซอสเห็ดหอม (เจ) ,น้ำข้าวโพด โปรโมชั่นวันที่ 25 กันยายน – 7 ตุลาคม 62 เฉพาะ Grabfood ,Get คาดว่าจะช่วยหนุนยอดขายอีกทาง

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า  ZEN (BUY, TP19) แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 3/62 คาดยังไม่เด่นอะไร จาก SSSG ที่คาดลดลง 7% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามทิศทางอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม คาดกำไรไตรมาส 4/62 จะกลับสู่ช่วงตื่นเต้นอีกครั้ง ทั้งเป็น high season และเป็นช่วงเปิดสาขามากสุด (ครึ่งปีแรก +30 แห่ง,ไตรมาส 3/62 คาด 39,ไตรมาส 4/62 คาด 50) รวมทั้งมีร้านแฟรนไชส์เปิดมากสุด (รับรู้รายได้ช่วงแรกสูง)

 

ด้านบริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TVO ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันถั่วเหลือง(ตราองุ่น) และวัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้แก่ กากถั่วเหลือง, ดีฮัล ซอยมีล, ฟูลแฟตซอย, ดีฮัล ฟูลแฟตซอย รวมทั้ง เลซิติน น้ำมันทานตะวัน และกากทานตะวัน

บล.เคทีบี (ประเทศไทย)  ระบุว่า TVO มีมุมมองเป็นบวกเล็กน้อยจากข่าวดังกล่าว คาดว่าการเข้าสู่ช่วงกินเจจะช่วยหนุนยอดขายชดเชยผลกระทบจากน้ำท่วมในภาคอีสานได้และคาดว่าหลังน้ำลดความต้องการก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ เราคาดว่าทั้งปีในด้านของปริมาณขายในส่วนของน้ำมันบริษัทจะเป็นไปตามที่คาดไว้เติบโต 4 %

ยังคงประมาณการกำไรสุทธิในปี 62 อยู่ที่ 1.47 พันล้านบาท ลดลง -21% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายที่ลดลง เนื่องจากอุปทานกากถั่วเหลืองที่ล้นตลาด อย่างไรก็ตาม TVO มีโอกาสได้ประโยชน์จากการเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งจะเริ่มเดินได้ในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. อีก 8% มาอยู่ที่ 7,000 ตันต่อวัน ยังคงคำแนะนำ “ถือ” TVO  ราคาเป้าหมายที่ 26.00 บาท

 

สำหรับบริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ LST ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์ม น้ำมันพืช ไขมันพืชผสม และเนยเทียม ผักและผลไม้แช่แข็งหรือบรรจุกระป๋อง น้ำผลไม้ กาแฟ เครื่องดื่มต่างๆ และซอสปรุงรส โดยสินค้าที่เป็นที่รู้จักกันดีคือน้ำมันพืชตราหยก

นางสาวอัญชลี สืบจันทศิริ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ล่ำสูง (ประเทศไทย) หรือ LST  เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมงบลงทุน 50 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายไลน์การผลิตวัตถุดิบเบเกอรี่เพิ่มขึ้น โดยจะปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อให้สามารถผลิตวัตถุดิบเบเกอรี่อื่น ๆ เพิ่มขึ้น และทำให้มีไลน์ของสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่ใช้บริการรับจ้างผลิตของบริษัท

พร้อมกับตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากสินค้าประเภทที่มีมูลค่าเพิ่ม (Value added) เป็น 40% ภายในปี 66 จากปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ที่ 15% และสัดส่วนรายได้จากสินค้าประเภท Commodity จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 60% จากปัจจุบันที่ 85% เพราะต้องการเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้น ซึ่งสินค้าประเภท Value added ให้มาร์จิ้นที่สูงกว่าสินค้าประเภท Commodity 10-20% ทำให้จะสามารถช่วยหนุนกำไรของบริษัทได้ในอนาคต

 

ส่วนบริษัท ที เอส ฟลาวมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TMILL ผลิตและจำหน่ายแป้งสาลี ได้แก่ แป้งบะหมี่สด แป้งขนมปัง แป้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แป้งบิสกิต แป้งเอนกประสงค์ แป้งอาหารสัตว์ เป็นต้น

นางแววตา กุลโชตธาดา รองผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและบัญชี บมจ. ที เอส ฟลาวมิลล์ (TMILL) กล่าวว่า ในไตรมาส 3 ธุรกิจของบริษัทฯ จะยังคงเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ภายใต้แผนการขยายกำลังการผลิตที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดแป้งสาลีที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับการขยายฐานลูกค้าในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากขึ้น

ด้านบริษัท ไทยฮา จำกัด (มหาชน) หรือ KASET ผลิตสินค้าทางการเกษตร และเกษตรแปรรูปเช่น ข้าว วุ้นเส้น โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป และวุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูป เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก ภายใต้แบรนด์ “ตราเกษตร”ที่คุ้นเคยเป็นอย่างดี

 

ส่วน MALEE, TIPCO,TACC อยู่ในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเช่นกัน โดยจะมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และน้ำผักผลไม้ อาทิ โดยสินค้าประเภทนี้จะได้รับความนิยมและขายดีในช่วงเทศกาลกินเจเป็นอย่างมาก

โดยบริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ MALEE ผลิตและจำหน่ายผลไม้กระป๋องและน้ำผลไม้ ภายใต้เครื่องหมายการค้า มาลี โดยมีจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ และริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPCO ผลิตและจำหน่ายสับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรดเข้มข้น น้ำผลไม้รวมและเครื่องดื่มบรรจุพร้อมดื่ม เช่น น้ำสมุนไพรและน้ำแร่ธรรมชาติพร้อมดื่ม

ส่วนบริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TACC ประกอบธุรกิจจัดหา ผลิต และจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทชาและกาแฟ และสินค้าไลฟสไตล์ อาทิ  เครื่องดื่มในโถกดในร้าน 7-Eleven, เครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผงที่จัดจำหน่ายให้กับร้าน All Cafe ในร้าน 7-Eleven,ชาเขียวพร้อมดื่มตรา “เชนย่า” (Zenya) คาดจะเป็นหุ้นอีกตัวที่ได้ประโยชน์

บล. ฟิลลิป ระบุว่า TACC แนะนำ “ซื้อ” ราคาพื้นฐาน 5.50 บ.: ทางฝ่ายปรับกำไรทั้งปีขึ้นเป็น 138 ลบ. +102.2%y-y สำหรับภาษีความหวานรอบใหม่ 1 ต.ค.นี้ คาดไม่กระทบกับบริษัทเนื่องจากมีการปรับสูตรเรียบร้อยแล้ว ราคาพื้นฐานที่ 5.50 บ. คงคำแนะนำ “ซื้อ”

 

ด้านกลุ่มบริการ อาทิ CPALL และ MAKRO ได้ประโยชน์โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อจะมีอาหารหลากหลาย และตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกกลุ่ม ขณะที่ห้างสรรพสินค้าก็ได้ประโยชน์การจับจ่ายสินค้า และการจัดโปรโมชั่นรับเทศกาลเจตรงนี้ก็น่าจะหนุนยอดขายได้อย่างมาก 

ด้านบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า 7-Eleven และให้สิทธิแก่ผู้ค้าปลีกรายอื่นในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และลงทุนในธุรกิจสนับสนุนธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อ อาทิ ผลิตและจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปและเบเกอรี่

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า CPALL แนะนำซื้อราคาเป้าหมายปี 2020 ที่ 100 บาท คาดกำไรไตรมาส 3/62 เติบโตได้ทั้งเทียบไตรมาสก่อนหน้า และ เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งที่ไตรมาส3/62 เป็น low season (สวนทางค้าปลีกอื่นที่กำไรลด Q-Q) เพราะเป็น high season ของ MAKRO บวกกับ Stamp promotion ช่วยกระตุ้นยอดขาย

ส่วนบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ผู้ดำเนินธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าระบบสมาชิกแบบชำระเงินสดและบริการตนเองภายใต้ชื่อ แม็คโคร ซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ยังประกอบธุรกิจนำเข้า, ส่งออก และจำหน่ายสินค้าแช่แข็งและแช่เย็น

 

ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button