บริษัทกูมี

ขอดัดแปลงคำพูดเรื่องเพลงประเทศกูมีอันโด่งดังมาใช้กับหุ้นบริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL หลังจากอ่านข่าวบริษัทนี้เพิ่มทุน 8.05 พันล้านหุ้น ขายผู้ถือหุ้นเดิม 4:1 ที่ 0.05 บ./หุ้น ด้วยข้ออ้างแสนง่ายดายว่าระดมทุนใช้ชำระหนี้-เงินทุนหมุนเวียน


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

ขอดัดแปลงคำพูดเรื่องเพลงประเทศกูมีอันโด่งดังมาใช้กับหุ้นบริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL หลังจากอ่านข่าวบริษัทนี้เพิ่มทุน 8.05 พันล้านหุ้น ขายผู้ถือหุ้นเดิม 4:1 ที่ 0.05 บ./หุ้น ด้วยข้ออ้างแสนง่ายดายว่าระดมทุนใช้ชำระหนี้-เงินทุนหมุนเวียน

เหตุผลเพราะอนาคตของบริษัทนี้หมิ่นเหม่เหลือเกิน

หรือง่าย ๆ คือจะกลายเป็นหุ้นที่มีราคาไม่เกิน 0.01 บาท ง่ายเหลือเกินเพราะว่าผู้บริหารบริษัททั้งตัวจริงและหุ่นเชิดมีวิธีการทำลายมูลค่ากิจการได้ดีเหลือเกินจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม

โดยเฉพาะนายธีรวุทธิ์ ปางวิรุฬห์รักข์ อดีตผู้บริหารบริษัทฉาวปิกนิค คอร์ปอเรชั่น หรือ PICNI ที่เป็นผู้ขับเคลื่อนพาบริษัทลง หลุมดำทางการเงิน คนสำคัญมาตั้งแต่ต้น

ทุกครั้งที่มีการแถลงข่าวคำมั่นสัญญาว่าบริษัทจะเริ่มทำกำไรแล้วทั้งจากวิศวกรรมการเงินและผลงานแต่ท้ายสุดผลงานที่ออกมาทุกไตรมาสคือขาดทุนป่นปี้จนล่าสุดมีขาดทุนสะสมมากถึง 1.8 พันล้านบาทเศษ มีอาการชักหน้าไม่ถึงหลังดีที่ยังไม่ถึงกับส่วนผู้ถือหุ้นติดลบเพราะการเพิ่มทุนครั้งใหญ่เมื่อต้นปีก่อนยังพอมีเหลืออยู่อีกประมาณ 560 ล้านบาทแต่เทียบกับยอดหนี้อีก 5 เท่า จะเรียกว่าปลอดภัยคงไม่ได้

ราคาหุ้นล่าสุดที่ 0.04 บาท ยังไงก็ยังถือว่าแพงเกินเมื่อพิจารณาว่าอดีตที่ผ่านมา 5 ปีมีขาดทุนตลอดที่สำคัญอนาคตที่คาดว่าจะกำไรก็ยังล่องลอยในสายลมแถมยังมีวอร์แรนต์อีก 2 ตัวรอแปลงสิทธิด้วยจำนวนหน่วย 2 เท่า ของทุนจดทะเบียนเดิม

ล่าสุดการเพิ่มทุนอีก 25% เพื่อขายต่ำกว่าพาร์  ก็เป็นการดิ้นหนีตายธรรมดา

ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อ 24 ก.ย.อนุมัติให้นำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2562 ในวันที่ 5 พ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3.18 พันล้านบาท จากเดิม 2.58 พันล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่ 8.05 พันล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 0.075 บาท โดยจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน 4 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 0.05 บาท/หุ้น

วัตถุประสงค์การเพิ่มทุนอีกกว่า 400 ล้านบาท ก็ง่ายมากอ้างว่าบริษัทจะนำเงินเพื่อชำระหนี้ประมาณ 200 ล้านบาท และลงทุนในธุรกิจอื่นตลอดจนใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจหลักของบริษัทประมาณ 202 ล้านบาท

นายปรีชา นันท์นฤมิต ประธานกรรมการ ของ EFORL เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทมีเป้าหมายรายได้เติบโต 15% จากปีก่อนจากการพัฒนาประสิทธิภาพในการขายและขยายตลาดในส่วนของฐานลูกค้าเดิมและกลุ่มลูกค้าใหม่รวมทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์เดิมและผลิตภัณฑ์ใหม่

เป้าหมายดังกล่าวน่าหัวร่อเพราะ 5 ปีมานี้ยอดรายได้ต่อปีบริษัทลดลงต่อเนื่องจากระดับเคยสูงกว่า 4.5 พันล้านบาท จนล่าสุดครึ่งแรกปีนี้รายได้ต่ำกว่า 1.0 พันล้านบาท

การทำธุรกิจที่ไร้ทิศทางและขายฝันเลื่อนลอยคือปัญหา EFORL ที่แก้ไม่เคยตกและไม่เคยแก้ไขได้

รากเหง้าความเป็นมาของ EFORL บริษัทขายเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทำ แบ็กดอร์ บริษัท แอปโซลูท อิมแพคจำกัด (มหาชน) หรือ AIM ที่มีปัญหาการเงินเมื่อปี 2556 พร้อมโอนธุรกิจขายเครื่องมือแพทย์ของเดิมมาเป็นทรัพย์สินพร้อมแผนโตทางลัดเข้าซื้อหุ้นของบริษัทวุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด (WCIG) ที่แม้จะเริ่มต้นด้วยงบการเงินที่ดีแต่ก็มีหนี้สินตกค้างประมาณ 1 พันล้านบาทจากการขยายตัวธุรกิจเกินขนาด

การเข้าซื้อวุฒิศักดิ์ที่มีขนาดธุรกิจใหญ่กว่าของ EFORL ที่เข้าข่าย ปลาเล็กกินปลาใหญ่ ในยามนั้นมูลค่า 3.5 พันล้านบาท ซึ่งทาง  EFORL เลือกที่จะใช้สูตรผสมระหว่างใช้เงินสดที่มีบางส่วนและกู้เงินบางส่วนโดย 2 เจ้าหนี้รายใหญ่ธนาคารกสิกรไทย และ ธนาคาร CIMBT (ซึ่งมีบริษัทลูกคือ บล.กสิกรไทย และบล. CIMBS เป็นที่ปรึกษาการเงินของดีล) พร้อมปล่อยกู้ร่วม 2,000 ล้านบาท

บทสรุปของดีลคือ EFORL ตั้งบริษัทลูกขึ้นมาชื่อว่าบริษัท ดับบลิวซีไอโฮลดิ้ง จำกัด หรือ WCIH จำนวนหุ้นทั้งหมด 100 ล้านหุ้น ราคาพาร์หุ้นละ 10 บาท รวมทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท แล้วให้ WCIH ไปถือหุ้น 60% ใน WCIG

จากนั้น EFORL ก็จะให้ WCIG กู้ยืมเงิน 1 พันล้านบาท เปลี่ยนการกู้ยืมภายนอกมาเป็นยืมกันเอง

เมื่อดีลจบก็เดินหน้าทำธุรกิจทำให้รายได้ของ EFORL พุ่งชัดเจนจากรายได้สิ้นปี 2556 ที่จิบจ้อยแค่ 170 ล้านบาท กระโดดมาเป็น 1,490.21 ล้านบาทสิ้นปี 2557 และครึ่งแรกของปี 2558 นี้ก็พุ่งขึ้นอีกเป็น 2,299.73 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิที่เคยต้วมเตี้ยม 26.46 ล้านบาท ในสิ้นปี 2556 มาเป็น  240.73 ล้านบาทในปี 2557 และครึ่งแรกของปีนี้ 123.31 ล้านบาท

รายการเชียร์แขกดันราคาเกิดขึ้นฮือฮามากจนลืมไปว่าโดยพื้นฐานแล้วแย่ลงเพราะว่ากำไรที่เพิ่มขึ้นพุ่งน้อยกว่ารายได้อัตรากำไรสุทธิต่ำลงเพราะแบกภาระหนี้จากธุรกรรม LBO ซึ่งกดดันให้อัตรากำไรสุทธิ EFORL ถดถอยลง

การแก้ปัญหากำไรปกติโตช้ากว่ารายได้จึงต้องทำ 2 อย่างพร้อมกันซึ่งล้วนเป็นทางลัดคือ 1) ลดหนี้ 2) สร้างกำไรด้วยวิธีพิเศษเพราะถ้าไม่ทำมีหวังราคาหุ้นของ EFORL คงต้องย่ำอยู่แถว 1.00 บาทหรือต่ำกว่าอีกนานหลายปี

วิธีพิเศษที่ว่าคือการเก็บเกี่ยวเร็วกว่ากำหนด (Early harvest) ซึ่งทำโดยขายเงินลงทุนซึ่งมีให้เลือกหลายทางนำไปสู่การขายหุ้นที่ EFORL ถือใน WCIH ออกไป 2 ครั้ง 9 ล้านหุ้น หรือ 9% ที่ราคาขาย 55 บาทต่อหุ้น ส่วนหนึ่งเอาคืนหนี้แต่อีกส่วนจะให้ WCIH เพิ่มทุนอีก 16 ล้านหุ้นแล้ว EFORL จะซื้อหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมดในราคาหุ้นละ 50 บาท สรุปแล้วEFORL ก็ยังถือหุ้นใน WCIH ในสัดส่วน 92% มากกว่าหลังขายหุ้นออกด้วยซ้ำ

การขาย 9 ล้านหุ้นทำให้ EFORL บันทึกในงบกำไรขาดทุนสิ้นปีว่าขายเงินลงทุนได้กำไรหุ้นละ 30 บาท รวมแล้วกำไร 270 ล้านบาท เป็นการเสกกำไรทันตาเห็นกำไรต่อหุ้นและเงินปันผลของ EFORL ปีนี้กระฉูดแน่นอน

ส่วนเงินที่เอามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนใหม่ของ WCIH จะไม่บันทึกในงบกำไรขาดทุนแต่จะบันทึกในงบดุลในฐานะเงินลงทุนใหม่แทนซึ่งทำให้มาร์เก็ตแคป และบุ๊กแวลู ของ WCIH เพิ่มขึ้นเพราะขายหุ้นเพิ่มทุนมีส่วนเหลื่อมมูลค่าหุ้นสูงกว่าพาร์

บุ๊กแวลูที่เพิ่มขึ้นของ WCIH เพียงแค่หมุนเงินจากกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวาหลอกแมงเม่าติดกับช่วงสั้น ๆ ก่อนที่แผลศัลยกรรมจะออกอาการเน่าเฟะ

WCIG ที่เคยหมายมั่นจะเป็น นางสาวไทย กลายเป็น แรมใจ ผลประกอบการย่ำแย่แถมมีเรื่องฉาวออกตั๋วแลกเงินหรือตั๋วบี/อีหลายฉบับวงเงินหลายร้อยล้านบาท แต่ผิดนัดชำระหนี้จนถูกฟ้องและการขายสิทธิแฟรนไชส์วุฒิศักดิ์คลินิก ยังมีปัญหาความไม่โปร่งใสจนทำให้กรรมการบริษัทวุฒิศักดิ์คลินิก 4 คนถูกฟ้องข้อหายักยอกทรัพย์

เรื่องเลวร้ายทำให้ผลประกอบการ EFORL กลับทรุดขาดทุนสุทธิกว่า 614 ล้านบาท ในปี 2559 และส่วนทุนติดลบสิ้นปี 2560 จนต้องทำการเพิ่มทุนครั้งใหญ่ในปี 2561 โดยได้จัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตรา 3 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่เสนอขายหุ้นละ 14 สตางค์รวมทั้งแจกใบสำคัญแสดงสิทธิจองซื้อหุ้นหรือวอร์แรนต์พ่วง 2 อย่างคือ W3 และ W4

ผู้ถือหุ้นที่เทเงินเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนทุกคนเสียหายถ้วนหน้าเพราะหลังจากชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนแล้วราคาหุ้นรูดลงตลอด

ไม่เคยมีข่าวออกมาว่าปัญหาที่ฉุดรั้ง EFORL ได้รับการแก้ไขแค่ไหนจนกระทั่งมติบอร์ดให้เพิ่มทุนล่าสุด

อนาคตของบริษัทอย่างนี้นักลงทุนที่ติดหุ้นมี 2 ทางให้เลือกคือทำใจกับยอมจ่ายค่าโง่เพิ่มเข้าไป

เลือกทางไหนก็หายนะทั้งสิ้นสำหรับหุ้นบริษัทกูมีเช่นนี้

Back to top button