นับถอยหลังแต่ไม่มีทางลงทายท้าวิชามาร

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มคุณสมบัติต้องห้ามผู้สมัคร ส.ส. จากเดิมที่ห้ามผู้เคยต้องคำพิพากษาว่าทุจริตประพฤติมิชอบ เป็นห้ามผู้ถูกถอดถอนในความผิดฐานเดียวกันด้วย


คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มคุณสมบัติต้องห้ามผู้สมัคร ส.ส. จากเดิมที่ห้ามผู้เคยต้องคำพิพากษาว่าทุจริตประพฤติมิชอบ เป็นห้ามผู้ถูกถอดถอนในความผิดฐานเดียวกันด้วย

ศาสตราจารย์นิติศาสตร์ทั่วโลก ฟังแล้วคงส่ายหัว สมเพชการยก Impeachment ซึ่งเป็นกระบวนการทางการเมือง ขึ้นมาเทียบเท่ากระบวนการยุติธรรม

Impeachment เป็นกระบวนการที่รัฐสภาจากเลือกตั้งขับไล่ถอดถอนรัฐบาลจากเลือกตั้ง ถามว่ายุติธรรมไหม ไม่หรอก มันคือคะแนนเสียงทางการเมือง แต่มัน “ชอบธรรม” เพราะมาจากเลือกตั้งด้วยกัน มีแต่ประเทศหลังเขานี่แหละหยิบเอามาใช้กับวุฒิสภาจากลากตั้งแล้วยังสถาปนาอำนาจลงโทษราวกับเป็นศาลยุติธรรม

ถ้ามาตรานี้ใช้กับยิ่งลักษณ์ก็ยิ่งบัดซบไปใหญ่เพราะเธอถูกถอดถอนด้วยสภาที่มาจากคณะรัฐประหารแต่งตั้งล้วนๆ

ในภาพรวม ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งจะกลับเข้าสภาปฏิรูปอีกครั้งต้นเดือนกันยายน แม้พยายามแก้ไขเอาใจสังคม ลดเสียงวิจารณ์ ใครค้านก็ถอยหางจุก แต่โครงสร้างยังเหมือนเดิมคือไม่ตอบโจทย์ความขัดแย้งสังคมไทย ซ้ำจะทำให้ฆ่ากันตายยิ่งขึ้นไปอีก เพราะไม่ยอมแก้ปมสำคัญ คือการวางเงื่อนไขผูกมัดไว้จนแก้รัฐธรรมนูญแทบไม่ได้เลย “รัฐธรรมนูญข้าใครอย่าแตะ” ทั้งที่ไม่มีความชอบธรรมแม้แต่น้อย

อย่าลืมว่ารอบแรก เครดิตศาสตราจารย์ปื๊ดและคณะก็แทบจะหมดอยู่แล้ว รอบสองนี้ถ้าโดนถล่มอีกทีก็เข็นไม่ขึ้น

รัฐธรรมนูญคือ “ทางลง” ของรัฐประหาร ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน รัฐประหารก็ต้องอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ภายใต้แรงกดดัน

ณ วันนี้ รัฐบาลคสช.กำลังเผชิญมรสุมรอบด้าน ฟังน้ำเสียงท่านผู้นำ “อัศวินขี่ม้าขาเป๋” บางครั้งเหมือนท้อแท้แต่ไม่รู้จะถอยอย่างไร ไม่รู้จะไปทางไหน มีแต่ต้องกัดฟันสู้ต่อ

คิดแล้วขำว่ามองย้อนไปไม่ถึง 2 เดือน คสช.ยังมาดมั่นอยู่เลย กระทั่งแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ยุบ สปช.ตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูป ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็ไม่แยแส ยุบ กมธ.ตั้งคณะกรรมการยกร่างใหม่อีก 6 เดือน

แต่อยู่ๆ ปัญหาต่างๆ ก็ประดังขึ้น โดยเฉพาะหลังจากถูก 14 นักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ “เจาะยาง” คสช.แพ้กระแสจนศาลทหารสั่งยกคำร้องขอฝากขัง อะไรๆ ก็ดูไม่เข้าทางไปหมด อยู่ๆ ก็มีกรณีอุยกูร์ ซึ่งกองทัพสะดุดขาตัวเอง สุดท้ายเรือดำน้ำก็ต้องถอยไปตั้งลำใหม่

ภัยแล้ง หุ้นจีนตก ทำให้ต้องประเมินตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ หม่อมอุ๋ยเตือนไม่ต้องกู้เงินลงทุนอีก 3 ปี สมหมาย ภาษี บอกครึ่งปีหลังจะแย่กว่านี้ (ทั้ง 2 คนเป็นเป้าปรับ ครม.พอดี-ฮา) ขณะที่ภัยแล้งก็ยังตามมาด้วยความไม่พอใจของชาวนาที่ถูกปรับทัศนคติห้ามสูบน้ำ

ท่านนายกฯ ยืนกรานไม่ปรับ ครม.แต่สื่อไม่เชื่อ ยังมีข่าวทุกวัน ในทางการเมือง ปรับ ครม.คือ “นับถอยหลัง” คือการยอมรับว่ารัฐบาลทำงานแย่ต้องยกเครื่องใหม่ นี่ไม่ว่ารัฐบาลจากเลือกตั้งหรือรัฐประหาร แต่อำนาจรัฐประหารเป็นอำนาจที่ปรับตัวได้ลำบากกว่า เพราะธรรมชาติของอำนาจนี้จะมีแรงกระเพื่อมไม่ได้ ไม่ว่าปรับ ครม.หรือย้ายทหาร จึงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นประเด็นอ่อนไหว

การเมืองเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ต้องมี “ขาลง” คะแนนนิยมตกต่อให้รัฐบาลทหารที่มีอำนาจล้นหลามห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าถึงขาลงบางทียิ่งห้ามยิ่งแย่ด้วยซ้ำ

ขาลงของรัฐบาลเลือกตั้งมีทางออกด้วยยุบสภาลาออก แต่ขาลงของรัฐประหารนี่สิ ถ้าไม่สามารถไปสู่รัฐธรรมนูญ จะเกิดอะไรขึ้น

 

                                                                                                                                ใบตองแห้ง

Back to top button