SVI กับปรากฏการณ์ MBO
การประกาศทำเทนเดอร์หุ้นบริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVI ของ “พงษ์ศักดิ์ โล่ห์ทองคำ” ประธานกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ SVI อาจดูฮือฮากันในวงกว้าง..แต่ในวงแคบต่างรู้กันดีว่า..นี่คือความพยายามอีกครั้งของ “นายพงษ์ศักดิ์” เพื่อจะรวบหุ้น SVI นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา..!!
พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง
การประกาศทำเทนเดอร์หุ้นบริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVI ของ “พงษ์ศักดิ์ โล่ห์ทองคำ” ประธานกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ SVI อาจดูฮือฮากันในวงกว้าง..แต่ในวงแคบต่างรู้กันดีว่า..นี่คือความพยายามอีกครั้งของ “นายพงษ์ศักดิ์” เพื่อจะรวบหุ้น SVI นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา..!!
เกมรวบหุ้น SVI โดย “พงษ์ศักดิ์” เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 52 ด้วยการจัดตั้งบริษัท เอ็มเอฟจี โซลูชั่น จำกัด(MFG) ที่มีพงษ์ศักดิ์ โล่ห์ทองคำ ถือหุ้นอยู่ 99.96% เพื่อเข้าซื้อหุ้น SVI จากบริษัท เอเชียแปซิฟิก อิเล็กทรอนิกส์ (บีวีไอ)จำกัด ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ SVI จำนวน 58.48% ราคาหุ้นละ 1.40 บาท มูลค่ารวม 1,228 ล้านบาท
จากนั้นบริษัท เอ็มเอฟจี โซลูชั่น จำกัด (MFG) ทำคำเสนอซื้อหุ้นส่วนที่เหลืออีกสัดส่วน 30.55% จากนักลงทุนทั่วไป ราคา 1.40 บาท และใบสำคัญแสดงสิทธิ (SVI-W2) ราคาหน่วยละ 0.40 บาท แต่ไม่สามารถทำเทนเดอร์หุ้นและวอร์แรนต์ที่เหลือทิ้งได้
ถัดมาวันที่ 26 พ.ย. 56 มีทำรายการซื้อขายล็อตใหญ่ (Big lot) หุ้น SVI โดยนายพงษ์ศักดิ์ โล่ห์ทองคำ ได้ซื้อหุ้น SVI เพิ่มเติมจากบริษัท MFG จำนวน 157,895,000 หุ้น หรือ 6.98% ของทุนที่ออกและชำระแล้ว ทำให้ “พงษ์ศักดิ์” ถือหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 36.53% เป็น 43.51% ส่วน Eagle Mount Asia Equities Limited เป็นผู้ถือหุ้นอันดับสอง สัดส่วน 10.11%
ล่าสุด 24 ก.ย. 62 “นายพงษ์ศักดิ์” ที่ปัจจุบันถือหุ้นอยู่ 45.71% ประกาศทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดโดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข (Conditional Voluntary Tender Offer) เพื่อเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในกิจการและเพิ่มอำนาจควบคุม โดยมีความประสงค์จะเข้าถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 65% (อาจยกเลิกการทำคำเสนอซื้อหุ้นหากมีผู้เสนอขายน้อยกว่า 19.29%)
อย่างไรก็ดี Eagle Mount Asia Equities Limited ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ประกาศเจตนาที่จะไม่ขายหุ้นให้แก่ผู้ทำคำเสนอซื้อ (พงษ์ศักดิ์) ในทุกกรณีสำหรับการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ 7.74% (ตามสัดส่วนการถือหุ้น)
จากการเทนเดอร์หุ้น SVI ของ “นายพงษ์ศักดิ์ โล่ห์ทองคำ” ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นการทำธุรกรรมประเภทการเข้าซื้อกิจการโดยผู้บริหาร (Management Buyout หรือ MBO) เนื่องจากนายพงษ์ศักดิ์ อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารของ SVI และถือเป็นความสำเร็จเป็นรายแรกในประเทศไทย
กรณีดังกล่าว “นายพงษ์ศักดิ์ โล่ห์ทองคำ” ถึงขั้นได้รับมอบโล่ที่ระลึกเพื่อแสดงความยินดี จากนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (สมัยนั้น) ในฐานะเครือธนาคารกสิกรไทย เป็นที่ปรึกษาและสนับสนุนการเงิน 1,800 ล้านบาท เพื่อการทำธุรกรรม MBO ดังกล่าว
สำหรับ Management Buyout (MBO) คือรายการที่ทีมผู้บริหารบริษัทซื้อสินทรัพย์และการดำเนินงานของธุรกิจที่ตนจัดการ การบริหารจัดการ (MBO) เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับผู้บริหารมืออาชีพ เนื่องจากผลตอบแทนที่เป็นไปได้มากขึ้นจากการเป็นเจ้าของธุรกิจแทนที่จะเป็นพนักงาน
นับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ได้รับความนิยมมากสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ ที่ต้องการขายแผนกที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจหลักหรือธุรกิจเอกชนที่เจ้าของต้องการเกษียณนั่นเอง..!!