พาราสาวะถี
กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที กรณี คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลา ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองสาหัส บนบัลลังก์หลังเสร็จสิ้นการพิจารณาคดีพิพากษายกฟ้อง 5 จำเลยคดีความมั่นคง หลังเกิดเหตุมีคนไปจับเอาข้อความจากแถลงการณ์ 25 หน้าก่อนที่จะมีการก่อเหตุดังกล่าวว่า “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” “คำแถลงของผมอาจมีน้ำหนักเบาบางเหมือนขนนก แต่หัวใจผู้พิพากษาหนักแน่นปานขุนเขา จึงมอบหัวใจชั่งบนตราชู”
อรชุน
กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที กรณี คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลา ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองสาหัส บนบัลลังก์หลังเสร็จสิ้นการพิจารณาคดีพิพากษายกฟ้อง 5 จำเลยคดีความมั่นคง หลังเกิดเหตุมีคนไปจับเอาข้อความจากแถลงการณ์ 25 หน้าก่อนที่จะมีการก่อเหตุดังกล่าวว่า “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” “คำแถลงของผมอาจมีน้ำหนักเบาบางเหมือนขนนก แต่หัวใจผู้พิพากษาหนักแน่นปานขุนเขา จึงมอบหัวใจชั่งบนตราชู”
หลังเกิดเหตุ สุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า สาเหตุเกิดจากความเครียดส่วนตัวของผู้พิพากษาคนดังว่า แต่ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ยืนยันว่า การตัดสินใจของคณากรไม่เกี่ยวกับเรื่องความเครียดส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม โดยอ้างว่ามีข้อมูลที่คณากรและผู้หวังดีส่งให้ พร้อมจะเปิดเผยต่อสาธารณชน คงต้องดูว่าข้อเท็จจริงดังว่านั้นคืออะไร
อย่างไรก็ตาม ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักคดีอาญาธนบุรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า“อย่ารีบวิจารณ์สิ่งที่เห็น เพราะอาจเป็นภาพลวงตาหลายครั้งที่โอละพ่อ” พร้อมมีข้อเรียกร้องให้นักกฎหมายทั้งหลายอ่านคำพิพากษาทั้งหมด อย่าอ่านหน้าสองหน้า คำพิพากษาที่ลงกันนั้น กล่าวถึง อธิบดีและผู้พิพากษาคนดังว่าที่แทนตัวเองว่า“ผม”
นอกจากนั้น ยังบอกให้พิจารณาว่าสิ่งที่เขียนนั้นเป็นคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186,183 หรือไม่ องค์คณะครบตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 26 หรือไม่ การวิจารณ์หรือการแชร์และให้ความเห็นดังกล่าวทั้งหลาย ควรให้ผู้ที่ปรากฏในคำพิพากษาได้มีโอกาสชี้แจงก่อน เพราะเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนต่อองค์กรตุลาการและความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศได้ง่าย
แต่เมื่อมีคนถามปรเมศวร์ต่อว่าแสดงว่าได้กลิ่นตุ ๆ เหมือนกัน เจ้าตัวก็ปฏิเสธ และแจงต่อว่าโดยปกติศาลแต่ละคนสั่งเขาไม่ได้ว่าให้ตัดสินอย่างไร ถ้าผู้ใหญ่ไม่เห็นเขาจะทำความเห็นแย้งไว้ท้ายคำพิพากษา เมื่อมีคนเข้าไปแสดงความเห็นว่าห้ามวิจารณ์เหล่าเทวดาใช่หรือไม่ ปรเมศวร์ก็ตอบว่าเปล่า แต่ขอให้ฟังข้อเท็จจริงรอบด้านก่อน ประเด็นเช่นนี้คงต้องฟังความกันหลายด้าน ที่สำคัญคือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องทำให้เกิดความกระจ่าง โดยเฉพาะตัวผู้พิพากษาที่ต้องรักษาอาการให้ปลอดภัย
เมื่อหายดีแล้วจะสามารถตอบคำถามที่สังคมกังขาได้ทั้งหมด เรื่องนี้สำคัญเพราะถือเป็นภาพลักษณ์ขององค์กรด้านกระบวนการยุติธรรมของไทย ขณะเดียวกันก็เกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับกระบวนการแก้ปัญหาด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือว่าละเอียดอ่อนทั้งสองด้าน ท่ามกลางสังคมที่เกิดคำถามอย่างหลากหลาย และการขุดคุ้ยผ่านโลกออนไลน์ กรณีนี้จะวางเฉยแล้วปล่อยให้เงียบไปเหมือนหลายๆ เรื่องไม่ได้เป็นอันขาด
ด้านความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ถูกเร้าความน่าสนใจเฉพาะประเด็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ปฏิเสธถือธงนำในการแก้ที่ฝ่ายตรงข้ามพยายามตีจุดอ่อนเรื่องความจริงใจ ทั้งที่เป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล แต่การที่นายทหารคนดัง พลตรีบุรินทร์ ทองประไพ เป็นผู้แทนแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าแจ้งความเอาผิด 12 แกนนำพรรคฝ่ายค้านและนักวิชาการ ในมาตรา 116 จากการจัดเวทีเสวนาที่จังหวัดปัตตานีเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาก็น่าสนใจไม่น้อย
เพราะนายทหารคนดังว่า ถือเป็นผู้มีบทบาทอย่างสูงในช่วงคสช.เรืองอำนาจ กับการไล่แจ้งความเอาผิด กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีความเห็นต่างจากคณะเผด็จการ ซึ่งหลายคดีถ้าอัยการไม่สั่งฟ้องก็จะถูกตีตกในชั้นศาล โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นการถูกฟ้องดำเนินคดีในความผิดมาตรา 116 ยุยง ปลุกปั่น ทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่ภายในระยะเวลาของคณะรัฐประหารชุดนี้ทำให้นายทหารนี้เลื่อนขั้นอย่างรวดเร็วจากพันโทเป็นพลตรี
ไม่ต่างกับนายทหารอีกหลายคนที่ได้เลื่อนยศแบบขึ้นลิฟต์ หลังแสดงบทบาทอย่างสำคัญในการปกป้องเป็นปากเป็นเสียงให้กับหัวหน้าเผด็จการ แต่กล่าวสำหรับกรณี 12 แกนนำฝ่ายค้านและนักวิชาการที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีนั้น น่าสนใจตรงที่ว่า หัวใจของการนำมาซึ่งการแจ้งความเอาผิดนั้น เกิดจากการแสดงความเห็นทางวิชาการของ ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับการแก้ไขมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ
โดยมาตราดังกล่าวนั้นเนื้อหาเกี่ยวกับความราชอาณาจักรไทยที่ต้องเป็นหนึ่งเดียวจะแบ่งแยกไม่ได้ ที่คนส่วนใหญ่กังขาคือ ในเมื่อเป็นความเห็นส่วนบุคคลแล้วเหตุใดจึงพ่วงเอาแกนนำพรรคการเมืองเหล่านั้นเข้าไปเป็นผู้กระทำผิดด้วย จะเหวี่ยงแหให้มีความผิดเหมือนคดีการพนันหรือยาเสพติด คือใครอยู่ในรัศมีที่กฎหมายกำหนดถือว่ามีส่วนรู้เห็นและร่วมกระทำผิดด้วยอย่างนั้นหรือ ซึ่งประเด็นนี้ฝ่ายค้านก็ทักท้วงพร้อมขู่ฟ้องกลับพลตรีบุรินทร์ด้วย
อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวไม่ได้สะทกสะท้านซึ่งก็คงต้องเป็นเช่นนั้น เพราะทุกอย่างทำตามนายสั่งจะหวั่นไหวได้อย่างไร พร้อมกับคำพูดที่ว่าทุกอย่างให้ไปจบในชั้นศาล คำถามที่ตามมาคือหลายคดีที่ศาลยกฟ้องไปก่อนหน้าอันเกิดจากการเหวี่ยงแหดำเนินคดีฝ่ายตรงข้ามผู้กุมอำนาจรัฐ นายทหารคนนี้เคยแสดงความรับผิดชอบบ้างหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ปิยบุตรในฐานะประธานกรรมาธิการกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม จึงจะเรียกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมดังกล่าว
แต่ดูเหมือนว่าลิ่วล้อของเผด็จการที่วันนี้ได้ดิบได้ดีเป็นส.ส.ในสภาอย่าง ระวี มาศฉมาดล และ สิระ เจนจาคะ ต่างออกมาปกป้องนายทหารคนดัง พร้อมโจมตีปิยบุตรว่าลุแก่อำนาจ ใช้เวทีสภาไปรังแกข้าราชการประจำ โถ ๆ แล้วไม่คิดในมุมกลับกันในช่วงเผด็จการเรืองอำนาจหรือแม้กระทั่งเวลานี้ที่ยังคิดว่าเป็นยุคเผด็จการแล้วไปเล่นงานฝ่ายตรงข้ามผู้ถืออำนาจรัฐบ้างว่าลุแก่อำนาจหรือไม่ นี่ไงคืออีกหนึ่งเหตุผลที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ เพราะพวกอุ้มสมเผด็จการยังหลงใหลได้ปลื้มกับอำนาจที่ตัวเองได้มาจนไม่ลืมหูลืมตาว่ามันเป็นกลไกที่ถูกต้อง ชอบธรรมหรือไม่