พาราสาวะถี
เวลาสิบโมงเช้า วันนี้ ให้เงี่ยหูฟังให้ดี ที่หอประชุมกิตติขจร กองบัญชาการกองทัพบก พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. จะบรรยายพิเศษประเด็นเกี่ยวกับบทบาทกองทัพในการดูแลความมั่นคง ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมมวลชนสัมพันธ์ของกองทัพ เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจแก่ผู้นำองค์กร มวลชน ประชาชน รวมทั้งสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน
อรชุน
เวลาสิบโมงเช้า วันนี้ ให้เงี่ยหูฟังให้ดี ที่หอประชุมกิตติขจร กองบัญชาการกองทัพบก พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. จะบรรยายพิเศษประเด็นเกี่ยวกับบทบาทกองทัพในการดูแลความมั่นคง ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมมวลชนสัมพันธ์ของกองทัพ เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจแก่ผู้นำองค์กร มวลชน ประชาชน รวมทั้งสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน
แต่เจ้าตัวแพลมออกมาก่อนหน้านี้แล้วว่า จะพูดเรื่องสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะใครจะเข้าใจปัญหาภาคใต้ได้ดีกว่าคนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ เนื่องจากตนเคยอยู่ในพื้นที่เป็นอดีตผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลามาก่อน เคยกิน เคยนอนและทำงานที่นั้นเป็นเวลา 1 ปีครึ่ง จึงต้องติดตามว่าสิ่งที่ผบ.ทบ.พูดนั้นจะเป็นประเด็นอันเกี่ยวโยงกับมิติทางการเมืองหรือไม่ เพราะฝ่ายความมั่นคงโดยกอ.รมน.เวลานี้กำลังมีปัญหาถูกวิจารณ์จากการแจ้งความดำเนินคดีแกนนำฝ่ายค้านและนักวิชาการจำนวน 12 คน
หากไม่มีประเด็นพาดพิง สิ่งที่ต้องมองกันต่อไปคือ จะเป็นการบรรยายเพื่อให้สังคมเห็นภาพ คล้อยตามและเห็นถึงความสำคัญในการที่จะต้องทุ่มเทงบประมาณลงไปเพื่อการดับไฟใต้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ อีกไม่กี่วันสภาผู้แทนราษฎรก็จะมีการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 และฝ่ายค้านก็จองกฐินไว้แล้ว จะถลกหนังงบในส่วนของกองทัพเข้มข้นเป็นพิเศษ ดังนั้น จึงจำเป็นที่ผู้นำเหล่าทัพทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันชี้แจง
อย่างไรก็ตาม สำหรับการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณ เป็นอันตกลงกันแล้วว่าจะลากยาวไป 3 วันเนื่องจากในช่วงเช้าของวันที่ 17 ตุลาคมนั้น สภาผู้แทนราษฎรมีวาระอื่นที่สำคัญต้องพิจารณาก่อน จะมีการพิจารณากฎหมายงบประมาณในช่วงบ่าย แต่ยังสับสนกันเรื่องเวลา เพราะฟัง วิรัช รัตนเศรษฐ บอกว่าฝ่ายค้านและรัฐบาลได้เท่ากันที่ 15 ชั่วโมง แต่ สุทิน คลังแสง บอกว่าเท่ากันที่ 20 ชั่วโมง เวลาที่ต่างกันถึงฝ่ายละ 5 ชั่วโมงมีความหมายอย่างมากสำหรับนักการเมืองช่างจ้อในบ้านเรา
นี่ยังไม่นับรวมเวลาที่ฝ่ายรัฐบาลจะรายงานถึงเหตุผล ความจำเป็นในการตราร่างกฎหมายดังกล่าวและชี้แจงข้อซักถามของฝ่ายค้าน ส่วนหากมีการประท้วงไม่ว่าจะจากซีกไหนให้ถือนำไปนับรวมเป็นเวลาของฝ่ายนั้น แน่นอนว่า ภาพที่จะมองเห็นก่อนเข้าสู่วาระการประชุมคงจะมีการขอหารือประเด็นเรื่องรัฐมนตรีที่เป็นส.ส.จะสามารถร่วมโหวตร่างพ.ร.บ.งบประมาณได้หรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาในข้อกฎหมายไม่ได้ห้ามย่อมทำได้ ส่วนใครจะไปยื่นร้องให้เกิดการตีความก็ไปว่ากันในอีกขั้นตอนหนึ่ง
แต่มีความเห็นที่น่าสนใจมาจาก วีระศักดิ์ เครือเทพ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ชี้ว่า ในหลักการการทำหน้าที่ส.ส.กับรัฐมนตรีไม่ควรมีอำนาจทับซ้อนหรือขัดแย้งระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร เพราะการบริหารประเทศมีหลักการแบ่งอำนาจไว้เพื่อการตรวจสอบถ่วงดุล โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายนิติบัญญัติกำลังตรวจสอบฝ่ายบริหารจากการใช้งบประมาณ เมื่อมีรัฐมนตรีบางรายยังเป็นส.ส.ถือว่าบทบาทซ้อนกันชัดเจน ขัดกับหลักรัฐศาสตร์
เมื่ออ้างว่ารัฐธรรมนูญไม่ห้ามไว้ก็ต้องกลับไปดูเจตนารมณ์ของผู้ร่าง แต่โดยมารยาททางการเมืองหรือสปิริต ต้องคำนึงด้วยว่ารัฐมนตรีควรมีบทบาทซ้ำซ้อนในลักษณะนี้หรือไม่ ที่น่าสนใจคงเป็นคำท้าทายของนักวิชาการรายนี้มากกว่าที่ว่า รัฐมนตรีที่เป็นส.ส.จะกล้าลุกขึ้นอภิปรายงบประมาณที่รัฐบาลจะนำไปใช้จ่ายด้วยหรือไม่ หรือกล้าตั้งคำถามในกระทรวงที่สังกัดว่าตั้งงบประมาณรายจ่ายเหมาะสมแล้วหรือไม่ อย่างไร ในยุคอย่างหนาเชื่อได้เลยว่าไม่มีใครทำเช่นนั้น สุดท้ายก็เกิดการตีมึนแล้วให้ทุกอย่างผ่านไป
หลังจากปล่อยให้ฝ่ายการเมืองได้พ่นน้ำลายกันมาระยะหนึ่ง นักวิชาการผู้พูดถึงมาตรา 1 จนนำมาซึ่งการถูกแจ้งความดำเนินคดีอย่าง ชลิตา บัณฑุวงศ์ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวต่อกรณีที่เกิดขึ้น เตือนฝ่ายที่กำลังทุ่มเถียงกันในประเด็นฟ้องเหมาเข่งว่า จะต้องไม่หลงประเด็นไปกับวิวาทะในกรณีดังว่า แม้จะเป็นหลักการที่ถูกต้องที่ว่าผู้พูดย่อมต้องรับผิดชอบในคำพูดของตน แต่นี่ไม่ใช่สาระสำคัญของเรื่องนี้
ประเด็นหลักของเรื่องนี้ก็คือ การแสดงความคิดเห็นอย่างสันติต่อรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะในประเด็นใดไม่ใช่ความผิด ไม่ใช่อาชญากรรม และไม่มีใครแม้แต่คนเดียวที่สมควรจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็นนี้ การแจ้งความดำเนินคดีเพื่อเอาผิดต่อการแสดงความคิดเห็นนี้โดยกอ.รมน. จึงเป็นการบิดเบือนการใช้กฎหมายเพื่อสร้างความหวาดกลัว หรือความยุ่งยากให้กับผู้ถูกกล่าวหา เป็นการใช้การฟ้องคดีเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
ไม่ต่างจากที่หลายคนวิเคราะห์กันไปก่อนหน้านี้ สิ่งที่นายทหารผู้รับใช้เผด็จการสืบทอดอำนาจมาตลอดเวลากว่า 5 ปีทำไปนั้น เพื่อให้ประชาชนทั่วไปไม่กล้าที่จะพูดคุยอภิปรายเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ ชลิตายืนยันว่า ไม่เคยกังวลใจเลยแม้แต่น้อยในการที่จะถูกแจ้งความดำเนินคดีเพียงคนเดียว ไม่ว่าจะคดีใด ด้วยข้อหาใดและจะแอบโล่งใจเสียด้วยซ้ำหากมันเป็นเช่นนั้น
ความจริงมันย่อมไม่เป็นเช่นนั้นแน่ เพราะสิ่งที่อ่านกันขาดคือชลิตาเป็นเหมือนหนึ่งตัวละครที่ถูกมองว่าผิดแน่ในมุมของฝ่ายที่แจ้งความดำเนินคดี แต่เป้าหมายหลักคือการจัดการกับแกนนำพรรคฝ่ายค้านที่ยังคงเดินสายจัดเวทีเสวนากันจะเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลลงไปเรื่อย ๆ ยิ่งประชาชนรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหามากเท่าไหร่ ความชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจที่มีอยู่น้อยอยู่แล้ว มันก็จะหดหายจนไม่เหลือความชอบธรรมอีก
จึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็นลิ่วล้อของพรรคสืบทอดอำนาจไปดำเนินการต่อยอดเพื่อถอดถอนแกนนำของพรรคฝ่ายค้าน เพราะคนเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นเสี้ยนหนามที่ทำให้กระบวนการในสภาไม่ราบรื่นเท่านั้น แต่เป็นพวกที่รู้ทันและมีต้นทุนทางสังคมสูง หากปล่อยให้มีเสรีภาพและเคลื่อนไหวกันได้อย่างอิสระ มันก็ไม่ต่างอะไรจากการที่ปล่อยให้มีการวางระเบิดเวลาที่พร้อมจะตูมตามได้ทุกเมื่อเมื่อถึงจังหวะที่เหมาะสม การตัดไฟแต่ต้นลมจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ แม้จะแลกมาด้วยการถูกประณามว่าเป็นพวกติดหนวดก็ตาม