ความรับผิดของรถยนต์ไร้คนขับในประเทศอังกฤษ
รถยนต์ไร้คนขับแบบสมบูรณ์กำลังเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคตอันใกล้นี้ ในสหราชอาณาจักรหรือประเทศอังกฤษมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2020
Cap & Corp Forum
รถยนต์ไร้คนขับแบบสมบูรณ์กำลังเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคตอันใกล้นี้ ในสหราชอาณาจักรหรือประเทศอังกฤษมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2020 ระบบ Advanced Driver Assistance Systems (“ADAS”) หรือระบบขับขี่ปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ จะมีการใช้เป็นการทั่วไปสำหรับรถยนต์ทุก ๆ คัน โดยเทคโนโลยีเหล่านี้ได้แก่ ระบบหยุดรถในสถานการณ์ฉุกเฉิน ระบบรักษาช่องทางการขับขี่ (lane assistance) ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ (cruise control) และระบบจอดรถยนต์อัตโนมัติ (self-parking) เป็นต้น และด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจะสามารถทำให้ระบบ ADAS สามารถสนองต่อสถานการณ์ที่มีความยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงจุดหนึ่งที่รถยนต์จะไม่ต้องการผู้ขับขี่อีกต่อไป และภายในปี 2025 เราจะสามารถพบเห็นเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับอย่างแท้จริง (driverless) โดยบริษัทที่ปรึกษา KPMG (2015) คาดว่าภายในปี 2035 มูลค่าของอุตสาหกรรมรถยนต์ไร้คนขับในอังกฤษจะสูงถึง 50 พันล้านปอนด์
เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมในอนาคต เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 ประเทศอังกฤษได้ตรากฎหมาย Automated and Electric Vehicles Act 2018 (“AEVA”) ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ไร้คนขับขึ้นใช้บังคับ และน่าจะถือได้ว่าเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่มีการตรากฎหมายขึ้นมาเป็นการเฉพาะ แต่กฎหมายฉบับดังกล่าวจะยังไม่มีผลใช้บังคับจนกว่าจะมีการประกาศวันเริ่มใช้บังคับอีกครั้งหนึ่งก่อนจากกระทรวงธุรกิจ พลังงาน และนโยบายอุตสาหกรรมของประเทศอังกฤษ ทั้งนี้เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีระยะเวลาเตรียมการไปสู่การบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับอย่างแท้จริง
AEVA แบ่งโครงสร้างกฎหมายเป็น 3 ส่วนมีจำนวน 23 มาตราและหนึ่งภาคผนวก ดังนี้
1) ส่วนที่ 1 ว่าด้วยความรับผิดของบริษัทประกันภัย มาตรา 1-8 (Automated Vehicles: Liability of Insurers Etc)
2) ส่วนที่ 2 ว่าด้วยการชาร์จไฟฟ้าและสถานีชาร์จ มาตรา 9-19 (Electric Vehicles: Charging)
3) ส่วนที่ 3 เบ็ดเตล็ดและทั่วไป มาตรา 20-23 (Miscellaneous and General)
4) ภาคผนวก ว่าด้วยกฎหมายต่าง ๆ ที่ต้องแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับ AEVA
กฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงการกำหนดกรอบนโยบายทางกฎหมาย แต่ในส่วนของรายละเอียดนั้นจะดำเนินการผ่านการกำหนดเป็นกฎกระทรวงอีกครั้งหนึ่ง โดยหลักการที่สำคัญที่สุดของ AEVA คือการกำหนด “ความรับผิดทางแพ่ง” ในกรณีมีความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุจากรถยนต์ไร้คนขับ โดยการนำระบบประกันภัยภาคบังคับมาใช้ในกรณีที่มีความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวมีหลักการที่สำคัญและประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
1) ให้บริษัทประกันเป็นผู้รับผิดต่อความเสียหายในทางแพ่ง
มาตรา 2(1) ของกฎหมายกำหนดให้บริษัทประกันภัยต้องเป็นผู้รับผิดในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นจากรถยนต์ไร้คนขับในขณะที่ขับขี่ด้วยระบบขับขี่อัตโนมัติบนถนนหรือพื้นที่สถานะในอังกฤษ และรถยนต์ไร้คนขับนั้นได้ทำประกันภัยไว้ และผู้เอาประกันภัยหรือบุคคลภายนอกได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุนั้น
2) ความรับผิดของเจ้าของรถยนต์ กฎหมายกำหนดให้เจ้าของรถยนต์ต้องรับผิดทางแพ่งหาก “รถยนต์นั้นไม่ได้ทำประกันภัยไว้ในขณะที่เกิดอุบัติเหตุ”
3) ความเสียหาย หมายความถึง ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน แต่ไม่รวมถึงความเสียหายต่อตัวรถยนต์ไร้คนขับนั้นเอง (มาตรา 2)
4) กรณีอุบัติเหตุเกิดจากการแก้ไขซอฟต์แวร์ของรถยนต์ไร้คนขับโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือความบกพร่องอันเนื่องมาจากการไม่อัพเดทซอฟต์แวร์ ในกรณีนี้บริษัทผู้รับประกันมีสิทธิปฏิเสธความรับผิดที่มีต่อผู้เอาประกันได้ (มาตรา 4)
เป็นที่น่าสังเกตว่า AEVA ไม่ได้กำหนดบทนิยามเอาไว้ว่าอะไรคือรถยนต์ไร้คนขับ แต่ให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีในการกำหนดรายการ (list) ของประเภทของรถยนต์ไร้คนขับ (มาตรา 1) และกำหนดกรอบการตีความกฎหมายไว้แต่เพียงว่า รถยนต์นั้นถือว่าขับเคลื่อนด้วยตนเอง (driving itself) หากเป็นการดำเนินการโดยไม่ถูกควบคุม และไม่มีความจำเป็นต้องกำกับด้วยมนุษย์ (มาตรา 8(1)(a))
ผู้เขียนเชื่อว่าปัญหาความเชื่อมั่นในเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งในการที่ผู้บริโภคจะยอมรับเทคโนโลยีดังกล่าว หรือไม่ ตัวอย่างเช่น รายงานการวิจัยของ Deloitte (2017) ในประเทศเยอรมนีพบว่า คนเยอรมันร้อยละ 90 ต้องการให้ตนเองสามารถเข้าควบคุมระบบรถยนต์ไร้คนขับได้ตลอดเวลาที่ต้องการ เป็นต้น ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า การที่ประเทศอังกฤษนำระบบประกันภัยความรับผิดมาใช้เป็นมาตรการหลักในการกำหนดความรับผิดทางแพ่งมีข้อดีหลายประการ อาทิ
1) สร้างความมั่นใจให้กับผู้ขับขี่ในเรื่องความรับผิดทางแพ่ง
2) เป็นมาตรการเยียวยาความเสียหายที่รวดเร็วสำหรับผู้ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ ลดขั้นตอนและระยะเวลาการดำเนินคดีในศาล และสร้างความเป็นธรรมในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
3) เป็นการจำกัดความรับผิดของผู้ผลิตรถยนต์ไร้คนขับ เนื่องจากต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงที่ไม่ปรากฏอยู่ซึ่งผู้ผลิตเองก็ไม่อาจทราบได้ การใช้ระบบประกันภัยจะทำให้ผู้ผลิตสามารถลงทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป โดยมีต้นทุนที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม เฉพาะ AEVA จำนวน 23 มาตรา ยังไม่สามารถทำให้รถยนต์ไร้คนขับสามารถขับเคลื่อนอยู่บนท้องถนนได้จริงในทางปฏิบัติ แต่อังกฤษยังต้องมีการตราอนุบัญญัติอีกหลายประการตามกฎหมาย รวมถึงต้องแก้ไขกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการจราจรบนท้องถนนด้วย อาทิ
1) การกำหนดความรับผิดทางแพ่งในกรณีที่มนุษย์และระบบดำเนินการควบคุมรถยนต์ร่วมกัน
2) ความรับผิดทางอาญาที่เกี่ยวกับการขับรถยนต์โดยประมาทในกรณีที่รถยนต์นั้นขับเคลื่อนโดยระบบไร้คนขับ ข้อจำกัดห้ามดื่มแอลกอฮอล์หรือข้อห้ามการใช้โทรศัพท์มือถือจะยังต้องมีอีกหรือไม่
3) ความรับผิดในกรณีของการไม่ปฏิบัติตามกฎหรือข้อบังคับจราจรในกรณีที่รถยนต์นั้นขับเคลื่อนโดยระบบไร้คนขับ ในกรณีนี้ ใครจะต้องรับผิดชำระค่าปรับ และต้องรับผิดมากน้อยเพียงใด จะต้องมีการยึดหรือพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือไม่ (เมื่อมนุษย์ไม่ใช่คนขับ) และมาตรการตัดแต้มต่าง ๆ สมควรจะใช้หรือไม่เพียงใด ผู้ผลิตรถยนต์หรือผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ควรต้องเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดหรือไม่
4) ระบบใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ต้องเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร หากเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตนเองทั้งหมด ข้อจำกัดด้านอายุต้องมีหรือไม่ การสอบและการอบรมยังมีความจำเป็นหรือไม่ และถ้าต้องอบรม ควรอบรมเรื่องใดและโดยใคร เป็นต้น
และประการสุดท้าย อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยเตรียมตัวพร้อมหรือไม่กับเทคโนโลยีที่ใกล้เข้ามาทุกขณะ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้เริ่มดำเนินการเตรียมความพร้อมด้านกรอบนโยบายทางกฎหมายของประเทศหรือยัง…
…
ศุภวัชร์ มาลานนท์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
Fulbright Hubert H. Humphrey Fellowship
American University Washington College of Law