“ผู้นำฝ่ายค้าน”ซัดรัฐบาล”บิ๊กตู่”อัดงบปี63ไม่ตรงเป้า-แก้ปัญหาศก.ไม่ได้! ไล่กลับไปร่างใหม่
“ผู้นำฝ่ายค้าน”ซัดรัฐบาล"บิ๊กตู่"อัดงบปี63ไม่ตรงเป้า-แก้ปัญหาศก.ไม่ได้! ไล่กลับไปร่างใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวอภิปรายถึงร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในที่ประชุมรัฐสภา ว่า ตนอยากเห็นเศรษฐกิจประเทศไทยเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีคำถามว่าตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า มีอะไรให้บอกท่านนั้น ตนก็เลยบอกว่าแล้วทำไมเมื่อ 5 ปีที่แล้วท่านไม่ได้ทำอะไรให้เลย
โดยความสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้ ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ต่างมีหน้าที่พิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน ซึ่งเหตุการณ์วันนี้พี่น้องประชาชนประสบกับภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบากในขณะนี้มาโดยตลอด แต่การที่รัฐบาลได้เสนอร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2563 แม้จะเป็นอำนาจของรัฐบาลโดยทั่วไป แต่ต้องยอมรับว่ารัฐบาลนี้ยังมีปัญหาในเรื่องของความชอบธรรมตั้งแต่การถวายสัตย์ปฏิญาณ การแถลงนโยบายที่ไม่ได้อธิบาย ถึงแหล่งที่มาของงบประมาณ
“ฝ่ายค้านจึงอยากจะให้ทางรัฐบาล นำร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ กลับไปร่างใหม่ เพราะไม่มีความเหมาะสม ไม่มีสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้เลย เพราะการจัดสรรงบประมาณตามร่างพ.ร.บ.นั้น ไม่ถูกจัดให้กับส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ถือว่ามีความบกพร่องต่อการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ต้องอาศัยการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม ร่วมกับการลงทุนภาคเอกชน” นายสมพงษ์ กล่าว
สำหรับเศรษฐกิจภาพใหญ่ขับเคลื่อนด้วยฟันเฟือง 4 ด้าน คือ การลงทุน ภาคเอกชน การลงทุนในประเทศ การส่งออก และการลงทุนภาครัฐ ทั้งนี้การส่งออกมีความสำคัญ เพราะสามารถสร้างรายได้ทำให้ประชาชนมีงานทำ แต่ปรากฏว่า 10 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกกลับติดลบ 2.5 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาในเรื่องการลงทุนภาคเอกชน ปรากฏว่า บัณฑิตจบใหม่ที่ยังไม่มีงานทำ รวมแล้วกว่า 3 แสนคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 5 แสนคนในปีหน้า ซึ่งกระทบการจ้างงานภาคในแรงงาน รวมทั้งการลงทุนก็ไม่มีอะไรหวือหวาเท่าที่ควร และภาคเกษตรกรไม่มีกำลังซื้ออย่างรุนแรง เป็นสัญญาณเตือนว่าปัญหาเศรษฐกิจกำลังจะเข้าสู่วิกฤต
ดังนั้นงบประมาณมีปัญหาหลายอย่าง และไม่ส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่น โดยสิ่งที่ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ.2563 ที่พบความบกพร่อง คือ การจัดสรรงบกระทรวงกลาโหม เพื่อจัดซื้ออาวุธ , การจัดสรรงบกลาง 5.1 แสนล้านบาท ซึ่งพบว่าจะใช้เพื่อกรณีฉุกเฉิน 9.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งตนหวังว่างบส่วนดังกล่าวจะไม่ถูกนำไปใช้เพื่อการจัดซื้ออาวุธ
นอกจากนั้นยังพบการใช้งบประมาณเกินตัว สวนทางกับการจัดเก็บภาษีที่ได้น้อย ตัวเลขการขาดดุลมีความน่าเป็นห่วง เพราะหากจัดงบประมาณไว้ลักษณะดังกล่าวประเทศอาจเจอภาวะล้มละลาย ตนมองว่าการจัดสรรงบประมาณเป็นการแจกเงินแบบสิ้นคิด โดยไม่คำนึงถึงการพัฒนาผลิตภาพ และแผนการทำธุรกิจ แต่เป็นเพียงการยืดปัญหาออกไปวันๆ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, แจกเงินท่องเที่ยว,ชิม ช็อป ใช้ รวมถึงแจกเงินปลายปีเพื่อให้ประชาชนซื้อของ ซึ่งตนมองว่าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ทำให้ประเทศพัฒนาด้านการผลิต
สำหรับแนวทางที่ถูกต้อง ควรใช้งบประมาณเพื่อสร้างแรงจูงใจ ให้เกิดการผลิตนวัตกรรมใหม่ และสร้างผลผลิตให้ได้โดยเร็ว อย่างไรก็ดีมีคำกล่าวในสังคมว่างบประมาณถูกใช้จนกระจุก มุ่งสนับสนุนการเติบโตผู้ใกล้ชิดรัฐบาล และนายทุน พวกพ้อง เช่น โครงการอีอีซี, โครงการรถไฟเชื่อม3 สนามบิน ดังนั้นผมหมดหวังกับการขับเคลื่อนและฟื้นฟูประเทศ และทำให้ประเทศตกอยู่ในวิบากกรรม ดังนั้นขอให้นำ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ.2563 กลับไปแก้ไข ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ.2563 ได้