พาราสาวะถี
ประเดิมวันแรกกันไปเรียบร้อยกับการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของสภาผู้แทนราษฎร โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้เวลาร่ายยาว 2 ชั่วโมงถึงความจำเป็นการในตั้งวงเงินสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท และย้ำเรื่องงบกระทรวงกลาโหมไม่มีการกระจุกตัวหรือเทกระจาดให้กันแต่อย่างใด พร้อมด้วยการตบมุกส่งท้าย เหมือนได้ฟังจำอวดหน้าม่าน ไม่ใช่เพราะต้องการให้บรรยากาศผ่อนคลายแต่เป็นนิสัยติดตัวที่มักจะมีการปิดท้ายในสภาแบบนี้เป็นประจำ
อรชุน
ประเดิมวันแรกกันไปเรียบร้อยกับการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของสภาผู้แทนราษฎร โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้เวลาร่ายยาว 2 ชั่วโมงถึงความจำเป็นการในตั้งวงเงินสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท และย้ำเรื่องงบกระทรวงกลาโหมไม่มีการกระจุกตัวหรือเทกระจาดให้กันแต่อย่างใด พร้อมด้วยการตบมุกส่งท้าย เหมือนได้ฟังจำอวดหน้าม่าน ไม่ใช่เพราะต้องการให้บรรยากาศผ่อนคลายแต่เป็นนิสัยติดตัวที่มักจะมีการปิดท้ายในสภาแบบนี้เป็นประจำ
จนทำให้ฝ่ายค้านมองกันว่าเป็นการไม่ให้เกียรติส.ส.ผู้ทรงเกียรติ พยายามทำให้เหมือนว่าเป็นพวกเดียวกัน ฉันไม่มีอะไรกับเธอ ทั้ง ๆ ที่มีการจ้องเล่นงานฝ่ายเห็นต่างกันอย่างต่อเนื่อง ความเห็นของผู้บัญชาการทหารบกเป็นสัญญาณอันเด่นชัดว่าฝ่ายสืบทอดอำนาจไม่ได้ต้องการญาติดีกับฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลแต่อย่างใด เหตุผลเรื่องการขอให้ละวางความขัดแย้งไว้เบื้องหลังแล้วจับมือกันก้าวเดิน มันก็แค่หน้าฉากเพื่อสร้างภาพให้ดูสวยงามเท่านั้น
ส่วนทางด้านฝ่ายค้านการอภิปรายถือว่าอยู่ในหลักเกณฑ์ ทักท้วงความเหมาะสมของงบประมาณด้วยเหตุด้วยผล หากบรรยากาศยังคงเป็นไปเช่นนี้ตลอดทั้ง 3 วันยังมองไม่เห็นอุปสรรคที่จะทำให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณไม่ผ่านความเห็นชอบของสภา ความจริงผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่จำเป็นต้องเล่นตลกส่งท้ายเพื่อทำให้คนจดจำภาพติ๊งต๊อง อย่างไรเสีย จากจำนวนเสียงที่มีอยู่ในมือไม่มีทางที่กฎหมายงบจะถูกตีตกอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม หากจะมองหาสีสันที่น่าสนใจจากการอภิปรายวันแรก มุมหนึ่งของฝ่ายหนุนรัฐบาลอย่างไม่ลืมหูลืมตาคงต้องยกให้ ไพบูลย์ นิติตะวัน คนที่ยุบพรรคตัวเองทิ้งแล้วเข้ามาร่วมหัวจมท้ายกับพรรคสืบทอดอำนาจ ยกหางว่างบประมาณรอบนี้จัดได้สอดคล้องกับภารกิจ ไม่มีเหตุผลที่จะต้องมีใครจะแสดงความเห็นคัดค้าน พร้อมกล่าวหาฝ่ายค้านว่าจ้องปรับลดงบเพราะเกมการเมือง ไม่ใช่เรื่องแปลกหากคน ๆ นี้พูดเป็นอย่างอื่นคงไม่ใช่ตัวจริง
ส่วนฝ่ายรัฐบาลที่อภิปรายแล้วทำให้พวกเดียวกันสะดุ้งคงเป็น เกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่จี้ให้ปรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้เกิดการลงทุนที่น้อยแต่ได้ผลกำไรมาก รวมถึงขอให้การกำหนดงบประมาณเพื่อดำเนินนโยบายเพื่อคนรุ่นต่อไปไม่ใช่การเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยในชั้นกรรมาธิการขอให้ทบทวนและปรับตัวเลขงบประมาณเพื่อให้เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ โครงการแจกเงินที่รัฐบาลคาดหวังว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจถือเป็นการลงทุนที่ใช้เงินจำนวนมากแต่ได้ผลลัพธ์น้อย
ประเด็นหลังนี้สวนทางกับการยกยอปอปั้นของไพบูลย์อย่างสิ้นเชิง ตบหน้ากันแบบไม่ต้องเกรงใจ ส่วนฝ่ายค้านหน้าใหม่ในระนาบหัวหน้าพรรคที่ยังคงอภิปรายได้เร้าใจคงเส้นคงวาคงเป็น นิยม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังปวงชนไทย ที่อภิปรายว่า ถ้าประชาชนมั่งคั่งครอบครัวจะมั่นคง ประเทศก็จะมั่นคงด้วย แต่การจัดงบประมาณแบบนี้ “ประเทศไม่มั่นคงแต่นายพลมั่งคั่ง” ซึ่งตนไม่อยากให้เป็นแบบนั้น อยากให้รัฐบาลมองเห็นความสำคัญของคนรากหญ้าให้มากกว่านี้
ที่อภิปรายได้เห็นภาพอีกรายคือ นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่หยิบยกเอาประเด็นรัฐบาลสั่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอาเงินสะสม 6 แสนล้านบาท มากระตุ้นเศรษฐกิจ ตรงนี้สะท้อนสถานะทางการคลังรัฐบาล อีกทั้งสะท้อนว่ารัฐบาลไม่สามารถกู้ยืมเงินได้ ส่วนการกระตุ้นโดยใช้บัตรต่าง ๆ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาถือว่าล้มเหลว ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ การแจกเงินในลักษณะนี้เรียกว่า “เฮลิคอปเตอร์มันนี่”
หยิบยกเอาปมนี้ที่เคยกล่าวหา ทักษิณ ชินวัตร มาย้อนศรรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจ โดยนาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ ระบุต่อไปว่า สิ่งที่รัฐบาลนี้ดำเนินการคือมีตังค์แล้วเอาไปแจก เมื่อหมดแล้วก็หมดไป ซึ่งทั่วโลก บอกว่าเป็นนโยบายสิ้นคิด มีแต่ทำให้คนเสียวินัยทางการเงิน ล่าสุดมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ก็ไม่ได้ผล เพราะรัฐอยากให้มีการใช้จ่ายหลาย ๆ ครั้ง แต่ ปรากฏว่าคนใช้ครั้งเดียวจบ การจัดสรรเงินงบประมาณในครั้งนี้สิ้นหวัง ไปจัดสรรใหม่ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ ชะลอการใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ถ้าผิดไปจากนี้จองศาลาจองเมรุไว้ได้เลย
ด้านพรรคอนาคตใหม่ ผู้อภิปรายยังเต็มไปด้วยคุณภาพ หนึ่งในนั้นคือ ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่อภิปรายว่า วันนี้ประเทศมี 5 โจทย์หลักคือ วิกฤตเศรษฐกิจฐานรากที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและเป็นระบบ รัฐราชการรวมศูนย์ ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ความเหลื่อมล้ำ ประชาชนขาดความมั่นคงในชีวิต ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ต้องเร่งฟื้นฟู และรัฐไร้ประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ
ทั้ง 5 โจทย์หลักนี้นำไปสู่ 8 เหตุผลที่ไม่สามารถรับร่างพ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ได้ กล่าวคือ ไม่ช่วยแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในฐานราก รัฐราชการรวมศูนย์ กระจายอำนาจถอยหลัง ใช้จ่ายไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สร้างการแข่งขันระยะยาว ใช้งบไม่โปร่งใส ทำอะไรข้ามหัวสภาฯ พรรคราชการเข้มแข็ง พรรคการเมืองอ่อนแอ สวัสดิการประชาชนกะพร่องกะแพร่งแหว่งกลาง และร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ฉบับนี้ไม่ผ่านสภาฯ อย่ามาโทษฝ่ายค้านว่าทำประเทศเสียหาย
ต้องย้ำกันอีกครั้ง ไม่มีทางที่จะเป็นเช่นนั้น แม้จะเสียงปริ่มน้ำแต่อย่าลืมลิงที่ต้องกินกล้วยและงูเห่าชั่วคราว ที่เตรียมตัวพร้อมอยู่ตลอดเวลา รอแค่ถูกเรียกใช้งาน เนื่องจากอ่านกันขาดในภาวะแบบนี้และมีเรื่องที่จำเป็นต้องใช้ปัจจัยเพื่อความอยู่รอด ควักกันกระจายหรือไม่ไม่รู้ ในเมื่อออกแบบกฎหมายเพื่อสืบทอดอำนาจแล้วไม่เป็นไปตามแผน มันจึงจำเป็นต้องใช้วิธีของนักการเมืองชั่วนักการเมืองเลวที่ไม่ได้อยู่ในแผนปฏิรูปแต่อยู่ในหัวของพวกอยากอยู่ยาวมาโดยตลอด