CKP จ่อ COD รฟฟ.ไซยะบุรี 1,280 เมกฯ 29 ต.ค.นี้ หนุนอัตรากำไรสุทธิปี 63 โตเกิน 10%
CKP จ่อ COD รฟฟ.ไซยะบุรี 1,280 เมกฯ 29 ต.ค.นี้ หนุนอัตรากำไรสุทธิปี 63 โตเกิน 10%
นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี สปป.ลาว กำลังการผลิต 1,280 เมกะวัตต์ (MW) จะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในวันที่ 29 ต.ค.ที่จะถึงนี้ โดยจะขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 1,220 เมกะวัตต์ และขายให้กับการไฟฟ้าของ สปป.ลาว จำนวน 60 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทได้ถือหุ้นโรงไฟฟ้าดังกล่าวในสัดส่วน 37.50%
ทั้งนี้ คาดว่าการ COD ของโรงไฟฟ้าไซยะบุรีจะเป็นปัจจัยหนุนที่ส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิในปี 63 จะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแตะระดับตัวเลขสองหลัก หรือไม่ต่ำกว่า 10% จากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเข้ามาในปี 63 เต็มปี ทำให้อัตรากำไรสุทธิในปี 63 จะเพิ่มขึ้นจากปี 61 ที่มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 7% และในปีนี้คาดว่าจะอยู่ในตัวเลขหลักเดียว
ด้าน นางมัณฑนา เอื้อกิจขจร รองกรรมการผู้จัดการ งานวางแผนธุรกิจ CKP กล่าวว่า รายได้จากการ COD ของโรงไฟฟ้าไซยะบุรีเต็มปีคาดว่าจะอยู่ที่ 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท โดยที่รายได้ในแต่ละไตรมาสของโรงไฟฟ้าไซยะบุรีอาจจะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำและปริมาณการผลิตไฟฟ้าในแต่ละช่วง โดยในช่วงไตรมาส 3 ของทุกปีจะเป็นช่วงหน้าน้ำ ซึ่งจะมีปริมาณน้ำที่มาก ทำให้โรงไฟฟ้าสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากตามไปด้วย ส่งผลให้รายได้ในไตรมาส 3 จะเป็นไตรมาสที่บริษัทประเมินว่าโรงไฟฟ้าจะมีรายได้มากที่สุดของปี ส่วนอัตรากำไรสุทธิของโรงไฟฟ้าไซยะบุรีทั้งปีคาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 12-15%
ขณะที่ นายธิติพัฒน์ นานานุกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานการเงินบัญชี CKP กล่าวว่า รายได้ในปี 62 คาดว่าจะอยู่ที่ 9,000-10,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 61 ที่มีรายได้ 9.15 พันล้านบาท โดยครึ่งปีแรกที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้ 4.7 พันล้านบาท ซึ่งรายได้ในปีนี้ได้ปัจจัยหนุนจากโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ขนาดกำลังการผลิต 615 เมกะวัตต์ เป็นหลัก แม้ว่าในไตรมาส 3/62 จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าระบบจำนวนน้อย รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนมากสำรองไว้เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้า และในช่วงไตรมาส 4/62 การเริ่ม COD ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ในช่วงปลายเดือนต.ค.ที่จะถึงนี้ จะเข้ามาสนับสนุนกำไรเป็นหลัก จากการบันทึกส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วนการถือหุ้นเข้ามา
สำหรับ ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศลาวและเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพในด้านภูมิศาสตร์ของแหล่งน้ำที่สามารถเข้าไปลงทุนได้ โดยที่การลงทุนในลาวจะมองไปที่ลาวตอนบนของแม่น้ำโขง ที่เป็นช่วงที่ยังมีความลาดชันของเส้นทางน้ำ ส่วนในเมียนมา บริวณที่น่าสนใจจะอยู่บริเวณแม่น้ำสาละวิน ซึ่งถือเป็นทำเลที่มีศักยภาพในการเข้าไปลงทุน เพราะมีปริมาณไหลของน้ำมาก ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้จำนวนที่มากตามไปด้วย
นอกจากนี้บริษัทยังสนใจการลงทุนโครงการโซลาร์รูฟท็อป และโรงไฟฟ้าประเภท SPP ตามแผน PDP2018 ของกระทรวงพลังงาน เพื่อที่จะทำให้เป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งของบริษัทในปี 68 เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ 5,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งอยู่ที่ 2,167 เมกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ 939 เมกะวัตต์ ซึ่งสัดส่วนของโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่มากกว่า 50% ยังคงเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเป็นหลัก