“กลุ่มธนาคาร” โชว์งบฯ 9 เดือนกวาดกำไร 1.65 แสนล้าน! CIMBT-SCB-TCAP-BAY โตเด่น
"กลุ่มธนาคาร" โชว์งบฯ 9 เดือนกวาดกำไร 1.65 แสนล้าน! CIMBT-SCB-TCAP-BAY โตเด่น
“กลุ่มธนาคารพาณิชย์” ประกาศงบการเงินไตรมาส 3/62 และงวด 9 เดือนแรกปี 2562 ครบแล้วทั้ง 11 แห่ง โดยกำไรสุทธิรวมไตรมาส 3/62 อยู่ที่ 56,233 ล้านบาท โต 2.02% จากไตรมาส 3/61 อยู่ที่ 55,121 ล้านบาท และงวด 9 เดือนปี 2562 มีกำไรสุทธิรมอยู่ที่ 165,576 ล้านบาท โต 2.72% จากงวด 9 เดือนปี 2561 อยู่ที่ 161,194 ล้านบาท
โดยจากการรวบรวมข้อมูลของทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” พบว่า มีกลุ่มธนาคารทำผลงานไตรมาส 3/62 และงวด 9 เดือนแรกปี 2562 ได้โดดเด่นกลุ่มอาทิ CIMBT,SCB,TCAP,BAY ดังตารางประกอบ
โดยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 3/62 มีกำไรสุทธิ 298.13 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 177.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68% ส่วนงวด 9 เดือนแรกปี 2562 มีกำไรสุทธิ 728.06 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 537.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35%
โดยผลการดำเนินงานไตรมาส 3/62 เพิ่มขึ้นเนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็น 4,092.35 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 3,906.75 ล้านบาท และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการไตรมาส 3/62 เพิมขึ้นเป็น 687.62 ล้านบาท จากช่วงปีก่อน 516.98 ล้านบาท และสำรองหนี้สูญ-หนี้สงสัยจะสูญไตรมาส 3/62 ลดลงมาอยู่ที่ 584.35 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 931.30 ล้านบาท
ส่วนผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน 2562 มีกำไรสุทธิ 728.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 190.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 35.5% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปี 2561 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานร้อยละ 2.3 และการลดลงของสำรองหนี้สงสัยจะสูญร้อยละ32.7สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานร้อยละ17.4
โดยรายได้จากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิร้อยละ 3.1 เป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อและการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินลงทุนและการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและการบริการสุทธิจำนวน 97.8 ล้านบาทหรือร้อยละ6.8 มาจากการเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมจากการจำหน่ายผลิตภัณพ์ประกันภัยและค่าธรรมเนียมจากการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์
ส่วนรายได้อื่นลดลงจำนวน 103.7 ล้านบาทหรือร้อยละ 13.4 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของขาดทุนสุทธิจากหนี้สินทางการเงินที่กำหนดให้แสดงด้วยมูลค่ายุติธรรมกับกำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ
สำหรับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 3/62 มีกำไรสุทธิ 14,798 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10,508 ล้านบาท โต 40.8% ส่วนงวด 9 เดือนแรกปี 2562 มีกำไรสุทธิ 34,930 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 32,984 ล้านบาท โต 5.90%
โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ธนาคารมีกำไรสุทธิมาจากกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติจำนวน 10,484 ล้านบาท และกำไรพิเศษจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตจำนวน 11,644 ล้านบาท ซึ่งในไตรมาสนี้ ธนาคารได้ตั้งสำรองเพิ่มเติมอีก 9,100 ล้านบาท จากสำรองปกติที่จำนวน 6,173 ล้านบาท รวมเป็นเงินสำรองทั้งสิ้น 15,273 ล้านบาท สำหรับเก้าเดือนแรกของปี 2562 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 34,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับการขายหุ้นในบริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ SCBLIFE และการเข้าทำสัญญาจัดจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตผ่านธนาคารระยะยาว (Bancassurance) กับ FWD Group Financial Services Pte. Ltd. เสร็จสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2562
ดังนั้นผลการดำเนินงานของ SCB Life จนถึงวันที่การทำธุรกรรมซื้อขายเสร็จสมบูรณ์จึงยังรวมอยู่ในผลการดำเนินงานของธนาคาร จากการขายหุ้นดังกล่าว ธนาคารได้รับเงินทั้งสิ้น 9.27 หมื่นล้านบาท และมีกำไรจากเงินลงทุน (ก่อนหักภาษี) จำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท การขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตยังส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุน ชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของของธนาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เนื่องจากเงินลงทุนในธุรกิจประกันภัยต้องใช้ เงินกองทุนที่สูงกว่าเงินลงทุนทั่วไปหลายเท่าตัว
นอกจากนี้ จากเงินจำนวนที่ได้รับ 9.27 หมื่นล้านบาท ธนาคารจะทยอยรับรู้เงินจำนวน 1.77 หมื่นล้านบาทเป็นรายได้ตลอดระยะเวลา 15 ปี ตามนโยบายบัญชีของธนาคาร โดยธนาคารยังจะได้รับค่าตอบแทนสำหรับการขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตตลอดช่วงระยะเวลาความร่วมมือในการ จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตผ่านธนาคาร
ส่วนบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 3/62 มีกำไรสุทธิ 2,472 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,870 ล้านบาท โต 32.2% ส่วนงวด 9 เดือนแรกปี 2562 มีกำไรสุทธิ 6,387 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5,820 ล้านบาท โต 9.74%
โดยผลการดำเนินงานที่ปรับตัวขึ้นในไตรมาส 3/2562 เนื่องจากบริษัทมีรายได้จากดอกเบี้ยในงบการเงินรวมพิ่มขึ้นมาที่ 32,681 ล้านบาท จากไตรมาส 3/61 ที่ระดับ 18,620 ล้านบาท ส่งผลให้รวมรายได้จากการดำเนินงานมาอยู่ที่ระดับ 2,113,911 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนที่ระดับ 1,753,965 ล้านบาท
ขณะที่ช่วง 9 เดือนของปี 2562 บริษัทมีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 4.75% รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 2.56% สาเหตุจากกำไรจากเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญลดลง 25.12%
ด้านธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/62 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.62 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 6,564 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6,215ล้านบาท โต 5.62% ส่วนงวด 9 เดือนแรกปี 2562 มีกำไรสุทธิ 26,311 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18,703 ล้านบาท โต 40.68%
โดยผลการดำเนินงานมีกำไรเพิ่มขึ้นเนื่องจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ส่วนใหญ่มาจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียและกำไรจากการจำหน่ายทรัพย์สินรอการขาย
นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า กำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวน 26.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 ตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้น 6.4% หรือจำนวน 106.5 พันล้านบาท จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561
สำหรับการเติบโตของสินเชื่อครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ โดยสินเชื่อเพื่อรายย่อยยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักโดยเพิ่มขึ้นจำนวน 54.5 พันล้านบาท หรือ 6.9% ขณะที่สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพิ่มขึ้นจำนวน 31.0 พันล้านบาท หรือ 5.0% และ 21.0 พันล้านบาท หรือ 8.4% ตามลำดับ
ขณะที่การเติบโตของเงินรับฝาก เพิ่มขึ้น 4.8% หรือจำนวน 68.7 พันล้านบาท จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 ด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ 40.0% หรือจำนวน 10.2 พันล้านบาท จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 ปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการบันทึกกำไรจากการขายหุ้นของบริษัท เงินติดล้อ จำกัด และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุน
อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ อยู่ที่ 42.6% ปรับตัวดีขึ้นจาก 46.7% ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2561 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.68% จาก 3.81% ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2561 ปัจจัยหลักมาจากการขายหุ้น 50% ของบริษัท เงินติดล้อ จำกัด ขณะที่ผลตอบแทนในสินเชื่อประเภทอื่นไม่มีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 2.01% จาก 2.08% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561
ด้านอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ อยู่ที่ 167.0% ปรับตัวดีขึ้นจาก 160.8% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 และอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ยังคงแข็งแกร่งที่ระดับ 16.46%
นายอาคิตะ กล่าวอีกว่า จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่ออุปสงค์ภายในประเทศและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ กรุงศรีคาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากที่ประเมินไว้ก่อนหน้า โดยปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลงมาอยู่ที่ 2.9% จาก 3.2%
อย่างไรก็ตาม จากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะยังคงเกื้อหนุนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจต่อเนื่องในไตรมาส 4 กรุงศรีคาดว่าการขยายตัวของสินเชื่อสำหรับปี 2562 จะอยู่ในกรอบบนของเป้าหมายที่ 6-8%
ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าของไทยด้านสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินฝาก และเป็นหนึ่งในห้าสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.78 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.50 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.27 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 263.92 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 16.46% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 11.79%
บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กลุ่มแบงก์กำไรตามคาดโดย 8 แบงก์ยังไม่รวม KBANK มีกำไรสุทธิ 4.5 หมื่นลบ. +6% เทียบไตรมาสก่อนหน้า, +2% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนส่วนกำไรปกติ ไม่รวมการขาย SCBLife อยู่ที่ 4.09 หมื่นลบ. ทรงตัวทั้ง เทียบไตรมาสก่อนหน้า, เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยรวมใกล้เคียงคาด กรลดดอกเบี้ย MOR, MRR ไม่ได้กระทบรายได้ดอกเบี้ยรับ รายได้ดอกเบี้ยรับยังเติบโตจากการปรับสัดส่วนสินเชื่อเป็น high-yield มากขึ้น
ขณะที่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยทำได้ดีกว่าคาด จากการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียม และกำไรจากเงินลงทุน ขณะที่แรงกดดันมาจากสำรองที่สูงขึ้น (รองรับความเสี่ยงของศก.) และ NPL ที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นจากการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิในหลายธนาคาร และรายจ่ายสูงขึ้นเช่นค่ากรตลาด ค่าพนักงาน
โดยธนาคารที่กำไรออกมาดีกว่าคาดมี TCAP, BBL, KKP, TMB ส่วน BAY, KTB กำไรน้อยกว่าคาด สำหรับ TISCO, SCB กำไรเป็นไปตามคาด ยังให้น้ำหนัก Neutral จากความกังวลต่อการฟื้นตัวของศก.ที่ช้า ปัจจัยบวกเดียวคือราคาที่ถูก ยังคงเลือก Top picks เป็น TISCO (เป้าปีหน้า 116 บาท) และ SCB (เป้าปีหน้า 150 บาท)
บล.คิงส์ฟอร์ด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กลุ่มธนาคาร แนะนำทยอยซื้อ งบ 9 ธนาคารงวดไตรมาส 3/62 (ไม่รวม KBANK) มีกำไรที่ 4.36 หมื่นลบ. -3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, +1%เทียบไตรมาสก่อนหน้า สินเชื่อเติบโตได้ช้าเพียง 2-3% เทียบกับเป้าทั้งปีที่ 5% ขณะที่ NIM ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนส.ค.มากนัก ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังทรงตัว รายได้ค่าธรรมเนียมมีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อย
โดยไตรมาสนี้จะเห็น NPL ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด น่าจะเป็นการจัดชั้นสินเชื่อ SM ให้เป็น NPL เพื่อช่วงลดภาระในปีหน้าเมื่อเข้าสู่ TFRS9 ซึ่งธนาคารส่วนใหญ่ได้มีการขายเงินลงทุนและทรัพย์สินรอการขายเป็นกำไรชดเชยผลการดำเนินงานหลักที่ชะลอตัวและลดการถือครอง Risk Weighted Asset มองราคาหุ้นกลุ่มแบงก์หลายตัวลงมามากแล้วจึงแนะนำ ทยอยซื้อ TCAP([email protected]บาท), TISCO([email protected]บาท) ปันผลดี dividend yield 7-8%
ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน