“ศุภชัย”มองข้ามช็อต! หลังปิดดีลไฮสปีดเทรน เล็งดันCPHเข้าตลาดฯ-พร้อมลุยแอร์พอร์ตลิงค์ใน2ปี
"ศุภชัย"มองข้ามช็อต! หลังปิดดีลไฮสปีดเทรน เล็งดันCPHเข้าตลาดฯ-พร้อมลุยแอร์พอร์ตลิงค์ใน2ปี
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หนึ่งในผู้ถือหุ้น บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งและพันธมิตร:CPH) คู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินระยะทาง 220 กม.มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท เปิดเผยว่า หลังจากลงนามสัญญาวันนี้แล้วบริษัทจะเริ่มงานก่อสร้างโดยเร็วภายใน 12 เดือน แต่ไม่เกิน 24 เดือน ซึ่งยอมรับว่าในช่วงดอนเมือง-พญาไท เป็นช่วงก่อสร้างที่ยากที่สุด
ทั้งนี้ งานโยธาจะมี บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD จะเข้ามาดำเนินการ ส่วนระบบรางรถไฟความเร็วสูงจะเป็น China Railway Construction Corporation (CRCC) จะเข้ามาดูแล ส่วนการดำเนินการเดินรถจะมีบริษัททางรถไฟแห่งชาติอิตาลี ( Ferrovie Dellio Stato Intaliane S.P.A.) พันธมิตรทั้งหมดจะหารือกันในรายละเอียด ยังไม่ได้ข้อสรุปในขณะนี้
สำหรับแหล่งเงินทุน จะใช้จากเงินกู้ ซึ่งจะมีสัดส่วนการลงทุนในประเทศที่ใช้เงินบาทส่วนใหญ่เป็นงานโยธา สัดส่วนลงทุน 65-70% และอีก 30-35% เป็นเงินสกุลดอลลาร์ที่ลงทุนด้านระบบและเทคโนโลยี รวมทั้งจะได้รับเงินสนับสนุนของทั้งรัฐบาลจีนและญี่ปุ่น ทั้งนี้ยังต้องหารือในรายละเอียดเสียก่อน
ขณะที่ในส่วนทุนมีแนวโน้มจะมีผู้ร่วมทุนเข้ามาเพิ่มเติมอีก ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรต่างประเทศ ซึ่งการเพิ่มผู้ถือหุ้นจะมีการแจ้งกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รับทราบ อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้ปิดกั้นพันธมิตรในประเทศที่จะเข้ามาร่วมด้วย
นายศุภชัย กล่าวย้ำว่า สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด จะไม่ต่ำกว่า 51% ในช่วงระหว่างก่อสร้าง หรือ ภายใน 6 ปีจากนี้ เพราะต้องการการตัดสินใจที่เด็ดขาด และเพื่อทำให้โครงการเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว จากในทีโออาร์ที่กำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องไม่ต่ำกว่า 40%
อนึ่ง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 70% ที่เหลือเป็น บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ถือ 10% CK ถือ 5% ITD ถือ 5% และ CRCC ถือ 10%
นอกจากนั้น ในอนาคตหากโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินเปิดดำเนินการได้ และเห็นแนวโน้มรายได้ชัดเจน ก็มีแผนจะนำบริษัทร่วมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน
“ภาคเอกชนกลัวที่สุดคือความเสี่ยง เงินลงทุนร่วมแสนล้าน และมี consortium อยู่หลายราย ถ้าดำเนินการแล้วขาดทุนมันก็จะไม่ใช่แสนล้าน เรื่องนี้เราได้ศึกษากันอย่างละเอียดเราก็มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำให้สำเร็จได้ ดังจะเห็นได้ว่าทางคณะกรรมการก็มีความเข้มงวดมาก การเจรจาเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา เพราะว่าเราเป็นโครงการแรกที่เป็น PPP ทีโออาร์ที่ออกมาก็เป็นทีโออาร์แรกที่ใช้กับ PPP เป็น size ที่ใหญ่กว่าที่เราทำหลายเท่า มีต่างประเทศเข้ามาช่วยดูด้วย เพราะฉะนั้นก็หวังว่าตัวโครงการนี้น่าจะเป็นโครงการนำร่องไปสู่โครงการ PPP อื่น การปฏิบัติสิ่งหนึ่งจะต้องมีความยืดหยุ่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อนำไปใช้ในโครงการต่อๆไป” นายศุภชัย กล่าว
ด้าน นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยว่า การนำบริษัทร่วมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นนโยบายของ EEC ว่าเมื่อมีโครงการขนาดใหญ่จะผลักดันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งตนได้ขอให้ทางตลาดหลักทรัพย์ส่งทีมมาช่วยดูแลแล้ว
ส่วนคณะผู้บริหารโครงการ จะมีตัวแทนจะจากภาครัฐ เช่น รฟท. อีอีซี และเอกชนเข้ามาร่วมกันบริหาร โดยใช้ระเบียบของ อีอีซี
ขณะที่ นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า เราพยายามจะปิดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุดแล้ว ซึ่งมากกว่าโครงการอื่นที่ผ่านมา จากนี้ไปปีแรกคงยังไม่เห็นรูปร่างโครงการ แต่ยอมรับว่าผู้รับเหมาก่อสร้างไทยมีความสามารถที่จะดำเนินโครงการ หรือ เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงที่เรียนรู้จากต่างชาติ ในการควบคุมการเดินรถ และ การซ่อมบำรุง
อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นหรือเหตุผลอื่นใดให้ไม่สามารถดำเนินโครงการได้ทั้งหมด และเปิดได้บางส่วน ก็สามารถเบิกจ่ายให้เอกชนได้ แต่ต้องผ่านการอนุมัติจากบอร์ด EEC และครม. ซึ่งเป็นไปตามทีโออาร์ข้อที่ 18
นอกจากนี้ ภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี กลุ่ม CPH จะต้องนำเงินมาเพื่อลงทุนในกิจการแอร์พอร์ตเรลลิงค์เป็นเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้กลุ่ม CPH ก็จะมาทำดิวดิลิเจนซ์แอร์พอร์ตเรลลิงค์ต่อไป