TU กู่ไม่กลับ..!?

น่าห่วงจริง ๆ..! กรณีราคาหุ้นบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา รูดหนักสองวันติด โดยวันพฤหัสบดีที่ 24 ต.ค. ปิดตลาดที่ระดับ 14.10 บาท ปรับลดลงไป 1.10 บาท หรือคิดเป็นลดลง 7.24% และวันศุกร์ที่ 25 ต.ค. ระหว่างวันปรับลงต่ำสุดที่ 13.80 บาท ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 14.00 บาท ปรับลดลง 0.10 บาท หรือคิดเป็นลดลง 0.71%


สำนักข่าวรัชดา

น่าห่วงจริง ๆ..! กรณีราคาหุ้นบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา รูดหนักสองวันติด โดยวันพฤหัสบดีที่ 24 ต.ค. ปิดตลาดที่ระดับ 14.10 บาท ปรับลดลงไป 1.10 บาท หรือคิดเป็นลดลง 7.24% และวันศุกร์ที่ 25 ต.ค. ระหว่างวันปรับลงต่ำสุดที่ 13.80 บาท ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 14.00 บาท ปรับลดลง 0.10 บาท หรือคิดเป็นลดลง 0.71%

ถือเป็นราคานิวโลว์รอบเกือบ 6 ปี โดยเทียบตั้งแต่ลงไปทดสอบระดับ 14.25 บาท เมื่อวันที่ 4 พ.ย.56

หลายคนสงสัยว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับหุ้นพิมพ์นิยมตัวนี้..?

คำอธิบาย…เกิดความกังวลจากข้อพิพาทการผูกขาดธุรกิจทูน่าในสหรัฐฯ หลังมีข่าวว่าทาง US Department of Justice (DOJ) ลดการเรียกพยานเพิ่มเติมจาก Tri-Union Seafoods’ Chicken of the Sea International (COSI) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ TU

จึงเกรงกันว่า TU จะถูกฟ้องร้องเพิ่มเติม

ส่งผลให้นักลงทุนพากันเทขายหุ้น TU แบบไม่ยั้งอย่างที่เห็น

แต่หากย้อนไปดูรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นว่าราคาหุ้น TU ปรับลดลงไปแล้ว 7.89% ส่วนรอบ 1 เดือน ปรับลดลง 16.17% และรอบ 3 เดือน ปรับลดลง 25.93%

นั่นแสดงให้เห็นว่า นอกจากข้อพิพาทการผูกขาดธุรกิจทูน่าในสหรัฐฯ…TU ยังถูกปัจจัยอื่น ๆ กดดัน

ปัจจัยแรก..เรื่องเงินบาทที่แข็งค่า เนื่องจาก TU เป็นบริษัทที่มีรายได้หลัก 70-80% มาจากต่างประเทศ ทำให้ได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ

โดยไตรมาส 3/62 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 7-10% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ยูโร และปอนด์ ส่งผลให้ยอดขายรวมลดลง 5.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากฐานที่สูงและโตเพียง 0.2% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

แถมยังถูกซ้ำเติมจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ตลาดอเมริกาและยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักกำลังซื้อลดลง ส่งผลต่อยอดขายอย่างมีนัยสำคัญ

ทำให้ถูกประเมินว่า กำไรจากการดำเนินงานไตรมาส 3/62 จะลดลง 16% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 9% จากไตรมาสก่อนหน้า สู่ระดับ 1.4 พันล้านบาท จากยอดขายคาดว่าลดลง 6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

แต่มาร์จิ้นจะปรับดีขึ้นเป็น 16.6% จาก 15.7% ในไตรมาส 3/61 เนื่องจากราคาทูน่า ยังทรงตัวอยู่ระดับต่ำ -17% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อยู่ที่ 1,217 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน

ส่งผลให้กำไรสุทธิบรรทัดสุดท้ายไตรมาส 3/62 เติบโตได้ทั้งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยไตรมาสนี้คาดว่าจะไม่มีรายการค่าใช้จ่ายพิเศษเกี่ยวกับกรณีฟ้องร้อง

ดู ๆ ไปจะเห็นว่า ปัจจัยพื้นฐาน TU ไม่ค่อยดีเอาซะเลย  แต่ก็เป็นเรื่องที่นักลงทุนรับรู้กันไปพอสมควรแล้ว

ส่วนอีกปัจจัยน่าจะมาจากการที่ TU เตรียมขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ หรือเรียกอีกอย่าง “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” วงเงินไม่เกิน 6 พันล้านบาท ในวันที่ 26-28 พ.ย.นี้

นั่นหมายความว่า หากมาตรฐานบัญชี TAS 32 ฉบับใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ต้นปี 2563 ไม่ถูกเลื่อนออกไป หุ้นกู้ของ TU ก้อนนี้จะถูกบันทึกเป็นหนี้ทันที.!

จะทำให้ TU ต้องแบกภาระหนี้เพิ่มขึ้น และจะไปกดดันกำไรสุทธิบรรทัดสุดท้าย (ปัจจุบัน TU มีหนี้สินรวมอยู่ที่ 94,103 ล้านบาท หากรวมหนี้หุ้นกู้ก้อนดังกล่าว หนี้สินรวมจะเพิ่มเป็น 100,103 ล้านบาท)

นี่อาจเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนรู้สึกไม่สบายใจ…จึงพร้อมใจกันเทขายหุ้น TU

ดังนั้นโจทย์ของผู้บริหารจึงต้องเร่งดึงความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมา

ก่อนที่จะกู่ไม่กลับ…เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน..!

…อิ อิ อิ…

Back to top button