สหรัฐตัดสิทธิ GSP ไทย.!?

กลายเป็นโจทย์ใหญ่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ประกาศระงับสิทธิพิเศษภาษีศุลกากร (GSP) กับประเทศไทย รวมมูลค่า 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 40,000 ล้านบาท) มุ่งเป้าที่สินค้าอาหารทะเล มีผลบังคับใช้วันที่ 25 เม.ย. 2563 ด้วยข้ออ้าง “ปัญหาด้านสิทธิแรงงานที่ยืดเยื้อมายาวนานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลและการเดินเรือ” นั่นเอง


พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง

กลายเป็นโจทย์ใหญ่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ประกาศระงับสิทธิพิเศษภาษีศุลกากร (GSP) กับประเทศไทย รวมมูลค่า 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 40,000 ล้านบาท) มุ่งเป้าที่สินค้าอาหารทะเล มีผลบังคับใช้วันที่ 25 เม.ย. 2563 ด้วยข้ออ้าง “ปัญหาด้านสิทธิแรงงานที่ยืดเยื้อมายาวนานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลและการเดินเรือ” นั่นเอง

แต่ลึก ๆ นี่ถือเป็นการตอบโต้ทางการไทย ที่สั่งแบน 3 สารพิษที่สหรัฐฯ ทักท้วง ผ่านสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ที่ทำหนังสือถึงรัฐบาลไทย มาก่อนหน้านี้หรือไม่..!?

คำว่า GSP มีชื่อย่อมาจาก Generalized System of Preferences หมายถึง ระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป ที่ประเทศที่พัฒนาแล้วให้แก่สินค้าที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศที่กำลังพัฒนา ด้วยการลดหย่อนหรือยกเว้นอากรขาเข้าแก่สินค้า ที่มีอยู่ในข่ายได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า โดยประเทศผู้ให้สิทธิพิเศษ จะเป็นผู้ให้แต่เพียงฝ่ายเดียวไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น..!!

ระบบ GSP เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะนั้นเศรษฐกิจโลกประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ความเสียเปรียบในการแข่งขันสินค้าจากประเทศที่กำลังพัฒนา เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แนวความคิดเกี่ยวกับระบบ GSP จึงเกิดขึ้น โดยการประชุมขององค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยการค้าและการพัฒนาสมัยที่ 1 ที่นครเจนีวา เมื่อปี 2507 มีความมุ่งหมาย เพื่อที่จะยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา

วิธีการช่วย เหลือทางการค้าได้แก่ การที่ประเทศพัฒนาแล้วช่วยเพิ่มความสามารถการแข่งขัน โดยลดหย่อนภาษีขาเข้าแก่สินค้าที่นำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนาจึงเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นการประชุม UNCTAD สมัยที่ 2 ณ กรุงนิวเดลฮี ประเทศอินเดีย เมื่อต้นปี 2511 ที่ประชุม จึงมีมติยอมรับระบบ GSP (ปัจจุบันมีประเทศพัฒนาแล้วเข้าร่วม 28 ประเทศ)

โดยสรุปการมีระบบ GSP เพื่อเพิ่มรายได้จากการส่งออกให้ประเทศที่กำลังพัฒนา ส่งเสริมอุตสาหกรรมประเทศที่กำลังพัฒนา และเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนา..นั่นเอง

สำหรับขอบเขตสินค้า จะกำหนดรายชื่อสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP แต่มีการสงวนสิทธิไม่ให้ GSP สินค้าบางรายการ กล่าวคือ สหภาพยุโรป ให้สิทธิ GSP แก่สินค้าอุตสาหกรรมเกือบทุกรายการ ส่วนสินค้าเกษตรให้สิทธิพิเศษ บางรายการ สินค้าที่ไม่ได้รับสิทธิ GSP ส่วนมากเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ทางเกษตร

ขณะที่สหรัฐอเมริกา ให้สิทธิพิเศษสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมประมาณ 4,400 รายการ แต่สินค้าที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับสิทธิ คือสิ่งทอ, และผลิตภัณฑ์สิ่งทอ รองเท้า, เครื่องแก้ว, เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก, ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม, สินค้าเกษตร บางรายการเป็นต้น

ส่วนญี่ปุ่น ให้ GSP ทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม สำหรับสินค้าที่ไม่ได้สิทธิ GSP ส่วนมากเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ทางเกษตร

ที่ผ่านมาสหรัฐฯ มีการยกเลิกการให้สิทธิ GSP แก่ประเทศต่าง ๆ เหตุไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ ได้แก่ กรณีไม่คุ้มครองสิทธิแรงงาน เช่น บังกลาเทศ ในปี 2556 เบลารุส ในปี 2543 กรณีไม่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ฮอนดูรัส ในปี 2541 ยูเครน ในปี 2544 แต่เมื่อประเทศที่ถูกยกเลิก GSP มีการปรับปรุงและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์จะได้สิทธิ GSP กลับคืนมา

แต่มีบางประเทศ..ที่ถูกยกเลิกสิทธิ GSP เป็นการถาวร เมื่อมีระดับการพัฒนาประเทศสูงมาก จนไม่จำเป็นต้องได้รับสิทธิ GSP แล้ว ได้แก่ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง ในปี 2532 มาเลเซีย ในปี 2541 และรัสเซีย ในปี 2556

กรณีสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ครั้งนี้จะด้วยความตั้งใจหรือบังเอิญไปเกี่ยวกับการแบน 3 สารพิษหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆครั้งนี้..คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย..!!!

 

28 ประเทศที่ให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP)

ประเทศ วันที่เริ่มให้ GSP
ออสเตรเลีย 1 กรกฎาคม 2509
กลุ่มสหภาพยุโรป (15 ประเทศ) 1 กรกฎาคม 2514
ญี่ปุ่น 1 สิงหาคม 2514
นิวซีแลนด์ 1 มกราคม 2515
แคนาดา 1 กรกฎาคม 2517
สหรัฐอเมริกา 1 มกราคม 2519
สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA)
นอร์เวย์
สวิตเซอร์แลนด์

1 ตุลาคม 2514
1 มีนาคม 2515
สังคมนิยมยุโรปตะวันออก
รัสเซีย
ฮังการี
บัลกาเรีย
สาธารณรัฐเช็กและสโลวาเกีย
โปแลนด์
1 มกราคม 2508
1 มกราคม 2515
1 เมษายน 2515
28 กุมภาพันธ์ 2515
1 มกราคม 2519

ที่มา : กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

Back to top button