PPPM รับปีนี้อาจขาดทุนต่อหลังค่าใช้จ่ายพุ่ง เร่งเคาะแผนเคลียร์หนี้หุ้นกู้รอบถัดไป 200 ลบ.
PPPM ยอมรับผลงานปีนี้อาจขาดทุนต่อเป็นปีที่ 3 หลังค่าใช้จ่ายพุ่งสูงเกินกว่ารายได้ พร้อมเร่งเคาะแผนเคลียร์หนี้หุ้นกู้รอบถัดไป 200 ลบ.
นายวรุณ อัตถากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีพี ไพร์ม จำกัด (มหาชน) หรือ PPPM เปิดเผยว่า ปัจจุบันคณะกรรมการบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง ภายหลังจากที่บริษัทมีกำหนดต้องชำระเงินให้กับผู้ถือหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอนอีกจำนวน 3 รุ่น ประกอบด้วย รอบแรกคือหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2561 (TLUXE205A) จำนวน 200 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 8 พ.ค.63 , รอบถัดไปคือหุ้นกู้ครั้งที่ 2/2561 รุ่น TLUXE198A จำนวน 319.50 ล้านบาท ที่เลื่อนชำระออกไปเป็นวันที่ 2 ก.ค.63 และรอบสุดท้ายเป็นหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2562 (PPPM213A) จำนวน 207.60 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 18 มี.ค.64
สำหรับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในชุดแรกจำนวน 200 ล้านบาทนั้น เบื้องต้นบริษัทศึกษาการชำระหนี้ไว้ 3 แนวทาง ได้แก่ แนวทางแรกคือการนำกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินกิจการในปัจจุบันมาชำระหนี้หุ้นกู้ ,แนวทางที่ 2 การรีไฟแนนซ์ โดยใช้วิธีการกู้เงินจากสถาบันการเงินหรือแหล่งเงินทุนอื่นที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำมาชำระคืนทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า เนื่องจากช่วงนี้แนวโน้มดอกเบี้ยเป็นขาลง เชื่อว่าในกรณีถ้ากู้เงินรอบใหม่มีโอกาสได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเดิม แม้ว่าปัจจุบันจะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน แต่บริษัทยังมีสินทรัพย์ที่เป็นมูลค่าเพียงพอต่อการค้ำประกันเงินกู้ชุดใหม่ และแนวทางที่ 3 คือตัดขายสินทรัพย์หรือธุรกิจที่ไม่มีความจำเป็นออกไป
นายวรุณ กล่าวอีกว่า สำหรับทิศทางผลประกอบการในปี 62 ยังมีโอกาสขาดทุนต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการบริหารงานและเงินลงทุนยังเป็นสัดส่วนสูงกว่ารายได้ แม้ว่าธุรกิจอาหารสัตว์น้ำและสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นธุรกิจหลักยังเติบโตได้ดี โดยปีนี้คาดมีรายได้เฉลี่ยราว 2 พันล้านบาท หรือเติบโต 3-5% ต่อปี และมีศักยภาพทำกำไรสูงขึ้น เพราะได้รับอานิสงส์จากเงินบาทแข็งค่าและนำเข้าวัตถุดิบหลักอย่างถั่วเหลืองที่มีราคาถูกลงจากผลของสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทยังมีค่าใช้จ่ายจากการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน Geothermal ในประเทศญี่ปุ่น เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มบันทึกรายได้เข้ามาในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ปัจจุบันมีจำนวน 12 โครงการ ในกรณีทุกโครงการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้เรียบร้อย จะรับรู้เป็นรายได้รวมกว่า 140 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ยโครงการละ 12 ล้านบาทต่อปี เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญช่วยผลักดันผลประกอบการของบริษัทพลิกกลับมาดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
“ผมขอใช้เวลา 1 ปีกวาดล้างบ้านให้สะอาดก่อน แม้ว่าระยะสั้นจะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง แต่เราก็พยายามปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ให้มีความเหมาะสมทั้งช่วงเวลาและอัตราดอกเบี้ยที่บริษัทสามารถชำระได้โดยไม่เกิดปัญหา จากปัจจุบันบริษัทมีดอกเบี้ยต้องชำระปีละ 60-90 ล้านบาท ด้านธุรกิจหลักผลิตอาหารสัตว์เรามองว่ามีโอกาสเติบโตและมีศักยภาพทำกำไรที่ดี ขณะเดียวกันยังมองแนวทางลดต้นทุนในหลายๆด้าน อาทิ พลังงานหรือขนส่ง เป็นต้น ถ้าเป็นไปตามแผนเราก็คาดหวังเช่นกันว่าในปี 63 ทุก ๆ อย่างจะเริ่มกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง” นายวรุณ กล่าว
อนึ่ง นายวรุณ อัตถากร เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหารมีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป แทนการลาออกของ พลเอกเชาวฤทธิ์ ประภาจิตร์ จากตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รองประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร นอกจากนี้แต่งตั้ง นายประวีณ ดีขจรเดช เข้าดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสายบัญชีและการเงิน มีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป