ธปท.เผยตัวเลขส่งออกเดือน ก.ย.หดตัวต่อเนื่อง เหตุเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัว

ธปท.เผยตัวเลขส่งออกเดือน ก.ย.หดตัวต่อเนื่อง เหตุเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัว


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนก.ย.62 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนก.ย.62 ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยการส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัว ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัวตามรายจ่ายลงทุน และภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและอินเดียเป็นสำคัญ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน สำหรับอัตราการว่างงานที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน อย่างไรก็ดี จำนวนผู้มีงานทำปรับลดลงต่อเนื่อง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลงลงตามดุลการค้า ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ในเดือนก.ย.62 มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว 1.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัว 3.3% โดยเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 จาก 1) ภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว 2) วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังไม่ฟื้นตัว และ 3) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่หดตัว ส่งผลให้การส่งออกยังคงหดตัวในหลายหมวดสินค้า

อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าบางหมวดกลับมาขยายตัว อาทิ การส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วน สินค้าเกษตรแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำ และได้รับผลดีจากการส่งออกสินค้าทดแทนไปสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งการย้ายฐานการผลิตมาไทยในช่วงก่อนหน้า

ทั้งนี้ เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเครื่องชี้การลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวต่อเนื่อง ทั้งการนำเข้าสินค้าทุน ยอดขายเครื่องจักรในประเทศ และยอดจดทะเบียนรถยนต์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธุรกิจมีกำลังการผลิตเหลือเพียงพอรองรับอุปสงค์ในอนาคต ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนหมวดก่อสร้างหดตัวตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างที่ลดลงในเกือบทุกวัตถุประสงค์ สอดคล้องกับกิจกรรมในภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง

ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน แม้ในเดือนนี้ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยพยุงกำลังซื้อบางส่วน โดยการใช้จ่ายหมวดบริการและหมวดสินค้ากึ่งคงทนที่ขยายตัวสูงขึ้นช่วยชดเชยการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนที่ชะลอลง และการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนที่หดตัวมากขึ้นตามยอดขายรถยนต์ในประเทศ สอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมที่แผ่วลง

ทั้งรายได้ลูกจ้างนอกภาคเกษตรกรรมที่หดตัวต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังคงลดลง และสินเชื่อรถยนต์ที่ด้อยคุณภาพลงทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังการให้สินเชื่อมากขึ้น ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวสอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ชะลอตัว

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนกลับมาขยายตัวเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่มีการเบิกจ่ายงบลงทุนด้านคมนาคมเป็นสำคัญ ขณะที่รายจ่ายประจำหดตัวตามรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจกลับมาหดตัวตามการเบิกจ่ายของ รฟม. และ ปตท. เป็นหลัก

มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัว 4.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำ มูลค่าการนำเข้าหดตัว 3.5% จาก 1) การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวสอดคล้องกับภาคการผลิตและการส่งออก รวมทั้งการนำเข้าน้ำมันดิบที่หดตัวจากทั้งด้านราคาและปริมาณ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันบางแห่ง และ 2) การนำเข้าสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบินและแท่นขุดเจาะ โดยเฉพาะอุปกรณ์โทรคมนาคมและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่หดตัวสอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคกลับมาขยายตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ค่อนข้างต่ำ

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวเร่งขึ้นที่ 10.1% จากระยะเดียวกันปีก่อน จาก 1) ฐานจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ต่ำจากเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ต 2) มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม visa on arrival ที่มีส่วนทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีน อินเดีย และไต้หวันเพิ่มมากขึ้น และ 3) เหตุความไม่สงบในฮ่องกงที่ทำให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มเปลี่ยนเส้นทางมาไทยแทน นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวสัญชาติเอเชียอื่นที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง อาทิ นักท่องเที่ยวลาว ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.32% ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามราคาหมวดพลังงานที่หดตัวสูงขึ้นจากผลของฐานสูงในปีก่อน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ลดลงตามราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นหลัก สำหรับอัตราการว่างงานที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรมลดลงต่อเนื่องในทุกสาขา ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลง ตามดุลการค้าจากมูลค่าการส่งออกทองคำที่ลดลง ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์ ตามการออกไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นในญี่ปุ่นของภาคสถาบันการเงิน และการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของนักลงทุนไทย โดยเฉพาะการให้กู้ยืมแก่ธุรกิจในเครือ

สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 นายดอน กล่าวว่า อยู่ในภาวะชะลอตัว การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำหดตัวต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศชัดเจนขึ้น โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงในเกือบทุกหมวด การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัว มีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานต่ำในปีก่อนจากเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ต

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ลดลง อัตราการว่างงานที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามจำนวนผู้มีงานทำที่ลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้น ตามดุลการค้าจากการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นและการนำเข้าสินค้าที่หดตัวสูง ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิเล็กน้อยจากด้านหนี้สิน

Back to top button