เสน่ห์ของ SCB
ราคาหุ้น ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ยามนี้ ราคาต่ำกว่า 110 บาท แต่นักวิเคราะห์ทุกสำนักชี้ว่าราคาเป้าหมายปีนี้ต้องเหนือกว่า 140-150 บาท
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
ราคาหุ้น ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ยามนี้ ราคาต่ำกว่า 110 บาท แต่นักวิเคราะห์ทุกสำนักชี้ว่าราคาเป้าหมายปีนี้ต้องเหนือกว่า 140-150 บาท
คำถามคือมั่นใจอะไรกันนักหนา
คำตอบคือ มูลค่าของ SCB ในอนาคต มาจากความสามารถทำกำไรทั้งจากการดำเนินงานปกติ และกำไรพิเศษจากวิศวกรรมการเงิน
ในแง่กำไรจากการดำเนินงาน กำไรปกติ SCB เมื่อสิ้นไตรมาส 3 ปี 2562 ยังคงมีกำไรเพิ่มแม้ไม่มากจากการที่สินเชื่อโดยรวมมีการขยายตัวในระดับปานกลางที่ 2.2% จากปีก่อน แต่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส 3 ปี 2562 เพิ่มขึ้น 7.4% จากกลยุทธ์ของธนาคารในการบริหารความเสี่ยงและการปรับพอร์ตสินเชื่อด้วยการเพิ่มสัดส่วนของสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง
แม้ว่ารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาส 3 ปี 2562 (ที่ไม่รวมรายการพิเศษ) ค่อนข้างทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้หลักจากค่าธรรมเนียมสุทธิ (recurring fee) ยังคงเติบโต โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมจากการให้สินเชื่อและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับความมั่งคั่ง (wealth products)
รายได้ที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางกระแสแรงกดดันจาก อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) เพิ่มขึ้นเป็น 3.01% จาก 2.77% ณ เดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นผลมาจากความผันผวนของเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ส่วนกำไรพิเศษที่เป็นไม้เด็ดคือ มีการบันทึกกำไรที่เกิดจากการขายบริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ SCBLIFE ที่ถือเป็นการ “ฉลาดขาย” อย่างยิ่งยวด
ดีลที่เกิดขึ้นทำให้ SCBLIFE ผ่านดีลวิศวกรรมการเงิน ทำกำไรให้ SCB มาแล้ว 3 ครั้งในรอบ 20 กว่าปีนี้ ครั้งแรกขายหุ้นร่วมทุนแบบมีกำไรให้กับนิวยอร์กไลฟ์ เมื่อปี 2541 ต่อมาซื้อกลับคืนในราคาแพงลิ่วแบบ “ฉลาดซื้อ” เพราะสามารถบันทึกมูลค่า SCBLIFE ทำให้บุ๊กแวลูของ SCB เบ่งพองขึ้น
ครั้งนี้ SCB ปิดดีลขาย “ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต” หรือ SCBLIFE ให้กับกลุ่ม FWD ของลี กาชิง รับเงินสด 9.7 หมื่นล้านบาท โกยกำไร 1.1 หมื่นล้านบาท เตรียมบันทึกไตรมาส 3 นี้ ดันกำไรทะยานเท่าตัวแตะ 2 หมื่นล้านบาท
การขายหุ้นของ SCBLIFE ไม่ใช่ขายทิ้งอย่างเดียว แต่แถมได้อีกเด้งรับเป็นตัวแทนขายผลิตภัณฑ์ 15 ปีได้ปีละ 1.77 หมื่นล้านบาทภายใต้การทำสัญญาจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตผ่านธนาคารเป็นเวลา 15 ปีในประเทศไทยกับกลุ่มเอฟดับบลิวดี (FWD) จะได้รับค่าตอบแทนสำหรับการขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตตลอดช่วงระยะเวลาความร่วมมือในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตผ่านธนาคาร ซึ่งในส่วนนี้ธนาคารจะทยอยรับรู้เงินจำนวน 1.77 หมื่นล้านบาทเป็นรายได้ตลอดระยะเวลา 15 ปี
ทั้งนี้ ลูกค้าที่ถือครองกรมธรรม์ของ SCBLIFE จะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ โดยลูกค้าจะยังคงได้รับผลประโยชน์ ความคุ้มครอง รวมถึงบริการอย่างต่อเนื่องดังที่กำหนดในกรมธรรม์ และกรมธรรม์ของ SCBLIFE จะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องโดย FWD
FWD เกิดจากกลุ่ม ลี กา ชิง ซื้อพอร์ตกรมธรรม์ของ AIG ในเอเชีย (ยกเว้นไทย) มาดำเนินการต่อพันธมิตรระหว่าง FWD กับ SCB จึงเป็นการ “ฉลาดขาย” อีกครั้ง ผ่านแนวทางร่วมเป็นพันธมิตรด้านประกันชีวิตระยะยาว อาศัยจุดแข็งของทั้งสองฝ่ายจะนำพาธุรกิจ
จุดเด่นต่องบการเงินของ SCB ตั้งแต่ไตรมาส 4/62 เป็นต้นไปจะเห็นผลทันที ดังนี้ 1.การรับรู้รายได้/ค่าใช้จ่ายของธุรกิจประกันจะเปลี่ยนไปจากเดิมมีการรับรู้ทั้งรายได้ดอกเบี้ยและรายได้จากการรับประกันภัยรวมทั้งรับรู้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ SCBLIFE ทั้งหมด แต่หลังเสร็จสิ้นธุรกรรม SCB จะรับรู้เฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายประกันและรายได้จากการตัดจำหน่ายตามสัญญา Distribution Agreement (Access Fee) โดยไม่มีค่าใช้จ่ายการดำเนินงานของ SCBLIFE
เรียกว่า ยิงกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว จากการที่ SCB สามารถขยายธุรกิจเพื่อที่จะเพิ่มรายได้ โดยเฉพาะจากธุรกิจความมั่งคั่ง และธุรกิจประกันชีวิตที่ธนาคารไม่ต้องกังวลกับ NPLs และการตั้งสำรอง
กำไรพิเศษที่ตามมาด้วยกำไรปกติยาวนาน ไม่ใช่เรื่องใคร ๆ ก็ทำได้
รายงานกำไรสุทธิของไตรมาส 3 ปี 2562 จำนวน 14,798 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติจำนวน 10,484 ล้านบาท และกำไรพิเศษจากการขายหุ้นในบมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCBLIFE) จำนวน 11,644 ล้านบาท สามารถหักกลบการตั้งสำรองเพิ่มเติมอีก 9,100 ล้านบาทจากสำรองปกติ ช่วยให้สำหรับเก้าเดือนแรกของปี 2562 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 34,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
กำไรสุทธิ 9 เดือนที่เกือบเท่ากับกำไรตลอดปี 2561 จึงน่ายินดีเพราะเป็นสิ่งที่เกิดจาก “กินบุญเก่า” เหลือแค่คำถามเดียวว่า กำไรพิเศษนั้น จะเอามาจ่ายปันผลพิเศษ มากหรือน้อยแค่ไหน
ดูจากกำไรสะสมล่าสุดกว่า 3 แสนล้านบาท การจ่ายปันผลพิเศษให้มากแบบ “เทกระจาด” จึงเป็นเสน่ห์ที่น่ารอคอยไม่ธรรมดา
อยู่ที่นักลงทุนจะคาดหวังแค่ไหน และอดทนแค่ไหน