ประชาชนเฮ! กกพ.ตรึงค่าไฟช่วงม.ค.-เม.ย.63 ลดค่าครองชีพช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว

ประชาชนเฮ! กกพ.ตรึงค่าไฟช่วงม.ค.-เม.ย.63 ลดค่าครองชีพช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว


นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้คงอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บเดือนมกราคม-เมษายน 2563 จำนวน -11.60 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.64 บาทต่อหน่วย ต่ออีก 4 เดือน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 6,869 ล้านบาท ในการบริหารจัดการค่าเอฟที

ทั้งนี้ เงินในการบริหารจัดการเอฟทีในงวด ม.ค.- เม.ย.63  มาจากเงินที่ได้จากค่าปรับกรณีโรงไฟฟ้าไม่สามารถปฏิบัติได้ตามสัญญา และกรณีขาดส่งก๊าซธรรมชาติ จำนวน 264.97 ล้านบาท และส่วนที่เหลือประมาณ 6,604 ล้านบาท มาจากการกำกับฐานะการเงินให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ กกพ. กำหนด ซึ่งเป็นผลจากการประมาณการค่าเชื้อเพลิงในงวดปัจจุบัน (ก.ย.- ธ.ค.62) เทียบกับ ราคาค่าเชื้อเพลิง ณ ปัจจุบัน  ยังต่ำกว่าที่ประมาณการที่ตั้งไว้ และทำให้ยังมีเงินคงเหลือในการบริหารจัดการค่าเอฟที

“แนวโน้มปัจจัยหลายตัวที่ส่งผลกระทบต่อค่าเอฟทีปรับตัวดีขึ้นกว่างวดก่อน อาทิ ราคาก๊าซที่มีแนวโน้มลดลง อัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น ถึงแม้จะยังไม่ทำให้ค่าเอฟทีปรับลดลงได้ในทันที แต่ก็ทำให้ กกพ. สามารถบริหารจัดการค่าเอฟทีได้ดีขึ้น และด้วยความตระหนักถึงการมุ่งลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และการสนับสนุนภาวะเศรษฐกิจโดยรวมให้ปรับตัวดีขึ้นกกพ.ยังคงต้องบริหารจัดการค่าเอฟทีต่อเนื่อง และมีมติตรึงค่าเอฟทีต่ออีก 4 เดือน” นางสาวนฤภัทร กล่าว

สำหรับปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟที ในงวด ม.ค.-เม.ย. 63 ประกอบด้วย ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 63 เท่ากับ 65,724 ล้านหน่วย ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค. 62 ที่คาดว่าจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 64,195 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 2.38% ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากเข้าสู่ฤดูร้อน

สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 63 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 57.71% ถ่านหิน 17.62% และการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 14.75% ขณะที่แนวโน้มราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับ 266.69 บาทต่อล้านบีทียู ปรับตัวลดลงจากงวดที่ผ่านมา 23.70 บาทต่อล้านบีทียู ราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าเอกชนอยู่ที่ 2,471.60 บาทต่อตัน ปรับตัวลดลงจากงวดที่ผ่านมา 267.71 บาทต่อตัน

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนก.ย.เท่ากับ 30.60 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งค่ากว่าช่วงที่ประมาณการในงวดเดือน ก.ย.- ธ.ค. 62 ซึ่งใช้อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนพ.ค.62 ที่ 31.80 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

Back to top button