5 สายการบินต้นทุนต่ำตบเท้าร้อง “อุตตม” ลดภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง หลังต้นทุนพุ่ง ขาดทุนอ่วม

5 สายการบินต้นทุนต่ำตบเท้าร้อง "อุตตม" ลดภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง หลังต้นทุนพุ่ง ขาดทุนอ่วม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 5 สายการบินราคาประหยัด (โลว์คอสต์) ซึ่งประกอบด้วย สายการบินไทยแอร์เอเชีย โดยบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ร่วมด้วย สายการบินนกแอร์ โดยบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK พร้อมทั้ง สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ รวมถึง สายการบินไทยเวียดเจ็ท และ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส โดยบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ทำหนังสือยื่นต่อ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้พิจารณาปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชิ้อเพลิงเครื่องบิน เนื่องจากสายการบินประสบปัญหาขาดทุนท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอส่งผลต่อการท่องเที่ยว และได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก

ด้าน นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร AAV และ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย (TAA) จำกัด กล่าวภายหลังเป็นตัวแทนเข้ายื่นหนังสือว่า น้ำมันเชื้อเพลิงถือเป็นต้นทุนสำคัญของทุกสายการบิน โดยมีสัดส่วน 30-35% ของต้นทุนทั้งหมด ซึ่งในปีนี้ทุกสายการบินประสบปัญหาขาดทุน หากปีหน้ายังไม่มีการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันอากาศยาน ก็อาจจะเห็นบางสายการบินลดขนาด หรือหยุดทำการบิน เพราะที่ผ่านมาสายการบินไม่สามารถผลักภาระภาษีไปได้ทั้งหมด เพราะยังมีการแข่งขันราคากันรุนแรง

ขณะที่ นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าวในฐานะตัวแทนรับหนังสือแทนรมว.คลังว่า ได้หารือและรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการสายการบินโลวคอสต์แอร์ไลน์ที่ต้องการขอปรับลดภาษีสรรพสามิตที่ปัจจุบันเก็บในอัตรา 4.726 บาท/ลิตรที่จัดเก็บ เมื่อ ก.ย. 60 จากเดิมเก็บในอัตรา 0.20 บาท/ลิตร

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมองว่าอัตราดังกล่าวเป็นการปรับขึ้นแบบบก้าวกระโดด ขณะที่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาสภาพเศรษฐกิจผันผวน การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ทำให้ผู้โดยสารทั้งต่างชาติและไทยปรับตัวลดลง ประกอบกับ เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากเดิม 35 บาท/ดอลลาร์ มาที่ 30.20-30-30 บาท/ดอลลาร์ ทำให้สายการบินโลวคอสต์ได้รับผลกระทบมาก และแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นโดยปริยาย อาจมีล้มหายตายจาก ซึ่งก็ไม่ต้องการเห็นภาพเช่นนั้น

โดยในที่ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการสายการบินโลว์คอสต์ได้หารือเป็น 2 แนวทาง โดยผู้ประกอบการเสนอให้ปรับลดอัตราหนึ่งก่อน เพื่อบรรเทาปัญหาต้นทุน และอาจจะทยอยปรับลด 2-3 ปี แล้วแต่การหารือร่วมกันคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมามีทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกัน

ส่วนแนวทางที่ 2 จะปรับลดลงอิงกับค่าเงินบาท เป็นขั้นบันได อาทิ หากเงินบาทอยู่ในช่วง 30-32 บาท/ดอลลาร์ จะจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราหนึ่ง หากเงินบาทอยู่ในช่วง 33-34 บาท/ดอลลาร์ ก็จะมีอัตราจัดเก็บอีกระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ จะเร่งนำเสนอให้ รมว.คลัง และหากเห็นชอบให้ปรับลดภาษีสรรพสามิต ก็จะต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยจะดำเนินการให้เร็วที่สุด

Back to top button