พาราสาวะถี

บ่ายสองวันนี้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพลพรรคอนาคตใหม่ ลุ้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีถือหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด แนวทางการตัดสินมีเพียงแค่ 2 ทางคือ หากศาลวินิจฉัยว่าไม่ผิดธนาธรก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ได้ตามปกติ แต่หากตัดสินว่าผิดตามคำร้อง นอกจากต้องพ้นสมาชิกภาพการเป็นส.ส.แล้ว จะมีโทษตามมาตรา 151 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ตามมาด้วย ซึ่งอย่างหลังนี่แหละที่มีคนเฝ้าจับตากันอยู่


อรชุน

บ่ายสองวันนี้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพลพรรคอนาคตใหม่ ลุ้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีถือหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด แนวทางการตัดสินมีเพียงแค่ 2 ทางคือ หากศาลวินิจฉัยว่าไม่ผิดธนาธรก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ได้ตามปกติ แต่หากตัดสินว่าผิดตามคำร้อง นอกจากต้องพ้นสมาชิกภาพการเป็นส.ส.แล้ว จะมีโทษตามมาตรา 151 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ตามมาด้วย ซึ่งอย่างหลังนี่แหละที่มีคนเฝ้าจับตากันอยู่

หากศาลตัดสินว่ามีความผิด ตามกฎหมายดังกล่าว ผู้สมัครรู้ตัวว่าไม่มีสิทธิแล้วยังสมัครรับเลือกตั้ง ระวางโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี ซึ่งขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยศาลจะเป็นผู้กำหนด ขณะที่ธนาธรเองให้สัมภาษณ์ล่าสุดให้สัมภาษณ์สื่อประกาศลั่น หากติดคุกก็ไม่คิดจะหนี มันสวยงามที่พอจะสู้ ยังคงแน่วแน่กับแนวทางยืนเด่นโดยท้าทาย ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามก็รุมสรัมกันอย่างหนัก โดยการให้ข่าวโจมตีรายวัน

นักการเมืองกับชะตากรรมที่องค์กรอิสระเป็นผู้ชี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติหลังรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เป็นต้นมา ส่วนที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่ปกติของผลที่ออกมาในหลายกรณีนั้น ก็แล้วแต่ว่าใครจะมองมุมไหน ส่วนความน่าเชื่อถือขององค์กรก็เป็นเรื่องระหว่างองค์กรกับประชาชน ใครก็ไปตัดสินแทนไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร ยิ่งกฎหมายใหม่ห้ามให้ร้ายศาลรัฐธรรมนูญด้วยแล้ว จากที่ก่อนหน้านั้นเคยวิเคราะห์วิจารณ์ในเชิงวิชาการกันได้ มันก็น่าจะทำให้องค์กรมีความเชื่อมั่นต่อการสร้างศรัทธาให้ตัวเองอย่างแรงกล้า

ขณะที่ซีกฝ่ายค้านพากันให้กำลังใจธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ ทางด้านซีกรัฐบาลก็มีเรื่องชวนให้พูดถึงกันอยู่ไม่น้อย ทำเนียบรัฐบาลในยุครัฐบาลคสช.ช่วงปลายก่อนที่จะจำแลงแปลงกายตัวเองเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ดูเหมือนจะกลายเป็นสถานที่สำหรับพบปะแลกเปลี่ยนและวางกลยุทธ์ทางการเมืองกันไปเสียแล้ว โดยไม่ต้องเกรงข้อครหาว่าเหมาะสมหรือไม่ แต่หลังการเลือกตั้งเมื่อบางคนในรัฐบาลมีหัวโขนในพรรคการเมืองด้วยก็ยิ่งทำให้ชอบธรรมที่จะมีคนเข้าพบเป็นเรื่องธรรมดา

อย่างล่าสุด การปรากฏตัวของ สิระ เจนจาคะ และ ปารีณา ไกรคุปต์ สองส.ส.ของพรรคสืบทอดอำนาจ ที่กำลังก่อหวอดขู่จะเปลี่ยนตัวประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎรกันในวันนี้ มีคำถามว่าเข้าทำเนียบฯ ไปพบใคร พูดคุยกันเรื่องดังว่าหรือไม่ แน่นอน ถ้าไปฟังจากปากของสองคนย่อมไม่มีใครบอกว่า มาเพื่อปรึกษาเรื่องการปลด พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส พ้นเก้าอี้ประธานกรรมาธิการป.ป.ช.

โดยคำตอบของสิระอ้างว่ามาพบรัฐมนตรีบางคนเพื่อหารือเรื่องการเข้าไปแก้ปัญหาที่ดินพื้นที่เกาะช้าง ส่วนปารีณาชิ่งหนีนักข่าว โดยอ้างไม่ได้มาพบเพื่อคุยเรื่องประธานกรรมาธิการป.ป.ช. ซึ่งรายนี้ก็พอมองได้ว่า อาจจะเป็นการเข้ามาเพื่อหารือหรือร้องขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับปมที่ดิน 1,700 ไร่ การเลือกมาในจังหวะที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนั้น ย่อมมีนัยทางการเมืองอย่างแน่นอน เพราะสิ่งที่ทั้งคู่อ้างมานั้นมันไม่จำเป็นที่จะต้องเดินทางมาทำเนียบฯ พร้อมกันให้เป็นข่าว

ทางด้านสภาผู้แทนราษฎร นอกจากจะต้องติดตามการประชุมคณะกรรมาธิการป.ป.ช.ในวันนี้แล้ว ประเด็นเรื่องการงัดเอาระเบียบของสภามาดำเนินการโดยเคร่งครัดของ ชวน หลีกภัย ก็ถูกวิจารณ์อยู่ไม่น้อยว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่ ไม่ต้องไปไล่บี้เอาคำตอบกับจอมหลักการย่อมรู้ดีว่าวิสัชนาที่ได้รับนั้นเป็นอย่างไร ในเมื่อคนเหล่านี้แม่นในข้อกฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด อีกฝ่ายก็ต้องไม่กระทำในลักษณะที่เปิดช่องให้ชกได้ง่าย ๆ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นคณะกรรมาธิการป.ป.ช.อาจไม่น่าสนใจเท่ากับ ญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ตั้งท่าว่าจะเข้าสู่การพิจารณามาตั้งแต่เปิดประชุมสภานัดแรก จนถูกเลื่อนมาชนเอาสัปดาห์รองสุดท้ายและก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ฝ่ายค้านจึงต้องประชุมกันเพื่อหาหนทางในการแก้เกมไม่ให้เกิดการลากยาวไม่รู้จบ จากญัตติด่วนที่อุตส่าห์หันให้ลัดคิวกันมาคราวสมัยประชุมที่แล้ว กลายเป็นญัตติที่ยืดเยื้อไปเสียอย่างนั้น

ไม่ว่าจะช้าอย่างไร แต่ในสมัยประชุมนี้คงจะได้เห็นการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้อย่างแน่นอน สิ่งที่หลายคนเป็นห่วงคงเป็นเรื่องคนที่จะมาเป็นกรรมาธิการในโควตาของครม.มากกว่า เพราะล่าสุดที่ชงให้วิปรัฐบาลไปพิจารณา 6 รายชื่อนั้น ปรากฏว่าเหลือแต่ ไพบูลย์ นิติตะวัน เพียงคนเดียว ที่ยืนยันว่า พร้อมจะรับเก้าอี้ดังกล่าว เพราะตัวเองเคยเป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ถูกยกทิ้งซึ่งมี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน

คงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะแต่ละรายชื่อที่ปรากฏผ่านสื่อนั้น เมื่อมองไปยังสถานะของแต่ละคน คงไม่มีใครที่อยากจะมารับเก้าอี้นี้ ไม่ว่าจะเป็น พันตำรวจเอกจรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. ที่นับตั้งแต่สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์อันพิสดารจนเกิดเป็นส.ส.เอื้ออาทร ก็ถูกฝ่ายการเมืองเล่นงานกันหนักหน่วง หากมาสวมหัวโขนร่วมพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีสิทธิ์ที่จะถูกจับขึงพืดรุมกระทืบอ่วมอรทัย ในฐานะหนึ่งในองค์กรที่สร้างปัญหาทางการเมืองในเวลานี้

ขณะที่รายชื่อของส.ว.ไม่ว่าจะเป็น พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม และ สมชาย แสวงการ หรือแม้กระทั่งอดีตกรธ.อย่าง อุดม รัฐอมฤต คนเหล่านี้ต่างรู้ดีว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียตั้งแต่ก่อน ระหว่างและหลังการร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จทั้งสิ้น ดังนั้น ความน่าเชื่อถือของสังคมต่อการมาทำหน้าที่ดังกล่าวย่อมไม่เกิด มิหนำซ้ำ ยังจะตกเป็นเป้าโจมตีได้โดยง่าย วิธีการที่ดีที่สุดของส.ว.ลากตั้งคือหากอยากมีส่วนร่วมก็ไปตั้งคณะกรรมาธิการของสภาสูงพิจารณาคู่ขนานกับส.ส.จะดูดีกว่า

ทีนี้คงเป็นปัญหาสำหรับ วิษณุ เครืองาม และ เทวัญ ลิปตพัลลภ ที่ถือเป็นสองมือทำงานการเมืองของรัฐบาล จะไปทาบทามเชื้อเชิญใครมาร่วมวง ทางที่ดีไหน ๆ เนติบริกรคนเก่งก็ย้ำมาตลอดในชั้นนี้ไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไรมาก ก็ควรที่จะยกโควตากลับไปให้พรรคร่วมรัฐบาลหรือตัดไปให้เป็นเรื่องของสภาฯ คุยกันเองน่าจะดีกว่า เพราะผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็ย้ำชัดเช่นกันว่าไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล ถ้าไว้วางใจพรรคสืบทอดอำนาจและเชื่อใจพรรคร่วมรัฐบาล ก็ไม่จำเป็นต้องกอดเก้าอี้ที่ไม่สำคัญไว้เอง

Back to top button