14 หุ้น mai อวดกำไรไตรมาส 3 โตกระหึ่มเกิน100%

14 หุ้น mai อวดกำไรไตรมาส 3 โตกระหึ่มเกิน100%


ผ่านช่วงประกาศงบการเงินไตรมาส 3 ปี 2562 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์(SET)ไปเป็นที่เรียบร้อยสัปดาห์ก่อน โดยภาพรวมส่วนใหญ่กำไรชะลอตัวลงค่อนข้างมาก เนื่องจากรับผลกระทบสงครามการค้า เงินบาทแข็งค่า และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเป็นหลัก

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2562 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์(SET) ไปแล้ว สำหรับครั้งนี้จะขอนำเสนอกลุ่มบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์(mai) ที่มีกำไรเติบโตเกิน 100% ดังตารางประกอบและในครั้งนี้จะนำเสนอข้อมูลประกอบ 5 อันดับแรกดังนี้

อันดับ 1 บริษัท ซีลิค คอร์พ จำกัด (มหาชน) หรือ SELIC รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/62 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.62 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 27.01 ล้านบาท โต 70,981.58 % จากปีก่อนอยู่ที่ 0.04 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน

นายเอก สุวัฒนพิมพ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SELIC กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4/62 คาดว่าจะเป็นไปตามแผน เนื่องจากผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกที่ผ่านมา สะท้อนถึงการที่กลุ่มบริษัทมีการ synergy กันด้วยดีระหว่างกลุ่ม PMCT โดยสอดคล้องกับการบุกขยายธุรกิจทั้งธุรกิจกาวอุตสาหกรรม ธุรกิจสติ๊กเกอร์และฉลาก รวมถึงให้ความสำคัญในการขยายการเติบโตของทั้งสองธุรกิจ ทำให้ทั้งปีมั่นใจว่าผลการดำเนินงานจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้

 

อันดับ 2 บริษัท ซังโกะ ไดคาซติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SANKO รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/62 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.62 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 16.36 ล้านบาท โต 5,027.27 % จากปีก่อนอยู่ที่ 0.32 ล้านบาท

บริษัทมีรายได้รวมไตรมาส 3 ปี 2562 เท่ากับ 158.813 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2561 เท่ากับ 24.864 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.56 เนื่องจากคำสั่งซื้อของลูกค้าเพิ่ม ในขณะที่ต้นทุนยังคงสภาพตามกำลังการผลิตปกติของบริษัทและมีการเปลี่ยนแปลงตามภาวะเศรษฐกิจบางส่วน เช่น การปรับลดราคาวัตถุดิบลงซึ่งส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขั้นจากปี 2561 ร้อยละ 17.51 เป็นร้อยละ 21.25 ในปี 2562 ประกอบกับบริษัทฯบันทึกกลับรายการค่าใช้จ่ายภาษี จากการคำนวณภาษีเงินได้รอตัดบัญชีในปี 2561

อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายของไตรมาสนี้ เนื่องจากบริษัทได้ปรับกลยุทธด้านการตลาดและสร้างมาตรฐานด้วยความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าทั้งด้านคุณภาพและบริการจัดส่งที่ตรงต่อเวลา

 

อันดับ 3 บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ QTC รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/62 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.62 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 33.50 ล้านบาท โต 1,312.48 % จากปีก่อนอยู่ที่ 2.37 ล้านบาท บริษัทฯมีรายได้รวม 212.40 ล้านบาท ลดลง 38.13 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้รวม 250.53 ล้านบาท หรือลดลง 15% และมีกำไรสุทธิ จำนวน 33.27 ล้านบาท เมื่อเทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 2.37 ล้านบาท

ส่วนผลการดำเนินงานในงวด 9 เดือนแรกปี 2562 บริษัทฯมีรายได้รวม 714.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59.55 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้รวม 654.73 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9 % และมีกำไรสุทธิ จำนวน 152.30  ล้านบาท เมื่อเทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่ขาดทุนสุทธิ 52.50 ล้านบาท

สำหรับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมานั้น เป็นผลมาจาก การรับรู้รายได้ การขายหม้อแปลงไฟฟ้าให้กับหน่วยงานภาครัฐ  เอกชนและส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับกระบวนการผลิตต่างๆ ภายใน  เพื่อลดต้นทุนการผลิต  ปรับกลยุทธ์ บุกงานต่างประเทศ เน้นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ        การปรับกลยุทธ์การติดตามหนี้   อีกทั้งการรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าของ บริษัท คิวโซลาร์ 1 จำกัด ขนาดกำลังผลิต 8.6 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ จังหวัดปราจีนบุรี

โดย ณ สิ้นไตรมาส 3/2562 บริษัทฯมียอดขายหม้อแปลงในมือ (backlog) จำนวนกว่า 500 ล้านบาท แบ่งเป็นงาน จากราชการ  จำนวน 200 ล้านบาท งานเอกชน จำนวน 150 ล้านบาท และงานต่างประเทศ จำนวน 150 ล้านบาท ซึ่งมูลค่างานในมือดังกล่าวสามารถทยอยส่งมอบสินค้าได้ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมธุรกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของ ปี 2562 มีความคึกคักมากขึ้น เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐ มีการทยอยเปิด และประกาศผลการยื่นประมูลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดบริษัทฯมีการเซ็นสัญญาในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าชนิด ซีเอสพี (Completely Self-Protected Type) 3 เฟส 4 ให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) คิดเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถคว้างานเพิ่มอีกประมาณ 10% ของมูลค่างานที่บริษัทฯได้ยื่นประมูลงานการผลิตหม้อแปลงของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มูลค่ารวมทั้งหมด 1,800 ล้านบาท อีกทั้งล่าสุด บริษัทฯยังได้ลงนามสัญญากับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ยักษ์ใหญ่ของจีนเพื่อรับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดจำหน่าย Huawei Solar Inverter ผลิตภัณฑ์แปลงไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) จากแผงโซลาร์เซลล์  ซึ่งจะช่วยต่อยอดธุรกิจที่หลากหลายครบวงจรมากขึ้น และพร้อมที่จะขยายตลาด Solar Roof, Solar Farm และ Floating Solar ในอนาคต

โดยระยะแรกตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า บริษัทฯ จะสามารถกลับมาเติบโตอย่างโดดเด่นได้ และมั่นใจว่ารายได้ในปีนี้    จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 1,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน ซึ่งถือว่าเป็นการกลับมาเทิร์นอะราวด์ ในภาพรวมของผลการดำเนินงานของ QTC อีกครั้ง

 

อันดับ 4 บริษัท ซี.ไอ.กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CIG รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/62 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.62 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 41.30 ล้านบาท โต 1,073.30 % จากปีก่อนอยู่ที่ 3.52 ล้านบาท เนื่องจากรายได้รวมไตรมาส 3/62 มีจำนวน 1,212.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 850.48 ล้านบาท หรืออัตราร้อย 42.57

โดยบริษัทมีรายได้จากการขายและบริการในประเทศจำนวน 942.00 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวนเงิน 412.88 ล้านบาท หรืออัตราร้อยละ78.03 (ไตรมาส 3/2561 มีรายได้จากการขายและบริการในประเทศจำนวน 529.12 ล้านบาท) และมีรายได้จากการขายและบริการต่างประเทศจำนวน 270.50 ล้านบาท ลดลง 32.36 ล้านบาทหรืออัตราร้อยละ 10.68 (ไตรมาส3/2561 มีรายได้การขายและบริการต่างประเทศจำนวน302.86 ล้านบาท)

โดยบริษัทฯ ประกอบธุรกิจผลิตคอยล์เย็น (Evaporator Coil) คอยล์ร้อน (Condenser Coil) และคอยล์น้ำเย็น (Chilled Water Coil) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนหลักของอุปกรณ์ถ่ายเทความร้อน/ความเย็นทุกประเภท โดยเป็นการผลิตสินค้าตามคำสั่งของลูกค้า (Made to Order) เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

 

อันดับ 5 บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ OTO รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/62 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.62 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 25.95 ล้านบาท โต 508.75 % จากปีก่อนอยู่ที่ 4.26 ล้านบาท

โดยบริษัทมีรายได้เฉพาะไตรมาส 3 จำนวนทั้งสิ้น 188 ล้านบาท คิดเป็นกำไรถึง 26 ล้านบาท เติบโตขึ้นถึงกว่า 500 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งรวมถึงรายได้อื่นๆซึ่งเป็นการชำระหนี้ของลูกค้าจำนวน 25.6 ล้านบาทด้วย และมีการเซ็นต์สัญญาโครงการเฉพาะในไตรมาส 3 ไปแล้วมูลค่า 254 ล้านบาท ส่งผลให้เมื่อสิ้นไตรมาส 3 OTO มีงานคงค้างในมือแล้วทั้งสิ้น 839 ล้านบาท และคาดว่าในไตรมาสสุดท้ายจะยังมีโอกาสเข้าร่วมประมูลอีก 19 โครงการ รวมมูลค่าประมาณ 110 ล้านบาท

ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button