BAM เคาะช่วงราคา IPO หุ้นละ 15.50-17.50 บาท จองซื้อ 25-29 พ.ย. 62

BAM เคาะช่วงราคา IPO หุ้นละ 15.50-17.50 บาท จองซื้อ 25-29 พ.ย. 62 คาดเข้าซื้อขายกลางเดือน ธ.ค.นี้


นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวว่า BAM จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 1,535 ล้านหุ้น ประกอบด้วยหุ่ยสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 280 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุนเดิมจำนวนไม่เกิน 1,255 ล้านหุ้น พร้อมกับอาจจะมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe) จำนวนไม่เกิน 230 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,765 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 5 บาท

โดย BAM  กำหนดช่วงราคาเสนอขาย IPO ที่ 15.50-17.50 บาท/หุ้น โดยประชาชนทั่วไปจะต้องจ่ายซื้อที่ราคาเสนอขาย 17.50 บาท/หุ้น และบริษัทจะคืนส่วนต่างในกรณีที่ไม่ได้รับการจัดสรรหรือราคาเสนอขายสุดท้ายต่ำกว่าราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขาย สามารถจองซื้อได้ระหว่างวันที่ 25-29 พ.ย.62 ที่ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ทุกสาขาทั่วประเทศ คาดว่าจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้

ปัจจุบัน BAM มีทุนจดทะเบียน 16,225 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 3,245 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 5 บาท และมีทุนที่ออกและชำระแล้ว 13,675 ล้านบาท โดยมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ถือหุ้น 99.99%

นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ BAM กล่าวว่า การเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับการที่นักลงทุนจะได้ร่วมต่อยอดความสำเร็จไปกับผู้นำในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ที่มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) และทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ในระบบสถาบันการเงินของประเทศไทย พร้อมกับการที่นักลงทุนจะได้ลงทุนในบริษัทที่ไห้ผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ โดยที่บริษัทมีนโยบายการจ่ายปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ หลังหักภาษีเงินได้ของงบการเงินเฉพาะกิจจองบริษัท และภายหลังจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 59-61) บริษัทมีการจ่ายเงินปันผล 80%, 97% และ 60% ตามลำดับ

การระดมทุนในครั้งนี้บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการลงทุนไปชำระหนี้เพื่อลดดอกเบี้ย พร้อมกับนำเงินส่วนหนึ่งไปใช้ในการร่วมประมูลสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ช่วยทำให้ราคาซื้อขายดีขึ้น ลดภาระหนี้ในการผ่อนชำนะต่อ หรือมีความสามารถในการซื้อทรัพย์สินกลับมาเป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งบริษัทเน้นการบริหารมุ่งสู่ความยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมไทยในระยะยาว พร้อมทั้งบริษัทยังเดินหน้าใน 3 กลยุทธ์ คือ การขยายฐานสินทรัพย์ให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาการดำเนินงานการเรียกเก็บเงินให้เร็วขึ้น และการพัฒนาบุคคลากรของบริษัท เพื่อเป็นการสร้างการเติบโตให้กับบริษัทเป็นบริษัทสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอย่างต่อเนื่อง

Back to top button