เคาะ 20 หุ้น SET โชว์ผลงานไตรมาส 3 เทิร์นอะราวด์!
เคาะ 20 หุ้น SET โชว์ผลงานไตรมาส 3 เทิร์นอะราวด์!
จากการรายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2562 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) พบว่า มีบริษัทฟื้นตัว โดยสามารถพลิกมีกำไรสุทธิอย่างก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน
ทั้งนี้ บริษัทที่สามารถพลิกมีกำไรสุทธิ หรือเรียกว่า “เทิร์นอะราวด์” นักลงทุนหลายคนมักสนใจ เพราะถือเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่นักลงทุนต่างแสวงหา เพราะกว่าจะได้ชื่อว่าเป็นหุ้นเทิร์นอะราวด์ ต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากของธุรกิจจนพลิกมีกำไรสุทธิาอีกครั้งนั้นทางบริษัทมีการปรับกลยุทธ์ของธุรกิจเดิม และมีการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่เข้ามาเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนธุรกิจใหม่ไปเลย เพื่อให้ได้ผลประกอบการกลับมาเติบโตแข็งแกร่งและยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ดังนั้นทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จังทำการสำรวจกลุ่มบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์(SET)ไตรมาส 3 ปี 2562 ที่มีผลงานพลิกมีกำไร มานำเสนอโดยครั้งนี้มีทั้งหมด 20 บริษัทดังตารางประกอบและในครั้งนี้จะนำเสนอข้อมูลประกอบ 5 อันดับแรกดังนี้
อันดับ 1 บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/62 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.62 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 1,817.16 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 921.49 ล้านบาท
โดยปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทพลิกมีกำไร เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากบริษัทมี EBITDA ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งมีต้นทุนค่าธรรมเนียมในไตรมาสนี้ลดลงร้อยละ 54.2 ภายหลังสัญญาสัมปทานและมาตรการเยียวยาสิ้นสุดลง ส่งผลให้สัดส่วนต้นทุนค่าธรรมเนียมต่อรายได้จากการให้บริการไม่ รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.3 จากร้อยละ 9.5 ในไตรมาสเดียวกันของปี
บล.กสิกรไทย กลยุทธ์การลงทุน เน้นลงทุนในกลุ่มที่มีปัจจัยหนุน และกำไร 2H19 มีแนวโน้มดี ดังต่อไปนี้ กลุ่มสื่อสารได้ประโยชน์จากการแข่งขันลดลง (รายได้เพิ่ม ต้นทุนลด) TRUE DTAC ADVANC INTUCH
โดย DTAC ( ซื้อ/พื้นฐาน 68.73 บ.) ราคากลางของการประมูล 5G น้อยกว่าคาด 22% และเทอมการจ่ายเงินค่อนข้างดีคือจ่ายปีแรก 10% แล้วพักการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในปีที่ 2-4 ราคาหุ้นยังมี upsides 10% และอัตราเงินปันผลตอบแทนประมาณ 4%
อันดับ 2 บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SEG รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/62 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.62 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 321.96 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 176.37 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานรวมไตรมาส 3/62 ลดลงมาที่ 5,589 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 7,172 ล้านบาท
ทั้งนี้ SEG ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจประกันภัย และธุรกิจลีสซิ่ง โดยมีบริษัท อาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (SELIC) ประกอบธุรกิจประกันชีวิต เป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักซึ่งก่อให้เกิดกำไรหลัก
อันดับ 3 บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/62 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.62 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 165.14 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 12.72 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานที่พลิกมีกำไรส่วนใหญ่มาจากการบันทึกกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุน ในบริษัทย่อยเข้ามาจำนวน 240.37 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนไม่มีทำให้ไตรมาส 3/62 พลิกมีกำไรโดดเด่น
สำหรับบริษัทดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนและการบริหารจัดการโรงพยาบาลเอกชนควบคู่ไปกับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย การบริหารอาคารสำนักงานแบบครบวงจร ให้บริการระบบสารสนเทศ
อันดับ 4 บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/62 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.62 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 124.41 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 73.88 ล้านบาท เป็นผลมาจากรายได้สายธุรกิจ ICT Solution and Service และธุรกิจการบริหารวิทยุการบินที่ประเทศกัมพูชาเพิ่มขึ้น
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) เปิดเผยว่า การดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 นับว่าเป็นไปตามเป้าหมาย โดยในสายธุรกิจไอซีที ของบมจ.สามารถเทลคอม (SAMTEL) ยังเป็นแหล่งรายได้หลักของกลุ่ม โดยปัจจุบันมีมูลค่างานในมือ (Backlog) แล้วกว่า 9 พันล้านบาท และในช่วงที่เหลือของปีนี้มีโอกาสเข้าประมูลโครงการรวมราว 1 หมื่นล้านบาท เช่น โครงการพัฒนาซอฟท์แวร์ด้าน Finance Solution ให้กับลูกค้ากลุ่มธนาคาร ,โครงการของกรมสรรพสามิต ,โครงการของกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น โดยคาดว่าจะชนะประมูล 60-70% ของมูลค่างานที่เข้าประมูล
ดังนั้น คาดว่าในปีนี้ SAMART จะทำรายได้รวมได้ใกล้เคียงเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.8 หมื่นล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้จาก SAMTEL มีสัดส่วนถึง 50% ขณะเดียวกัน สัดส่วนจากรายได้ประจำในปีนี้มีสัดส่วน 40% และคาดว่าในปีหน้ารายได้รวมน่าจะมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท และมีสัดส่วนรายได้ประจำเพิ่มเป็น 50% เพราะบริษัทมีงานที่มีสัญญาระยะยาวเน้นงานบำรุงรักษา ซึ่งบริษัทมีจุดแข็งมีพนักงานที่สามารถดูแลระบบบำรุงรักษาได้ โดยมีแผนขยายศูนย์บำรุงรักษาให้ครบทุกจังหวัดจากปัจจุบันมี 50 กว่าแห่ง
อันดับ 5 บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/62 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.62 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 87.32 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 109.39 ล้านบาท
ทั้งนี้ผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวมีพลิกมีกำไร เนื่องจากในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีการรับรู้ค่าใช้จ่ายจากรายการค่าใช้จ่ายที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำเช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับแผนการออกจากงานด้วยความเห็นชอบร่วมกัน 162 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทมี EBITDA เท่ากับ 254 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 469% จากต้นทุนพลังงานลดลงจากปีก่อน และการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการบริหารและการผลิตดีขึ้น
บล.ทิสโก้ ระบุว่า ยังมีมุมมองที่ดีต่อแนวโน้มธุรกิจของ COTTO และยังคงแนะนำ “ซื้อ” : แม้กำไรจะต่ำกว่าคาดแต่คาดว่ากำไรจะดีขึ้นในไตรมาส 4/62 และปี 2563 จากการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง ดังนั้นยังคงประมาณการกำไรและราคาเป้าหมายที่ 2.10 บาทซึ่งคิดจาก PER ปี 2020F ที่ 22.4 เท่า อ้างอิงมาจาก +0.5 Stdev เหนือค่าเฉลี่ย 5 ปีของ DCC ซึ่งเป็นหุ้นที่ทำธุรกิจเดียวกับ COTTO เนื่องจาก Earnings growth ของ COTTO สูงกว่า DCC
ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน