พลังประชาธิปไตย

ผลการเลือกตั้งสภาเขตของฮ่องกงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นการชี้ให้เห็นถึง “พลังประชาธิปไตย” ในฮ่องกงอย่างชัดเจน  แม้ว่า นาย “หวัง อี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของจีน จะบอกว่า ชัยชนะที่ขาดลอยของฝ่ายที่สนับสนุนประชาธิปไตยไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อสถานะของฮ่องกงที่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่อยู่ดี


พลวัตปี 2019 : ฐปนี แก้วแดง(แทน)

ผลการเลือกตั้งสภาเขตของฮ่องกงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นการชี้ให้เห็นถึง “พลังประชาธิปไตย” ในฮ่องกงอย่างชัดเจน  แม้ว่า นาย “หวัง อี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของจีน จะบอกว่า ชัยชนะที่ขาดลอยของฝ่ายที่สนับสนุนประชาธิปไตยไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อสถานะของฮ่องกงที่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่อยู่ดี

จากการรายงานของสื่อในท้องถิ่น ผู้สมัครที่อยู่ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยสามารถเอาชนะฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลปักกิ่งได้ถึง 17 เขต จากจำนวน 18 เขต ในสภาซึ่งมีทั้งหมด 452 ที่นั่ง ฝ่ายประชาธิปไตยได้ไปถึง 390 ที่นั่ง ทั้งที่ในการเลือกตั้งเมื่อสี่ปีก่อนฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยมีที่นั่งในสภาเพียง 100 ที่นั่งเท่านั้น

นอกจากนี้การเลือกตั้งครั้งนี้ ยังมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกือบ 3 ล้านคน จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 4.1 ล้านคน ซึ่งเท่ากับว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิสูงถึง 71% ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลปักกิ่ง ดังนั้นจึงมีการมองกันว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมาเป็นการแสดงความไม่พอใจต่อ แคร์รี่ แลม ผู้ปกครองสูงสุดของฮ่องกงที่เป็นคนของรัฐบาลจีน และเป็นการสนับสนุนกระบวนการประท้วงในฮ่องกง

หลังผลการเลือกตั้งชี้ว่าฝ่ายประชาธิปไตยชนะขาดลอย นางแคร์รี่ แลม ยอมรับว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมาเป็นการแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลของเธอ แต่ก็ไม่ได้มีข้อเสนอใหม่ ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าเธอยอมอ่อนข้อต่อกระบวนการสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกง และกล่าวเพียงว่า  ผลการเลือกตั้งสะท้อนว่าประชาชนไม่พอใจกับสถานการณ์ในปัจจุบันและปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคม

ความจริงแล้วสภาเขตฮ่องกงมีอำนาจทางการเมืองไม่มากและส่วนใหญ่จัดการกับปัญหาในท้องถิ่น เช่น ปัญหาการขนส่ง การเก็บขยะ ดังนั้นโดยตัวของมันเองแล้ว ตามปกติการเลือกตั้งสภาเขตจึงไม่ได้มีความหมายถึงขั้นที่จะเรียกแขกได้มากเหมือนครั้งนี้

แต่สภานี้ก็มีความสำคัญตรงที่ว่า จะได้เลือกสมาชิกจำนวน 117 คน ไปนั่งในคณะกรรมการที่มีจำนวน 1,200 คน ซึ่งกรรมการเหล่านี้จะเป็นคนเลือกผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้จึงมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์มาก

รัฐบาลฮ่องกงและผู้นำในกรุงปักกิ่งได้หวังว่าการเลือกตั้งจะได้รับการสนับสนุนจาก “พลังเงียบส่วนใหญ่” ที่ไม่เห็นด้วยกับการประท้วงในฮ่องกง แต่ผลที่ออกมากลับไม่เป็นเช่นนั้น ผู้สมัครที่สนับสนุนรัฐบาลปักกิ่งจึงสูญเสียที่นั่งให้กับผู้สมัครที่สนับสนุนประชาธิปไตยเกือบทั้งหมด

นักเคลื่อนไหวในฮ่องกงหวังว่า ชัยชนะอย่างขาดลอยของฝ่ายที่สนับสนุนประชาธิปไตย จะบีบให้รัฐบาลฮ่องกงทำตามข้อเรียกร้องของพวกเขาอย่างจริงจังมากขึ้น  แต่ผู้นำฮ่องกงก็ยังไม่ได้ปริปากถึงเรื่องนี้แม้แต่คำเดียว

รัฐบาลปักกิ่งเองยังไม่ได้แถลงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งในฮ่องกง มีเพียงนาย หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศที่ย้ำว่า “ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ฮ่องกงยังคงเป็นส่วนหนึ่งของจีน ความพยายามใด ๆ ที่จะสร้างความวุ่นวายในฮ่องกง หรือสร้างความเสียหายต่อเสถียรภาพและความรุ่งเรืองของฮ่องกง จะไม่ประสบความสำเร็จ”

หลังจากที่อังกฤษได้ส่งมอบฮ่องกงคืนแก่จีนในปี พ.ศ. 2540 จีนได้ดำเนินนโยบายภายใต้หลักการ “หนึ่งประเทศสองระบบ” โดยให้สถานะพิเศษแก่ฮ่องกงในการปกครองตนเองและชาวฮ่องกงมีสิทธิมากกว่าประชาชนในจีนแผ่นดินใหญ่ อย่างไรก็ดี สถานะพิเศษนี้จะหมดอายุลงในปี 2590 จึงมีความหวั่นวิตกกันว่าฮ่องกงจะกลายเป็นเพียง “เมืองหนึ่งของจีน”

การประท้วงในฮ่องกงได้เริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาด้วยการต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่หลายคนกลัวว่าจะเป็นการบั่นทอนเสรีภาพของฮ่องกง หรือถูกนำมาใช้เป็นการปิดปากเสียงที่ต่อต้านรัฐบาลปักกิ่ง

แม้ว่ารัฐบาลฮ่องกงจะถอนกฎหมายดังกล่าวออกไปแล้วในเดือนกันยายน แต่ผู้ประท้วงซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว ยังไม่หยุดเคลื่อนไหว และการประท้วงเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดการเผชิญหน้ากับตำรวจอยู่เป็นประจำ

แม้นักวิเคราะห์มองว่ารัฐบาลปักกิ่งจะไม่ยอมถอยอย่างง่าย ๆ แต่ก็ไม่คิดว่าจีนจะส่งทหารมาปราบปรามการประท้วงในฮ่องกง เพราะว่าฮ่องกงยังมีค่ามากสำหรับรัฐบาลปักกิ่ง  ดังนั้นในอนาคตอันใกล้นี้ ฮ่องกงจึงน่าจะยังเจอทางตันอยู่

ยังไม่รู้ว่า “พลังประชาธิปไตย” ทั้งในสภาและนอกสภา จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่ชาวฮ่องกงส่วนใหญ่หวังได้สักมากน้อยเพียงไร แต่เมื่อดูจากประวัติศาสตร์ในการเรียกร้องประชาธิปไตยบนโลกใบนี้ ไม่เคยมีชาติใดที่ได้ประชาธิปไตยมาในชั่วข้ามคืน และโดยไม่เสียเลือดเนื้อ และแทบจะไม่มีเลยที่ผู้นำจะสำเหนียกเสียงเรียกร้องของประชาชนและยอมอ่อนข้อลงเอง ถ้าไม่จนมุมจริง ๆ

“พลังประชาธิปไตย” ในฮ่องกงยังต้องเหนื่อยอีกยาวนาน!!

Back to top button