บจ.โล่งอก! กกบ.ไฟเขียวผ่อนผัน “หุ้นกู้ลักษณะคล้ายทุน” ออกไปอีกไม่เกิน 3 ปี
บจ.โล่งอก! กกบ. ไฟเขียวผ่อนผัน “หุ้นกู้ลักษณะคล้ายทุน” ออกไปอีกไม่เกิน 3 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) มีมติเห็นชอบการผ่อนผันให้กิจการที่ออกหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุนที่มีการเสนอขายและได้รับชำระค่าหุ้นกู้นั้นก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2562 จัดประเภทรายการหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของส่วนของผู้ถือหุ้น (“ทุน) ในงบการเงินภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่ 1 มกราคม 2563 ตามที่คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีเสนอ
การผ่อนผันดังกล่าวเป็นเพียงการให้ระยะเวลาในการจัดประเภทรายการของหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุนสำหรับกิจการที่มีการเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าวและได้รับชำระค่าหุ้นกู้นั้นก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เพื่อให้กิจการที่ออกหุ้นกู้ดังกล่าว มีระยะเวลาเตรียมตัวบริหารจัดการที่จำเป็นและเท่าเทียมกัน เพื่อบรรเทาผลกระทบในการจัดประเภทรายการใหม่ของหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุนที่อาจส่งผลกระทบต่ออัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่สูงขึ้นเป็นต้น
ทั้งนี้กิจการที่ออกหุ้นกู้ดังกล่าวต้องเร่งบริหารจัดการหุ้นกู้ให้ตรงตามมาตรฐานการบัญชีภายใน 1 มกราคม 2563 อย่างไรก็ตาม กิจการที่เลือกจัดประเภทรายการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของทุนต้องเปิดเผยเหตุผลที่เลือกจัดประเภทรายการเป็นส่วนหนึ่งของทุนและผลกระทบต่อทุกรายการในงบการเงินหากต้องจัดประเภทรายการดังกล่าวเป็นหนี้สินทางการเงิน ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
สำหรับลักษณะสำคัญของ “หุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน” ที่จัดประเภทเป็นทุนตาม TAS 32 คือ การไถ่ถอนหุ้นกู้จะเกิดขึ้นเมื่อเลิกกิจการ โดยชำระคืนเงินต้นเพียงครั้งเดียวเมื่อเลิกกิจการ
ทั้งนี้ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยพร้อมกับสะสมดอกเบี้ยจ่ายไปชำระในวันใด ๆ ก็ได้ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้โดยไม่จำกัดระยะเวลาและจำนวนครั้ง ตามดุลยพินิจของผู้ออกหุ้นกู้แต่เพียงฝ่ายเดียว
ปัจจุบันกิจการที่ออก “หุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน” จัดประเภทตราสารดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ “ทุน” ในงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลารายงาน ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2562แต่ในเอกสาร
“ข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้ และผู้ถือหุ้นกู้” (ข้อกำหนดสิทธิฯ) มักมีข้อกำหนดที่อาจตีความได้ว่าผู้ถือหุ้นกู้มีสิทธิได้รับชำระคืนก่อนการชำระบัญชีหรือได้รับชำระคืนก่อนเลิกกิจการ เป็นเหตุให้กิจการผู้ออกหุ้นกู้ในลักษณะดังกล่าวต้องจัดประเภทรายการใหม่เป็น “หนี้สินทางการเงิน” ในงบการเงินทันทีเมื่อมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 เรื่อง การแสดงรายการเครื่องมือทางการเงิน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป สถานการณ์ดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อฐานะการเงินของกิจการผู้ออกหุ้นกู้ทันที
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการจัดประเภทรายการหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุนดังกล่าวเป็น ครั้งแรกภายหลังสิ้นสุดระยะเวลาที่ผ่อนผันดังกล่าว หากกิจการที่ยังคงมีหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุนคงเหลืออยู่ในงบการเงิน และหุ้นกู้ดังกล่าวยังคงมีลักษณะสำคัญที่เข้าเงื่อนไขการจัดประเภทเป็นหนี้สินทางการเงินตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 กิจการต้องจัดประเภทรายการใหม่สำหรับหุ้นกู้ดังกล่าว และรายการอื่นที่เกี่ยวข้องกับตราสารดังกล่าวเป็นหนี้สินทางการเงิน และถือปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และการปฏิบัติในช่วงการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้น ๆ
ทั้งนี้การผ่อนผันดังกล่าวไม่ได้เป็นการเลื่อนวันที่มีผลบังคับใช้ของมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 เรื่อง การแสดงรายการเครื่องมือทางการเงิน (TAS 32) โดยมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 ยังคงมีวันที่มีผลบังคับใช้เป็นวันที่ 1 มกราคม 2563 เหมือนเดิม
อย่างไรก็ตามการผ่อนผัน “หุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน” ดังกล่าวคาดว่าจะทำให้บริษทจดทะเบียน(บจ.)ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) คลายความกังวลและมีเวลาจัดหุ้นกู้ดังกล่าวเพื่อไม่ให้ถูกจัดเป็นประเภทเป็น “หนี้สินทางการเงิน” ตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 32 (TAS 32)
อนึ่งก่อนหน้านี้นายชาญชัย ชัยประสิทธิ์ หัวหน้าสายงานตรวจสอบบัญชีและหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยภายในงานสัมมนาประจำปี PwC Thailand’s Symposium 2019 ภายใต้หัวข้อ “บริหารความท้าทายขององค์กรในทศวรรษใหม่อย่างมืออาชีพ” ว่า บริษัทจดทะเบียน (บจ.) จำนวน 3-4 ราย ที่เตรียมออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน(Perpetual Bond) หรือ หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ อาจต้องชะลอหรือพับแผนการออกเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าวออกไป
เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ยังไม่ยินยอมให้ผู้ออกปรับเงื่อนไขสิทธิของผู้ซื้อหุ้นกู้บางข้อและยังไม่รับประกันหรือออกการันตีให้ผู้ออกหุ้นกู้ เพราะมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 32 (TAS 32) ที่จะมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2563 ระบุเรื่องการจัดประเภทตราสารหนี้สินและทุนให้มีเงื่อนไขที่ละเอียดและชัดเจนขึ้น ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ Perpetual Bond ถูกจัดประเภทใหม่จากตราสารทุนเป็นหนี้สินในงบการเงินแทน
โดยปัจจุบันบจ.ขนาดใหญ่ 8 บริษัทที่ออกหุ้นกู้ประเภทดังกล่าว โดยมีมูลค่าคงค้างรวมประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาท ได้แก่ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT), บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP), บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL), บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL), บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN), บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) และ บมจ.ทีทีซีแอล (TTCL)
อีกทั้งการตรวจสอบข้อมูลในปัจจุบันพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนไทยขนาดใหญ่เตรียมที่จะออกเสนอขาย Perpetual bond ในช่วงที่เหลือของปีนี้จำนวน 4 ราย มูลค่าการเสนอขายรวม 3.2 หมื่นล้านบาท ได้แก่ บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (IVL) มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท, บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท, บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) มูลค่า 6,000 ล้านบาท, บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) มูลค่า 6,000 ล้านบาท