“พาณิชย์” เผยมูลค่าค้าชายแดน-ผ่านแดน หด 1.94% หลังบาทแข็ง-ศก.โลกชะลอตัว-สงครามการค้า
"พาณิชย์" เผยมูลค่าค้าชายแดน-ผ่านแดน หด 1.94% หลังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งตัว ศก.โลกชะลอตัว สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทย ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค.62 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,125,543 ล้านบาท ลดลง 1.94% เป็นการส่งออก 627,454 ล้านบาท ลดลง 2.05% และการนำเข้า 498,089 ล้านบาท ลดลง 1.81% ซึ่งเกินดุลการค้า 129,365 ล้านบาท
โดยแยกเป็นการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ มูลค่า 899,962 ล้านบาท ลดลง 2.96% เป็นการส่งออก 509,272 ล้านบาท ลดลง 5.04% นำเข้า 390,690 ล้านบาท ลดลง 0.11% เกินดุลการค้า 118,582 ล้านบาท และการค้าผ่านแดนกับ 3 ประเทศ มูลค่า 225,581 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.34% เป็นการส่งออก 118,182 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.37% นำเข้า 107,399 ล้านบาท ลดลง 7.56% เกินดุลการค้า 10,783 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในด้านการค้าชายแดน มาเลเซียยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง โดยมีมูลค่า 437,983 ล้านบาท ลดลง 7.37% เป็นการส่งออก 211,776 ล้านบาท ลดลง 12.68% นำเข้า 226,207 ล้านบาท ลดลง 1.77% รองลงมาคือ เมียนมา มูลค่า 164,420 ล้านบาท สปป.ลาว มูลค่า 164,800 ล้านบาท และกัมพูชา มูลค่า 132,759 ล้านบาท
ขณะที่การค้าผ่านแดนจีนตอนใต้มีมูลค่าสูงสุด มูลค่า 107,215 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.83% เป็นการส่งออก 46,349 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64.98% นำเข้า 60,866 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.12% รองลงมาคือ เวียดนาม มูลค่า 56,251 ล้านบาท และสิงคโปร์ มูลค่า 62,116 ล้านบาท
นายกีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์การค้าชายแดนและผ่านแดนลดลง โดยมีปัจจัยกระทบทั้งจากค่าเงินบาทแข็งตัวมากขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังคงยืดเยื้อ ตลอดจนความไม่มีเสถียรภาพของค่าเงินของแต่ละประเทศ รวมถึงไทยและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค
โดยในส่วนของการค้า ด้านมาเลเซีย พบว่าการส่งออกยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง อาทิ กลุ่มสินค้ายางพารา/ผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ สปป.ลาว สถานการณ์การค้ายังคงหดตัว โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันดีเซล รถยนต์ อุปกรณ์ฯ ฝั่งเมียนมา มูลค่าขยายตัวแต่การส่งออกยังคงหดตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าน้ำมันดีเซล และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สำหรับกัมพูชา นับเป็นประเทศที่การค้าขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกสูงถึง 16.87% โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รถยนต์ อุปกรณ์ฯ เป็นต้น
ในขณะที่การค้าผ่านแดน ด้านจีนตอนใต้ มีอัตราขยายตัวสูงถึง 27.83% สินค้าส่งออกที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผักผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและเครื่องคอมฯ ด้านเวียดนาม การส่งออกลดลง โดยเฉพาะผลไม้สดแช่เย็น ส่วนสิงคโปร์นั้น สถานการณ์การค้ามีภาวะลดลง อาทิ กลุ่มสินค้าเครื่องยนต์สันดาป และเครื่องคอมฯ
ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศ ยังคงเดินหน้าจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าชายแดนอย่างต่อเนื่อง โดยต้นปี 63 มีแผนการจัดงานมหกรรมการค้าชายแดน ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งสอดรับกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมการค้าชายแดน เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน และพื้นที่เขตเศรษฐกิจที่ได้รับการพัฒนาไว้แล้ว ถือเป็นการกระตุ้นการส่งออกและสร้างขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลกให้เพิ่มมากขึ้น.