โบรกฯแนะ “เก็งกำไร” BCP ชูผลงานปี 63 ฟื้นตัวแกร่ง- Valuation ไม่แพง
โบรกฯแนะ “เก็งกำไร” BCP ชูผลงานปี 63 ฟื้นตัวแกร่ง- Valuation ไม่แพง
บทวิเคราะห์ บล.คิงส์ฟอร์ด ระบุในบทวิเคราะห์เกี่ยวกับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP โดยขณะนี้กำหนดคำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” ราคาเป้าหมาย 29 บาท พร้อมมองแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4/62 ของธุรกิจไฟฟ้า (BCPG) อาจชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากปัจจัยฤดูกาลของ Solar & Wind
รวมถึงแผนปิดซ่อม Geothermal แม้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการรับรู้โครงการโรงไฟฟ้า Nam San 3A กำลังการผลิต 69 MW เข้ามาเต็มไตรมาส แต่ในภาพรวมของกลุ่ม BCP เรายังคาดกำไรสุทธิฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน โดยส่วนของโรงกลั่นผ่านพ้นช่วงการปิดซ่อมบำรุงและจะกลับมาเดินเครื่องเต็มที่รับผลบวกมาตรการ IMO ซึ่งโรงกลั่น BCP มีสัดส่วนการผลิตน้ำมันดีเซลสูงราว 55%
ขณะที่สัดส่วนการผลิตน้ำมันเตาราว 10% เป็น LSFO ที่มี Sulfur ต่ำกว่า 0.5% อยู่แล้วก็สามารถขายได้ในราคาดีส่วนธุรกิจการตลาดคาดทั้งปริมาณขายและค่าการตลาดจะดีขึ้นตามฤดูกาล และเป็นช่วงมีโรงกลั่นในประเทศหลายแห่งปิดซ่อมบำรุง โดยประเมินราคาเหมาะสมปี 63 ที่29 บาท อิง PBV 0.9 เท่า ด้วย Valuation ที่ไม่แพง ราคาปัจจุบันซื้อขายบน Forward PBV’62/63 ที่ 0.8 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี
ขณะที่มีมุมมองเป็นบวกต่อการฟื้นตัวของผลประกอบการมากขึ้น รวมถึง BCP เป็นหนึ่งในโรงกลั่นที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการ IMO จึงแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร”
ทั้งนี้ จากการได้รับโอกาสจากทางผู้บริหารและทีมงานของ BCP และ BCPG ให้ไปเยี่ยมชมโครงการ Wayang Windu Geothermal Power Plant เมือง Bandung ประเทศอินโดนีเซีย ข้อมูลเบื้องต้นกลุ่ม BCP & BCPG เข้าไปลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าความร้อนใต้พิภพ (Geothermal) ในประเทศอินโดนีเซียตั้งแต่ช่วง ก.ค.60 ผ่านการถือหุ้น 33.33% ในบริษัท Star Energy Group Holdings ทำให้มีสัดส่วนการลงทุน 3 โครงการ
ได้แก่ 1) Wayang Windu 20% 2) Salak 17.3% และ 3) Darajat 17.3% รวมกำลังการผลิตไฟฟ้า 995 MW (100% Basis) และคิดเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วน 157.5 MW + (24 MW Expansion of Wayang Windu)
อย่างไรก็ตาม อ้างอิงจากข้อมูลในปี 57 ทั่วโลกมีกำลังการผลิตไฟฟ้า (Installed Capacity) จากโรงไฟฟ้า Geothermal อยู่ที่ราว 12,000 MW ประเทศอินโดนีเซียอยู่ในอันดับ 3 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 1,340 MW จากแผนการพัฒนาโครงการรวม 4,160 MW โดยประเทศอินโดนีเซียมีข้อได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์เพราะตั้งอยู่ในเขต Ring of Fire จึงทำให้มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการ Geothermal มากกว่า Renewable Energy รูปแบบอื่น เพื่อรองรับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานทดแทนขึ้นจาก 12% เป็น 40%
สำหรับโครงการ Wayang Windu มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 2 Unit 227 MW ขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าอินโดนีเซีย (PLN) ภายใต้สัญญาระยะยาว 30 ปี และโครงการอยู่ระหว่างการพัฒนาเพิ่มอีก 2 Unit (Unit 3 และ 4) กำลังผลิตรวม 120 MW คาดว่าจะ COD ได้ในปี 65 และ 67 ส่วน Upside นอกเหนือจาก 2 Units Expansion คาดว่าจะมีโอกาสขอปรับเพิ่มค่าไฟ (Tariff) ของโครงการ Salak และ Darajat เดิมที่ 6.8-7.2 US Cent/kWh ขึ้นไปเท่ากับโครงการ Wayang Windu ที่ 9.6 US Cent/kWh
รวมถึงการปรับปรุงระบบเพื่อเพิ่ม Efficiency ในการผลิตไฟฟ้า โดยปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้า Geothermal ส่งผ่านส่วนแบ่งกำไรหลังหัก Amortization ให้กับ BCPG ตกปีละ 400 ล้านบาท