บอร์ด “รฟม.” เคาะลดค่าโดยสาร MRT สายสีม่วง เป็น 14-20 บาทตลอดวัน!
บอร์ด "รฟม." เคาะลดค่าโดยสาร MRT สายสีม่วง เป็น 14-20 บาทตลอดวัน!
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ รฟม.วันนี้(11ธ.ค.62) เห็นชอบการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วง เตาปูน-คลองบางไผ่ ค่าโดยสาร 14-20 บาท ตลอดทั้งวัน (05.30 น.-24.00 น.) จากค่าโดยสารปกติ 14-42 บาท ซึ่งปรับเปลี่ยนจากเดิม ที่บอร์ดเคยอนุมัติให้ลดราคาเฉพาะช่วงนอกเวลาเร่งด่วน (Off Peak) ช่วงเวลา 09.00- 17.00 น.
โดยจะกำหนดเป็นมาตรการ ระยะ 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค. 62-31 มี.ค.63 โดยมีการประเมินผลเก็บตัวเลขทุกเดือน ซึ่งเป็นมาตรการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนตามนโยบาย รมว.คมนาคม ที่ให้ลดราคาโดยไม่มีเงื่อนไข โดยเห็นว่าช่วงเร่งด่วนเช้า,เย็น มีผู้โดยสารจำนวนมาก ควรได้รับการลดค่าครองชีพด้วย
ทั้งนี้ การปรับลดค่าโดยสารครั้งนี้คาดว่าจะทำให้รถไฟฟ้าสายสีม่วงจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 17.8% จากปัจจุบันอยู่ที่เฉลี่ย 6 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่คาดว่าจะสูญรายได้ประมาณ 15 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 45 ล้านบาทในช่วง 3 เดือน โดย รฟม.จะนำส่วนแบ่งรายได้ค่าสัมปทาน และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งมีประมาณ 3,500 ล้านบาทต่อปี มาอุดหนุน
นายสราวุธ กล่าวว่า รฟม.จะสรุปเสนอกระทรวงคมนาคมภายในวันที่ 13 ธ.ค.เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาในวันที่ 17 ธ.ค.เนื่องจากตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 มาตรา 27 กำหนดให้ต้องเสนอ ครม.อนุมัติ กรณีมีผลที่ทำให้รัฐมีรายได้ลดลง
ส่วนผู้โดยสารที่เดินทางรถไฟฟ้า MRT 2 สาย คือสีน้ำเงินและสีม่วงต่อกันนั้น มาตรการเดิมจะมีตั๋วเดือน 4 ประเภท ซึ่งค่าโดยสารต่ำสุดที่ 47 บาทต่อเที่ยวสำหรับตั๋วแบบ 50 เที่ยว (ราคาจำหน่าย 2,350 บาท) นั้น หากครม.เห็นชอบลดค่าโดยสารสีม่วงเหลือ 20 บาท จะทำให้การใช้รถไฟฟ้าเชื่อม 2 สายเหลือค่าโดยสารสูงสุด 48 บาทเท่านั้น โดยจ่ายรถไฟฟ้าสายสีม่วง 20 บาท รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจ่ายสูงสุด 28 บาท (คิดจากราคาสูงสุด 42 บาทหักค่าแรกเข้า 14 บาท) ซึ่งจะจูงใจมากกว่า ตั๋วเดือนที่ต้องจ่ายเป็นเงินมากกว่าในการซื้อต่อครั้ง
การลดค่าโดยสารดังกล่าวสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้วิเคราะห์ว่าจะทำให้ประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งจะมีผลดีทางอ้อม 5 ด้าน คิดเป็นมูลค่าถึง 38.7 ล้านบาทต่อเดือน ได้แก่ 1.ประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถยนต์ 12.57 ล้านบาท 2.ประหยัดเวลาเดินทาง 14.6 ล้านบาท 3. ลดมูลค่าการสูญเสียจากอุบัติเหตุ 570,000 บาท 4. ค่าความสุขที่ประชาชนได้รับ 10.2 ล้านบาท 5. ลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม 630,000 บาท
อย่างไรก็ตาม รฟม.จะดำเนินการส่งเสริมและจูงใจประชาชนใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วงเพิ่มเช่น ร่วมกับ ขสมก.ในการจัดรถ Shuttel Bus เชื่อมจากหมู่บ้านหรือชุมชนกับสถานี
ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯรฟม. กล่าวว่า การลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในรูปแบบตั๋วเที่ยวนั้น รฟม.ได้หารือกับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ในฐานะผู้รับสัมปทานเบื้องต้นแล้ว แต่เนื่องจากสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายยังอยู่ระหว่าการทยอยเปิดเดินรถ ซึ่งล่าสุด เปิดทดลองช่วงเตาปูน-สิรินธร และสิ้นเดือน ธ.ค.นี้จะขยายไปสิรินธร-ท่าพระ ทำให้จำนวนผู้โดยสารยังไม่นิ่ง จึงต้องรอหลังเปิดให้บริการส่วนต่อขยายอย่างเป็นทางการปลายเดือน มี.ค.63 ก่อน จึงจะกำหนดมาตรการค่าโดยสารตั๋วเที่ยวได้
นายสราวุธ กล่าวว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการ รฟม.ยังได้พิจารณารายงานผลการศึกษาโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT/Tram) แต่มีข้อสังเกตเรื่องประมาณการจำนวนผู้โดยสารที่อาจจะสูงเกินไป โดยให้ประเมินพฤติกรรมการเดินทางอย่างรอบด้าน และเปรียบเทียบการเดินทางด้วยขนส่งอื่นๆ เช่น Airport Bus ผู้ใช้ที่เป็นนักท่องเที่ยว รวมถึงการเวนคืนที่ดินช่วงโค้งแยกสนามบินที่ยังมีข้อสังเกตว่าอาจเป็นพื้นที่ป่าสงวนหรือไม่ เพื่อความชัดเจนและไม่เป็นปัญหาในอนาคต โดยให้อนุกรรมการฯ (Executive Committee) ไปพิจารณาตัวเลข และข้อสังเกตเพิ่มเติมของคณะกรรมการ รฟม.ให้ครบทุกมิติและนำเสนอในเดือนม.ค.63 เพื่อพิจารณาและนำเสนอคณะกรรมการ PPP และ ครม.ในช่วงต้นปี 63
สำหรับค่างานโยธาเพิ่มจาก 23,499 ล้านบาท เป็นกว่า 27,000 ล้านบาท งานระบบอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท ส่วนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่ที่ประมาณกว่า 1,500 ล้านบาท โดยคาดว่าปีแรกที่เปิดให้บริการจะมีผู้โดยสารประมาณ 39,000 คนต่อวัน