พาราสาวะถี
ความจริงสิ่งที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ อธิบายผ่านช่องทางยูทูบเมื่อไม่นานมานี้เกี่ยวกับ ลอว์แฟร์ หรือ นิติสงคราม ที่บอกว่ากำลังเป็นเทรนด์ฮิตทั่วโลกของฝ่ายการเมืองที่กุมอำนาจในการใช้กฎหมายหรือกระบวนการทางยุติธรรมหรือศาล เป็นเครื่องมือกำจัดศัตรูทางการเมือง ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะมีมาตั้งแต่การไล่ล่าไล่ล้างระบอบทักษิณเมื่อสิบกว่าปีก่อนแล้วภายใต้กระบวนการตุลาการภิวัตน์ที่ถูกมองว่าเป็นตุลาการพิบัติ
อรชุน
ความจริงสิ่งที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ อธิบายผ่านช่องทางยูทูบเมื่อไม่นานมานี้เกี่ยวกับ ลอว์แฟร์ หรือ นิติสงคราม ที่บอกว่ากำลังเป็นเทรนด์ฮิตทั่วโลกของฝ่ายการเมืองที่กุมอำนาจในการใช้กฎหมายหรือกระบวนการทางยุติธรรมหรือศาล เป็นเครื่องมือกำจัดศัตรูทางการเมือง ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะมีมาตั้งแต่การไล่ล่าไล่ล้างระบอบทักษิณเมื่อสิบกว่าปีก่อนแล้วภายใต้กระบวนการตุลาการภิวัตน์ที่ถูกมองว่าเป็นตุลาการพิบัติ
เพียงแต่ว่าวิธีการดังกล่าวมันอาจจะไม่เด่นชัดเหมือนในยุคสมัยนี้ เพราะรายล้อมคณะเผด็จการสืบทอดอำนาจ เต็มไปด้วยเหล่าคนหัวหมอเนติบริกรผู้สยบยอมเลียท็อปบู๊ตแบบไม่ลืมหูลืมตา มันจึงทำให้เห็นกระบวนการการใช้กฎหมายเล่นงานฝ่ายตรงข้ามผ่านกระบวนการยุติธรรมตั้งต้น และองค์กรที่มีอำนาจซึ่งจนถึงวันนี้คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าเป็นองค์กรอิสระ ขณะเดียวกันก็ใช้กระบวนการทางกฎหมายดังว่าโอบอุ้มพวกเดียวกันไม่ว่าจะทำผิดอย่างไรก็ตาม
กรณีของ ปารีณา ไกรคุปต์ จะเป็นบทพิสูจน์ในเรื่องมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมาย หากอยู่รอดปลอดภัย ไม่มีอะไรระคายเคือง เพราะคืนที่ 682 ไร่ให้ส.ป.ก.ไปแล้วก็ถือว่าความผิดยุติกันไป ส่วนความผิดอื่น ๆ ไม่ต้องไปดูกัน หากเป็นเช่นนั้นคนที่ต้องตอบคำถามสังคมคงไม่ใช่ วิษณุ เครืองาม ที่วันนี้ความน่าเชื่อถือในแง่ของมือกฎหมายที่ลูกศิษย์ลูกหาให้ความเคารพทั่วบ้านทั่วเมือง เหลือน้อยเต็มที จากการตีความกฎหมายแบบศรีธนญชัย
คำถามที่จะเกิดขึ้นคนที่ต้องตอบสังคมให้ได้คือ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ที่บรรดาสื่อทั้งหลายเพิ่งยกหางให้ว่าเป็นบุคลากรผู้ตงฉิน ทำงานแบบไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม แต่ภาพที่เข้าไปพบวิษณุในทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ก็ทำให้สังคมที่ยกมือเชียร์ก่อนหน้านั้นชักจะลังเล ต้องหดแขนลงรอดูว่าจะเป็นข้าราชการน้ำดีอย่างที่สื่อพยายามจะยกย่องหรือไม่
เดิมทีมีการบอกว่ากรมป่าไม้ต้องย้อนกลับไปดูคำพิพากษาของศาลในหลายกรณี เกี่ยวกับการถือครองที่ดินส.ป.ก.แล้วมอบคืน แต่สุดท้ายศาลเห็นว่าได้มีการกระทำผิดพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 หรือ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 การคืนไม่สามารถลบล้างความผิดได้ แต่อธิบดีกรมป่าไม้ระบุหลังพบวิษณุว่า ข้อยุติของปัญหาปารีณาจะจบที่คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา แค่เท่านี้ก็ทำให้คนส่วนใหญ่มองเห็นแล้วว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร ก็รู้กันอยู่ว่าสิ่งที่อ้างถึงนั้นเป็นอย่างไร
ขณะเดียวกัน การออกมาโอบอุ้มปารีณาผ่านคำพูดของวิษณุที่ว่าคืนที่ดินแล้วทุกอย่างก็จบ ผู้คนในสังคมจำนวนไม่น้อยต่างพากันส่ายหน้า หากยึดตรรกะแบบชาวบ้านที่ไม่รู้ข้อกฎหมาย คำถามง่าย ๆ ที่เกิดขึ้นคือ ส.ส.คนดังว่าถือครองที่ดินจำนวนดังกล่าวมาตั้งแต่เมื่อไหร่ คำตอบคือตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเป็นการถือครองก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือส.ป.ก.ในปี 2554 นั่นหมายความว่า หากพื้นที่ส่วนหนึ่งส่วนใดยังเป็นป่าสงวนแห่งชาติหรือพื้นที่ป่า ความผิดก็สำเร็จนับตั้งแต่บัดนั้นแล้ว
เป็นความความผิดตามพ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 หรือ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 การคืนพื้นที่ส.ป.ก.ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมของส.ป.ก.ที่จะไม่ดำเนินคดีความใด ๆ แต่ไม่สามารถลบล้างความผิดในการกระทำความผิดในข้อกฎหมายสอบฉบับดังกล่าวได้ ซึ่งกรมป่าไม้มีทางเดียวที่จะต้องดำเนินการนั่นก็คือ จะต้องแจ้งความดำเนินคดีเท่านั้น และจะอ้างว่าไม่เจตนาก็คงไม่ได้ ยิ่งได้เห็นท่าทีพ่อของคนกระทำผิดก่อนหน้านั้น ก็เด่นชัดเป็นอย่างยิ่งว่าโชว์ความกร่าง แสดงอำนาจบาตรใหญ่ เสมือนว่าตัวเองอยู่เหนือกฎหมายทั้งปวง
คงต้องรอดูว่าการออกตัวของอธิบดีกรมป่าไม้ก่อนให้สัมภาษณ์นักข่าวที่ทำเนียบฯ ว่า “สบายใจได้ครับดำเนินการไปด้วยความยุติธรรม” จะเป็นคำพูดที่แสดงออกถึงการทำงานอย่างตรงไปตรงมาหรือว่าให้ความยุติธรรมเฉพาะกับบางคนบางพวกเท่านั้น จะเหมือนกับที่ ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสาตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นักวิชาการที่คลุกคลี และช่วยเหลือปัญหาที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการพัฒนาจากรัฐและทุน ตั้งคำถามไว้หรือไม่
โดยไชยณรงค์ตั้งปุจฉาตัวโตว่า “ทำไมกับชาวบ้านจึงจับเข้าคุกเป็นว่าเล่น แต่ทำไมทีผู้มีอำนาจจึงปล่อยให้ลอยนวล” แน่นอนว่า หากเป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งโดยแท้ จะละอายใจต่อเสียงวิจารณ์แบบนี้ แต่พวกที่เขียนกติกา ร่างกฎหมายทุกอย่างมาเพื่อตัวเองได้สืบทอดอำนาจ ย่อมเป็นประเภทอย่างหนาไม่สนเสียงทักท้วง ไม่ยอมรับกระบวนการตรวจสอบใด ๆ ทั้งสิ้น ยิ่งเป็นพวกผู้แทนประชาชนในสภาหินอ่อน อย่าได้มาหือ ขนาดพวกที่ว่าแน่ ๆ อ้างอุดมการณ์พรรคเสียใหญ่โตยังยอมศิโรราบไม่เป็นท่า
ไม่เพียงประเด็นที่ดินปารีณาเท่านั้นที่เกิดข้อคำถาม สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ พรรคอนาคตใหม่ ก็ล้วนเต็มไปด้วยความเคลือบแคลงกันอยู่ไม่น้อย แต่เมื่ออ้างกระบวนการยุติธรรม ก็อย่างที่ปิยบุตรว่านั่นแหละมันเป็นนิติสงคราม จึงย่อมเดินหน้าทำลายล้างพวกที่บังอาจมาต่อสู้กับอำนาจสืบทอดให้สิ้นซาก กรณีมติเสียงข้างมากให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ล่าสุดปมกู้เงินจากหัวหน้าพรรค เพิ่งเข้าใจสาเหตุที่ไม่มีการแถลงชี้แจงใด ๆ ไม่ว่าจากประธานกกต.หรือกกต.ที่เหลืออีก 6 คน
เพราะประเด็นการเอาผิดตามมาตรา 72 ของกฎหมายพรรคการเมืองนั้น สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต.ตั้งข้อสังเกตจากข่าวแจกชิ้นดังกล่าวว่า สาระของกฎหมายคือพุ่งเป้าเอาผิดกับพรรคการเมืองที่รับเงินบริจาคที่ “ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ไม่ใช่เรื่องบริจาคเงินเกินกว่ากฎหมายกำหนด หรือเกี่ยวข้องกับกรณีการกู้เงินแต่อย่างใด เจตนาของกฎหมายคือไม่ต้องการให้พรรคการเมือง “รับเงินสกปรก”
คำถามที่น่าสนใจคือ กกต. 5 เสียงที่ลงมติเอาผิดนั้น แน่ใจแล้วหรือที่ใช้มาตรานี้ในการจัดการกับพรรคอนาคตใหม่ รู้แล้วใช่ไหมว่าเงินที่มาให้กู้เป็นเงินสกปรก ความเห็นของสมชัยอาจไม่มีมนต์ขลังใด ๆ เพราะก็ถือเป็นปฏิปักษ์กับอำนาจสืบทอดคนหนึ่งเหมือนกัน คงอยู่ที่ปลายทางวินิจฉัยแล้วแหละว่าจะเห็นตามนั้นหรือไม่ หรืออนาคตใหม่จะใช้ช่องทางตามกฎหมายช่องทางใดในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของพรรคตัวเอง ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปฟังคำพูดของปิยบุตรก็คงจะยากหน่อยหากคิดจะสู้