พาราสาวะถี
ไม่มีอะไรพลิกโผ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีได้รับเลือกให้นั่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 โดยฝ่ายค้านตัดสินใจส่งชื่อ โภคิน พลกุล เข้าแข่งแต่ก็แพ้โหวตตามคาด ส่วนเก้าอี้อื่น ๆ ก็จัดสรรปันส่วนกันตามความเหมาะสม จากนี้ต้องติดตามดูกันผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการชุดนี้ จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจได้หรือไม่
อรชุน
ไม่มีอะไรพลิกโผ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีได้รับเลือกให้นั่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 โดยฝ่ายค้านตัดสินใจส่งชื่อ โภคิน พลกุล เข้าแข่งแต่ก็แพ้โหวตตามคาด ส่วนเก้าอี้อื่น ๆ ก็จัดสรรปันส่วนกันตามความเหมาะสม จากนี้ต้องติดตามดูกันผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการชุดนี้ จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจได้หรือไม่
การเมืองยังคงเป็นเรื่องยุ่ง วุ่นวาย ขัดแย้งกันได้ทุกพรรค ทุกพวก ทุกฝ่าย ซีกรัฐบาลปัญหาที่คาราคาซังกันมา ผ่านการกินข้าวร่วมกัน 2 หน แยกเป็นวงแกนนำพรรครอบหนึ่งและระดับส.ส.อีกครั้ง ได้ภาพความชื่นมื่น ฟังมุกขำขันเรียกเสียงฮาจากผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ แต่คำถามคือ ความบาดหมาง เรื่องค้างคาใจที่มีต่อกันนั้นหมดสิ้นไปโดยพลันใช่หรือไม่ เด็กอมมือก็ยังตอบได้ ขึ้นชื่อว่านักการเมืองเรื่องผลประโยชน์และศักดิ์ศรีมีไว้เพื่อตัวเองและพวกพ้องเท่านั้น
การสยบยอมให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเล่นบทพระเอก ไม่ได้หมายความว่าเชื่อฟัง พร้อมจะทำทุกสิ่งทุกอย่างตามที่บัญชา หากแต่มันยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องแตกหัก นาทีนี้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2563 ยังไปไม่ถึงไหน พวกที่ลงทุนไปหวังถอนทุนและสะสมกระสุนดินดำสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ ยังไม่ได้เริ่มทำอะไร ดังนั้น จึงไม่ใช่ช่วงจังหวะที่จะต้องไปเร่งเร้า เอาใจลูกพรรคยอมหักไม่ยอมงอ อะไรที่หงอได้เพื่ออนาคตก็ต้องยอม ๆ หยวน ๆ กันไปก่อน
แน่นอนว่า ลูกพรรคที่ไม่เข้าใจหรือบางทีเข้าใจแต่จำต้องเล่นบทเป็นฝ่ายค้านภายในพรรค ก็ต้องเดินหน้าแสดงบทบาทที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ เวลานี้สิ่งที่เห็นอาจไม่เป็นอย่างที่บางคนพูด โดยเฉพาะพรรคที่อยู่ร่วมรัฐบาลด้วยกันซึ่งตกเป็นผู้ถูกกระทำจากพลังดูดของพวกเดียวกัน ได้แต่มองตาปริบ ๆ หากเป็นเมื่อก่อนลูกพรรคที่ตีจากก็จะได้ข้อหา “นักการเมืองโสเภณี” ตามไปด้วย แต่ระยะหลังน้ำท่วมปาก เพราะพวกที่ทิ้งพรรคไปดันกระโดดไปร่วมชายคากับคนกันเองแทบทั้งสิ้น
ที่เห็นชัดมากที่สุดคงเป็นพรรคสืบทอดอำนาจ ต้องเข้าใจว่า หากยังอยู่ที่เดิมด้วยพรรษาทางการเมือง มันสมควรที่จะได้ขึ้นชั้นมีตำแหน่งแห่งหนหากพรรคร่วมรัฐบาล แต่ปรากฎว่าต้องไปเข้าคิวต่อแถวตามครรลองหรือมองอีกมุมคือพวกใครพวกมัน สู้พกเอาดีกรีที่มีไปสังกัดพรรคสืบทอดอำนาจ โอกาสที่จะได้ปูนบำเหน็จขึ้นชั้นเป็นเสนาบดีมีสูง เห็นตัวอย่างจาก พุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ และ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ที่ได้ดิบได้ดี ดีกว่าจมปลักอยู่กับพรรคเก่าแก่ได้แต่ภาพลักษณ์แต่ไร้ยศถาบรรดาศักดิ์ ใครจะไปทน
อย่างไรก็ตาม ความกินแหนงแคลงใจภายในพรรคประชาธิปัตย์ ยังเกิดขึ้นเป็นระยะ ล่าสุด เป็นคิวของ วิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.กทม.บิ๊กเนมที่หนนี้สอบตก บทบาทจึงลดน้อยถอยไปด้วยทั้งที่เป็นมือตรวจสอบเรื่องทุจริตประจำพรรค ทว่าสิ่งที่ทำให้เจ้าตัวออกมาโวยคือการถูกถอดจากการได้รับเสนอชื่อให้เป็นกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่สภาเพิ่งเห็นชอบกันไปเมื่อสัปดาห์ก่อน
คนที่ติดตามข่าวสารการเมืองต่างรู้กันว่าวิลาศตรวจสอบโครงการนี้มาตั้งแต่ต้นและปูดข้อมูลสำคัญหลายหน แต่ชื่อก็มาหลุดในโค้งสุดท้าย จนเจ้าตัวถึงกับด่าลั่น “โจรตัวไหน” สาดโคลนหรือสาดน้ำมนต์ให้เปลี่ยนชื่อตัวเอง จึงตั้งคำถามกลับไปยังหัวหน้า เลขาธิการ และประธานวิปของพรรค รับคำสั่งใครมาเปลี่ยนมติพรรค ทั้งที่ก่อนหน้าเพิ่งประกาศห้ามสมาชิกฝ่าฝืนข้อบังคับหรือมติของพรรค
พอจะเข้าใจได้ แกนนำพรรคต้องรับหน้าที่ในการดูแลลูกพรรคทั้งหมด รวมไปถึงรับหน้าเสื่อในการเจรจา ต่อรองกับผู้นำรัฐบาลและแกนนำของพรรคร่วมรัฐบาลด้วย กรณีรัฐสภาใหม่พอจะเข้าใจกันได้ว่า บริษัทที่รับเหมาก่อสร้างนั้นมีใครเป็นเจ้าของ ดังนั้น หากมีคนจะมาขวางและเป็นพวกที่อยู่ร่วมฝ่ายเดียวกันด้วย จึงย่อมไม่ปล่อยภาพนั้นเกิดขึ้น ซึ่งจะว่าไปแล้วไม่จำเป็นต้องไปเกรงใครหน้าไหนทั้งสิ้น ยุคนี้จะมีใครกล้าหือ กล้าขัดกับคนที่อ้างว่าเป็นอดีตเจ้าของบริษัทที่รับงานสร้างสภาใหม่อย่างนั้นหรือ
ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาปีนเกลียวกันสุดฤทธิ์ ซีกฝ่ายค้านก็ใช่ว่าจะเป็นเอกภาพ ไม่ได้หมายถึงความขัดแย้งระหว่าง 7 พรรคร่วม แต่เป็นปัญหาภายในของแต่ละพรรคกันเอง เริ่มตั้งแต่เศรษฐกิจใหม่ที่เป็นพวกลักปิดลักเปิด เป็นทั้งเสียงที่หนุนรัฐบาลและทำหน้าที่ฝ่ายค้านไปในพรรคเดียวกัน ส่วนอนาคตใหม่ก็ยืนเดี่ยวในฐานะพรรคแห่งการเปลี่ยนแปลง การขับ 4 ส.ส.ของพรรคไปเติมเสียงให้ฝ่ายรัฐบาล ทำให้พรรคร่วมฝ่ายค้านมองค้อนกันอยู่ไม่น้อย
ส่วนพรรคเพื่อไทย พยายามที่จะทำให้เห็นว่าเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่การแบ่งก๊กแบ่งเหล่า แย่งอำนาจกันเมื่อคราวเป็นแกนหลักในรัฐบาล มันมีผลมาถึงปัจจุบัน จนถึงนาทีนี้ยังเกิดภาพหัวไปทาง หางไปอีกทิศและระดับนำที่มีหัวโขนโดยเฉพาะเจ๊ใหญ่ที่คุมงานด้านยุทธศาสตร์พรรคก็พยายามแสดงบทบาทแต่ไม่อาจซื้อใจจากพวกที่ตัวเองเคยบ่มเพาะศัตรูไว้คราวแก่งแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีกันได้ สุดท้ายเรื่องการซักฟอกมันจึงดูเหมือนจะเข้าลักษณะท่าดีทีเหลว
ด้านพรรคสืบทอดอำนาจ ก่อนการประชุมใหญ่ของพรรคเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ทำท่าว่าจะมีการขยับเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรคจาก สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็น “เสี่ยแฮ้งค์” อนุชา นาคาศัย ปรากฏว่า 2 พี่น้องตระกูลป.ไม่เห็นด้วย ประกอบกับมีแรงผลักดันจาก สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ยืนยันให้เด็กในคาถายังอยู่ในตำแหน่งเดิม ทุกอย่างจึงหยุดนิ่ง โดยมีการเพิ่มเก้าอี้กรรมการบริหารพรรค เพื่อเป็นการผ่องถ่ายภาระดูแลและให้ค่า สร้างราคาให้ระดับแกนนำจำนวนหนึ่ง
พอหวยล็อกออกมาแบบนี้ ฝ่ายที่ต้องยอมกลืนเลือดอีกกระทอกก็หนีไม่พ้นกลุ่มสามมิตร เพราะการรุกคืบภายในพรรคหากสามารถยึดกุมเก้าอี้ที่สำคัญได้ นั่นหมายถึง อำนาจในการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีในคราวปรับรอบใหม่ย่อมจะมีโอกาสสูงตามมาด้วย แต่พอเจ้าของพรรคตัวจริงเสียงจริงขึงขัง แสดงบทบาทอย่างเต็มที่ พวกที่มีชนักปักหลังจึงต้องยอมใส่เกียร์ถอย แต่ไม่ใช่การถอยอย่างไร้เชิงมีเงื่อนไขบางอย่างถูกยื่นเอาไว้ หากเกิดการบิดพลิ้วอีกรอบ หนนี้อาจต้องถึงคราวแตกหัก