“พาณิชย์” รื้อต้นทุน-กำหนดเพดานยา แก้ปัญหา รพ.เอกชนโขกราคาแพงเกินจริง
"กระทรวงพาณิชย์" รื้อต้นทุน พร้อมกำหนดกำไรส่วนต่างราคายาของโรงพยาบาลเอกชน แก้ปัญหาราคาแพงเกินจริง
นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยความคืบหน้าการกำหนดกำไรส่วนต่างราคายาของโรงพยาบาลเอกชน เพื่อแก้ปัญหาราคายาแพงเกินจริงว่าขณะนี้มีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยกรมการค้าภายในร่วมกับ ผู้แทนจากสถาบันการศึกษา กระทรวงสาธารณสุขโรงพยาบาลเอกชนและผู้เชี่ยวชาญด้านยา ได้กำหนดเพดานราคายาจำนวน 12 กลุ่มราคา เพื่อกำหนดห้ามโรงพยาบาลเอกชนไม่ให้จำหน่ายยาแต่ละกลุ่มเกินเพดานที่กำหนดไว้ ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1. ราคาต้นทางที่ระดับ 0 – 0.20 บาทต่อเม็ด , กลุ่มที่ 2 ราคา 0.20 – 0.50 บาท , กลุ่มที่ 3 ราคา 0.50 – 1 บาท , กลุ่มที่ 4 ราคา 1 – 5 บาท , กลุ่มที่ 5 ราคา 5 – 10 บาท , กลุ่มที่ 6 ราคา 10 – 50 บาท , กลุ่มที่ 7 ราคา 50 – 100 บาท , กลุ่มที่ 8 ราคา 100 – 500 บาท , กลุ่มที่ 9 ราคา 500 – 1,000 บาท , กลุ่มที่ 10 ราคา 1,000 – 5,000 บาท , กลุ่มที่ 11 ราคา 5,000 – 10,000 บาท และกลุ่มที่ 12 ราคา 10,000 บาท ขึ้นไป
ทั้งนี้ การศึกษาการกำหนดเพดานราคายาแต่ละกลุ่ม จะทำให้กำหนดได้ว่ายาในแต่ละกลุ่มมีกำไรได้ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของราคาต้นทุน เพื่อป้องกันไม่ให้โรงพยาบาลเอกชนมีการจำหน่ายยาที่แพงเกินไป หลังจากที่ผ่านมาพบว่ามีการคิดกำไรยาบางรายการมากในระดับ 1,000-10,000%
รวมทั้งปัจจุบันมียาประมาณแสนรายการที่โรงพยาบาลเอกชนได้ส่งมาให้กรมการค้าภายในเพื่อประกาศขึ้นเว็บไซต์ ซึ่งจากการกำหนด 12 กลุ่มราคา พบว่ายาที่มีราคา 10-50 บาท มีมากถึง 45,000 รายการ รองลงมาก็จะเป็นราคา 1-5 บาทมีกว่า 26,000 รายการ โดยหลังจากที่ได้แบ่งยาทั้งหมดออกเป็น 12 กลุ่มแล้ว ก็จะมีการศึกษาและคำนวณราคาขาย กำไร ต้นทุน มาหาค่าเฉลี่ยในแต่ละกลุ่มก่อนที่จะกำหนดเพดานของเปอร์เซ็นต์ว่าแต่ละกลุ่มราคาต้องไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาดังกล่าวจำเป็นต้องขอความรู้จากผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างมาก ซึ่งหลายๆองค์กรก็พร้อมช่วยเหลือกรมฯในการดำเนินการ เนื่องจากการประกาศเพดานราคายาในโรงพยาบาลเอกชนถือว่าเป็นมาตรการที่สำคัญ จึงต้องมีการศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ รวมถึงศึกษาผลกระทบในทุกมิติเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกๆฝ่าย
โดยสาเหตุที่กรมฯ ไม่สามารถกำหนดเพดานกำไรส่วนต่างของยาทุกรายการเป็นอัตราเดียวกันได้ทั้งหมด เพราะจะมีผลกระทบต่อผู้จำหน่ายและผู้ป่วยอย่างมาก เช่น ยาที่รับซื้อมาในราคาเพียง 20 สตางค์ (สต.) หากกำหนดให้มีกำไรได้ไม่เกิน 100% เท่ากับให้ขายได้ในราคาไม่เกิน 40 สต. ซึ่งยังถือว่าไม่แพงมาก และผู้ป่วยรับได้ แต่หากเป็นยาที่ต้นทุนสูงถึง 100,000 บาท ถ้ากำไรส่วนต่างไม่เกิน 100% เท่ากับสามารถตั้งราคาขายได้สูง 200,000 บาท ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ป่วย ดังนั้น ยาที่มีต้นทุนต่ำอาจปล่อยให้มีการกำหนดเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่าตัวยาที่มีราคาแพง
นอกจากนั้น กรมการค้าภายใน ยังมีแนวคิดที่จะมีการประกาศขึ้นเว็บไซต์ของกรมฯในการเปรียบต้นทุนของยาที่ซื้อจากโรงพยาบาลเอกชนแต่ละรายการ ว่ายาที่ผู้บริโภคซื้อนั้นมีต้นทุนจริงๆเท่าไหร่เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นข้อมูลที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมากและที่สำคัญหากประชาชนรู้ก็อาจทำให้ราคาปรับลดลงในอัตราที่เหมาะสมด้วย
ส่วนความคืบหน้าในการนำราคาค่าบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด 5,000 รายการ ขึ้นเว็บไซต์กรมการค้าภายใน (www.dit.go.th) เพื่อเปรียบราคาค่าบริการแต่ละโรงพยาบาล 351 แห่ง เช่น ค่าเอ็กซเรย์ , ค่าตรวจเลือด , ค่าห้อง , ค่าอาหาร เป็นต้น มาจัดทำเป็นคิวอาร์โค้ดเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและเปรียบเทียบราคายานั้น ล่าสุด กรมฯ อาจนำร่อง 300 รายการก่อน จากเดิมที่คาดว่าจะนำร่อง 200 รายการเนื่องจากผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าจะสามารถพิจารณาได้ทันและคาดว่าจะประกาศขึ้นเว็บไซต์ได้ในต้นปี 2563