สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 9 ม.ค. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 9 ม.ค. 2563
ดัชนีดาวโจนส์, S&P500 และ Nasdaq ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทำนิวไฮเมื่อคืนนี้ (9 ม.ค.) ขานรับแนวโน้มที่เป็นบวกของการทำข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากจีนยืนยันว่ารองนายกรัฐมนตรีหลิว เหอ จะเดินทางไปยังสหรัฐเพื่อร่วมลงนามการค้าเฟสแรกในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ ตลาดยังคงได้ปัจจัยหนุนจากราคาหุ้นแอปเปิลที่พุ่งขึ้นขานรับรายงานยอดขาย iPhone ที่แข็งแกร่งในจีน และสถานการณ์ตะวันออกกลางที่เริ่มคลายความตึงเครียด
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 28,956.90 จุด เพิ่มขึ้น 211.81 จุด หรือ +0.74% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,274.70 จุด เพิ่มขึ้น 21.65 จุด หรือ +0.67% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,203.43 จุด เพิ่มขึ้น 74.18 จุด หรือ +0.81%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (9 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง หลังจากที่สหรัฐและอิหร่านส่งสัญญาณว่าต้องการที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างกัน นอกจากนี้ การคาดการณ์ที่ว่าสหรัฐและจีนจะลงนามข้อตกลงการค้าในสัปดาห์หน้าได้ช่วยหนุนตลาดด้วย
ดัชนี Stoxx Europe 600 บวก 0.31% ปิดที่ 419.64 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,042.55 จุด เพิ่มขึ้น 11.56 จุด หรือ +0.19%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 13,495.06 จุด เพิ่มขึ้น 174.88 จุด หรือ +1.31% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,598.12 จุด เพิ่มขึ้น 23.19 จุด หรือ +0.31%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (9 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่าน หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐระบุว่า เขาจะไม่ใช้ปฏิบัติการทางทหารกับอิหร่าน ขณะที่ทางอิหร่านเองก็ส่งสัญญาณยุติการตอบโต้สหรัฐ นอกจากนี้ตลาดยังได้แรงหนุนจากรายงานข่าวที่ว่า สหรัฐและจีนจะลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรกในสัปดาห์หน้า
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,598.12 จุด เพิ่มขึ้น 23.19 จุด หรือ +0.31%
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 2 เมื่อคืนนี้ (9 ม.ค.) เนื่องจากสถานการณในตะวันออกกลางที่เริ่มคลายความตึงเครียดและแนวโน้มที่เป็นบวกของการทำข้อตกลงการค้าเฟสแรกระหว่างสหรัฐและจีนนั้น ทำให้นักลงทุนลดความต้องการถือครองทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 5.9 ดอลลาร์ หรือ 0.38% ปิดที่ 1,554.3 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 23.1 เซนต์ หรือ 1.27% ปิดที่ 17.936 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 8.2 ดอลลาร์ หรือ 0.85% ปิดที่ 972 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 1 ดอลลาร์ หรือ 0.05% ปิดที่ 2,060.40 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 3 เมื่อคืนนี้ (9 ม.ค.) ท่ามกลางการซื้อขายที่ซบเซา หลังจากสถานการณ์ในตะวันออกกลางเริ่มส่งสัญญาณคลี่คลาย นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังได้รับปัจจัยกดดันจากตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่พุ่งขึ้นสวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 5 เซนต์ หรือน้อยกว่า 0.1% ปิดที่ 59.56 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 2562
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 7 เซนต์ หรือ 0.1% ปิดที่ 65.37 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2562
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (9 ม.ค.) เนื่องจากสถานการณ์ตะวันออกกลางที่เริ่มคลายความตึงเครียดเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อดอลลาร์อย่างคึกคัก ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนธ.ค.ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในคืนนี้
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.50 เยน จากระดับ 109.22 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3080 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3029 ดอลลาร์แคนาดา แต่หากเทียบกับฟรังก์สวิส ดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.9730 ฟรังก์ จากระดับ 0.9737 ฟรังก์
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1104 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1113 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3058 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3101 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6852 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6873 ดอลลาร์สหรัฐ