“ธปท.” รับกังวลบาทแข็งต่อเนื่อง ย้ำทุกฝ่ายร่วมมือแก้ไข เพิ่มนำเข้า-ลงทุนตปท.
ธปท. เผยบัญชีเดินสะพัดเกินดุลปี สาเหตุทำบาทแข็ง แนะภาครัฐ-เอกชน ร่วมมือแก้ไข เพิ่มนำเข้า-ลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศ
นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าในปี 62 ที่ผ่านมา ว่ามีสาเหตุหลักสำคัญจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ไม่ใช่การเก็งกำไรระยะสั้นจากนักลงทุนต่างชาติ เพราะหากพิจารณาจากข้อมูลจะพบว่าการลงทุนของต่างชาติสุทธิในปี 62 เป็นการไหลออก โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง พร้อมยอมรับว่า ธปท. มีความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาท โดยได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมจะใช้มาตรการเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น
ทั้งนี้ ในปี 62 ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 8% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่หากนับตั้งแต่ต้นปี 63 จะพบว่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลง 1% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการที่เงินบาทแข็งค่าเป็นอาการที่สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ โดยการแทรกแซงค่าเงิน รวมถึงการใช้นโยบายการคลังอื่นๆ ที่หวังผลระยะสั้นแม้จะเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่มองว่าเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น แต่ต้นเหตุของปัญหาเงินบาทแข็งค่าคือการเกินดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง และการออกไปลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศยังมีน้อย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ธปท.ได้ดำเนินมาตรการเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น และผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงิน เพื่อเอื้อต่อการลงทุนในต่างประเทศ และสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทลง
แต่เมื่อเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกันแก้ไข ไม่ว่าจะเป็น ธปท. ภาครัฐ และภาคเอกชน ด้วยการเพิ่มการนำเข้าหรือลงทุนในเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงการผลิต เพราะถือเป็นจังหวะที่ดีที่จะนำเข้าในช่วงต้นทุนถูกลงจากเงินบาทแข็งค่า , ลดแรงซื้อบาทจากภาคส่งออก เช่น การเก็บรายได้ไว้ในบัญชีเงินตราต่างประเทศ (FCD) หรือการหักชำระรายจ่ายและแลกนำเข้าเฉพาะส่วนที่เหลือ , ออกไปลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยให้เกิดแรงผลักดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ธปท. ได้บริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนในหลายรูปแบบ เช่น ในการชะลอการแข็งค่าของเงินบาท ธปท. จะเข้าไปซื้อดอลลาร์และขายบาท ซึ่งดอลลาร์ที่ซื้อเข้ามาอยู่ในรูปของเงินสำรองฯ ซึ่งเงินสำรองฯ ก็จะเพิ่มขึ้น โดยที่ผ่านมาจะเห็นว่าเงินสำรองฯ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันไทยมีเงินทุนสำรองสูงอยู่ในอันดับต้นๆของโลก สะท้อนว่า ธปท.ได้มีการเข้าดูแลค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดด้วยการซื้อดอลลาร์อย่างต่อเนื่อง
“ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เงินทุนสำรองฯ เพิ่มขึ้นเกือบ 8 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้จากการค้าขายสินค้าและบริการกับต่างประเทศ หาก ธปท.ไม่มีการเข้าดูแลค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา เงินทุนสำรองฯ ก็จะไม่เพิ่มขึ้น และเงินบาทอาจจะแข็งค่ามากกว่าระดับปัจจุบัน” นายเมธี ระบุ
สำหรับกรณีที่มีการเสนอให้ตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (SWF) เพื่อช่วยผ่อนคลายการแข็งค่าของเงินบาทนั้น นายเมธี มองว่า การตั้งกองทุนดังกล่าวไม่น่าจะมีผลช่วยให้เงินบาทปรับอ่อนค่าลงได้ เนื่องจากทุนสำรองระหว่างประเทศของ ธปท.ขณะนี้อยู่ในต่างประเทศอยู่แล้ว การตั้งกองทุนดังกล่าวขึ้นมาเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงประเภทของการลงทุนที่อยู่ในต่างประเทศเท่านั้น ไม่ได้ช่วยให้บาทอ่อนค่าลง
พร้อมมองว่า ขณะนี้การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงมักมีความเสี่ยงสูงด้วย ดังนั้นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งปัจจุบันสินทรัพย์ของต่างประเทศค่อนข้างจะ over price จึงอาจเป็นการไปซื้อของแพงได้
“ถ้าอยากให้บาทอ่อน ภาครัฐและเอกชนต้องซื้อดอลลาร์ในตลาดแล้วไปลงทุนในต่างประเทศ แต่ถ้ามาซื้อดอลลาร์จากแบงก์ชาติ บาทไม่อ่อน เพราะเท่ากับว่าเอาเงินของเราไปให้เขาเลย…เรามองว่าต้องดูที่วัตถุประสงค์ในการตั้งกองทุน SWF ว่าตั้งไปเพื่ออะไร ถ้าตั้งเพื่อจะให้ค่าเงินอ่อน คงไม่ได้ช่วย และถ้ามาซื้อดอลลาร์ที่แบงก์ชาติ ก็แค่การสวิชชิ่งดอลลาร์เท่านั้น” นายเมธี ระบุ