“สมคิด” เร่งเอกชนลงทุน-รัฐเบิกจ่ายงบปี 63 อัดเม็ดเงินเข้าระบบ ศก.

“สมคิด” กระตุ้นเอกชนลงทุน-หนุนรัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 63 อัดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ


นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานเสวนา 2563 ปีแห่งการลงทุน : ทางออกประเทศไทย ว่าการลงทุนถือเป็นทางออกประเทศที่สามารถช่วยกระตุ้นและประคองเศรษฐกิจได้ และหากมีการลงทุนจะส่งผลดีทำให้เงินบาทไม่แข็งค่าไปกว่านี้ และขอฝากให้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพราะการลงทุนภาคเอกชนยังนิ่งมาก โดยมีการลงทุนเพียง 16% ของจีดีพี  หากไม่ลงทุน รอเพียงให้ค่าเงินบาทอ่อน และรอให้เศรษฐกิจต้องหมุนคงไม่ได้ แต่ต้องคิดใหม่ว่าจะร่วมมืออย่างไรได้บ้าง

พร้อมกันนี้ยังแนะภาคเอกชนควรใช้โอกาสในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิต พร้อมทั้งมอบหมายให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อออกมาตรการที่ส่งเสริมให้ภาคเอกชนรับเปลี่ยนเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยจะมีระยะเวลาโครงการ 6 เดือน และติดตั้งเครื่องจักรให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

นายสมคิด กล่าวว่า หากจะลงทุนก็ต้องลงทุนให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยี คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จึงมีบทบทสำคัญที่จะเข้ามามีส่วนขับเคลื่อนการลงทุน ทั้งนี้เมื่อสามารถผลักดันโครงการต่างๆในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ได้ จะมีส่วนช่วยยืนยันให้ต่างชาติเกิดความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุน

นอกจากนี้ต้องเดินหน้าการเปิดประมูลระบบ 5G เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2563 เพราะมองว่า ระบบ 5G จะเป็นกลไกหลักสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่

นายสมคิด กล่าวว่า สิ่งที่รัฐจะเร่งขับเคลื่อนคือ ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ภาคอุตสาหกรรม Creative Economy การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก การดูแลผู้สูงอายุ รวมไปถึงการขับเคลื่อนด้านการศึกษาและการดูแลด้านสาธารณสุข ต้องลงทุนเดี๋ยวนี้ อย่ารอช้า ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจซบเซา แม้กระทั่งนักการเมืองต้องช่วยกันสร้างบรรยากาศให้ดี

ทั้งนี้ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาได้มีการวางรากฐานให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ และลดความเหลื่อมล้ำ เพราะขณะที่มีรัฐบาลใหม่เข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 62 ต้องเผชิญกับภาวะตึงเครียดทางการค้า และเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 4 ต้องเผชิญกับปัญหาสำคัญ หากจะเรียกว่าเป็นระเบิดก็ได้

โดยระเบิดลูกแรกถือเป็นระเบิดเหนือน้ำ คือ เรื่องของการส่งออกที่ค่อยชะลอตัวลงจนกระทั่งติดลบ 7.7% ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นผลมาจากสินค้าส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตที่เชื่อมโยงกับจีนและตลาดโลก เมื่อมีปัญหาเศรษฐกิจโลกก็ส่งผลต่อมูลค่าจีดีพีที่มาจากการส่งออกถึง 70%

สำหรับระเบิดลูกที่สองเปรียบเป็นระเบิดใต้น้ำ คือเรื่องการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ขับเคลื่อนช้าเกินไป สาเหตุสำคัญมาจากการจัดสรรงบประมาณที่ล่าช้า ส่งผลต่องบลงทุนที่ไม่สามารถขับเคลื่อนได้ ซึ่งไตรมาสที่ 4 ของปี 62 งบทั้งหมดอยู่ที่ 23% ของงบประมาณทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นงบประจำที่จ่ายตามเกณฑ์ และมีงบลงทุนมีเพียง 8% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงบประมาณได้ให้สัญญาว่า ในไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 63 จะผลักดันการเบิกจ่ายงบประมาณจาก 23% ไปสู่ 54% เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาสนี้ให้ได้ 1 ล้านล้านบาท และในไตรมาส 3 จะผลักดันงบประมาณจาก 54% ไปสู่ 70% และผลักดันงบประมาณให้ครบ 100% ก่อนเดือนกันยายน แต่ทั้งนี้ยังมีระเบิดลูกใหม่ คือ เรื่องของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

Back to top button