พาราสาวะถี
เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาต่อเนื่องเมื่อถึงวันครูของทุกปี เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องไปเสาะแสวงหาครูของนายกรัฐมนตรีมาให้ลูกศิษย์ได้กราบไหว้แสดงความกตัญญูกตเวที ปีนี้ก็เช่นกัน ครูวีระ เดชพันธ์ วัย 81 ปีอดีตครูของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยเรียนโรงเรียนวัดนวลนรดิศตั้งแต่ปี 2518 ได้รับเชิญมาร่วมงานวันครูที่คุรุสภาเพื่อให้ท่านผู้นำได้คารวะครู เพื่อแสดงความกตัญญูและน้อมรำลึกถึงพระคุณครู
อรชุน
เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาต่อเนื่องเมื่อถึงวันครูของทุกปี เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องไปเสาะแสวงหาครูของนายกรัฐมนตรีมาให้ลูกศิษย์ได้กราบไหว้แสดงความกตัญญูกตเวที ปีนี้ก็เช่นกัน ครูวีระ เดชพันธ์ วัย 81 ปีอดีตครูของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยเรียนโรงเรียนวัดนวลนรดิศตั้งแต่ปี 2518 ได้รับเชิญมาร่วมงานวันครูที่คุรุสภาเพื่อให้ท่านผู้นำได้คารวะครู เพื่อแสดงความกตัญญูและน้อมรำลึกถึงพระคุณครู
ความจริงชีวิตของพลเอกประยุทธ์ก็ใกล้ชิดผูกพันกับครูอยู่แล้ว เนื่องจากมีแม่เป็นครูและมีภรรยาก็เป็นครู อย่างไรก็ตาม ครูที่เคยเป็นผู้สอนท่านผู้นำมานั้นดูจะแสดงความเป็นห่วงต่อลูกศิษย์รายนี้ไม่น้อย จากการติดตามข่าวสารที่พบว่าลูกศิษย์ที่เป็นถึงผู้นำประเทศบางครั้งแสดงอารมณ์เสีย อะไรเป็นเหตุให้อารมณ์เสียก็ไม่ทราบ แต่การที่แสดงอะไรออกมาครูก็เป็นห่วง หากคนอารมณ์เสียแล้วสามารถข่มอารมณ์ มีความอดทน ยิ้มอย่างเดียว ก็จะทำให้น่ารักขึ้น
โดยประสาครูผู้ที่ถือเป็นผู้ให้มาโดยตลอดไม่ว่าครูรายใดก็ตาม ครูวีระก็เช่นกันยืนยันว่าที่เตือนท่านผู้นำ และพูดถึง เพราะรัก ติดตามข่าวนายกฯ ตลอด “ความเห็นต่างกับความขัดแย้งคนละอย่างกัน” ตรงนี้ถือเป็นการเตือนสติลูกศิษย์ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าอีกหลายประโยคต่อมาครูของท่านผู้นำจะเรียกร้องให้ฝ่ายเห็นต่างมาร่วมมือกันช่วยทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าก็ตาม นั่นถือเป็นทิศทางของคนโดยทั่วไปก็ต้องมองอย่างนั้นอยู่แล้ว
ต้องยอมรับว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 6 ปีที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอยู่ในตำแหน่งผู้นำประเทศ มีแต่การตอกย้ำประเด็นความขัดแย้ง การปลุกระดม การกระทำแบบเดิมแล้วจะวกกลับไปแบบเดิมเหมือนตอนที่ตัวเองต้องออกมายึดอำนาจทั้งที่ไม่อยากจะอยู่ในอำนาจ (แต่วางแผนทุกอย่างเพื่อการสืบทอดอำนาจโดยเฉพาะ) โดยที่ไม่ได้มองเลยว่าการที่มีกลุ่มคนออกมาเคลื่อนไหวนั้น ข้อเรียกร้องเป็นอย่างไร และเขาต้องการให้แก้ไขอย่างไร
เรื่องความเป็นประชาธิปไตย หากไม่ใช่การสืบทอดอำนาจเพื่อที่ตัวเองจะได้กลับมาฟอกขาวจากผู้นำเผด็จการเป็นผู้นำที่ผ่านการเลือกตั้ง ก็คงไม่เขียนกฎหมายล็อกให้ส.ว.ลากตั้งที่ตัวเองเลือกมากับมือ 250 เสียงสามารถร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้ ไม่ต้องพูดถึงประเด็นอื่น ๆ ที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบที่ฝ่ายเห็นต่างมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย และกำหนดไว้เพื่อให้เผด็จการยึดอำนาจได้อยู่ในอำนาจต่อไปเท่านั้น
ขณะที่ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รวมไปถึงความสามารถในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน หากตั้งใจฟังและพร้อมที่จะแลกเปลี่ยน คงจะนำมาซึ่งประโยชน์เพื่อการพัฒนา นำประเทศเดินไปข้างหน้าโดยแท้ แต่พอเชื่อมั่นว่าที่ตัวเองทำดี ไม่มีใครจะมารู้มากไปกว่าพรรคพวกตัวเอง แต่มันสวนทางกับสภาพความเป็นจริง มันจึงเป็นสิ่งที่บั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลลงไปเรื่อย ๆ และเป็นที่มาของมวลชนที่ไปร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุงจำนวนมาก
ความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์อ่านจากการลาออกของ กรณ์ จาติกวณิช ล่าสุด คนที่เป็นหัวหน้ามองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนเข้า-ออกเพราะพรรคอยู่มานาน 73 ปี ในฐานะคนที่มีหัวโขนทั้งเป็นผู้นำพรรคและนั่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลสืบทอดอำนาจคงต้องแสดงออกในลักษณะนี้ แต่คนที่อยู่กับพรรคมานานเหมือนกันกลับมองต่างอย่างสิ้นเชิง กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องปกติเพราะคนที่ลาออกเป็นระดับอดีตรัฐมนตรีและถือมีบทบาทอย่างสำคัญภายในพรรคมาโดยตลอด
หากเป็นสมาชิกระดับปลายแถวก็ว่าไปอย่าง สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ระบายผ่านเฟซบุ๊กถือเป็นการสะท้อนปัญหาที่ตรงจุด พร้อมกับส่งสัญญาณไปยังคนมีอำนาจในพรรคด้วย หากยังคิดกันแค่ว่ามันเป็นเรื่องปกติ ต้องรับรู้ด้วยว่า สมาชิกและคนที่สนับสนุนพรรคหลายคนรู้สึกท้อถอย และสั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อการลาออกของคนระดับแกนนำพรรค สิ่งที่เป็นคำถามตัวโตคือ แล้วคนในพรรคจะเยียวยาความรู้สึกกันอย่างไร จะเดินต่อกันไปอย่างไร
แม้ว่ารายของกรณ์การลาออกจะไม่ได้ไปซบพรรคสืบทอดอำนาจหรือพรรคเครือข่าย แต่สิ่งที่บรรดาแฟนพันธุ์แท้พรรคเก่าแก่เป็นห่วงคือ แล้วคนอื่นที่ยังไม่ได้ลาออกเล่า ก้าวต่อไปหากใกล้เข้าสู่ฤดูกาลเลือกตั้ง จะยังคงเชื่อมั่นและพร้อมเดินไปกับพรรคอีกหรือไม่ วันนี้ถึงจะมีอำนาจในฐานะฝ่ายบริหารแต่ใช่ว่าจะมีพลังในการที่จะสร้างความนิยม ชมชอบจากประชาชนคนส่วนใหญ่ มิหนำซ้ำ ฐานเสียงสำคัญก็ถูกพรรคแกนนำรัฐบาลเดินเกมดูดอย่างไม่หยุดหย่อน
จากอดีตที่เคยเป็นคู่แข่งสำคัญกับพรรคเพื่อไทย มาพ.ศ.นี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว เพราะอีกฝั่งยังคงยึดกุมฐานเสียงได้เหนียวแน่น และก็มีทางเลือกใหม่สำหรับคนที่ไม่ต้องการสนับสนุนฝ่ายสืบทอดอำนาจและไม่เอาคนของนายใหญ่ นั่นก็คืออนาคตใหม่ ต่อให้ถูกยุบพรรคไปก็ตาม ในทางการเมืองก็เชื่อว่าจะมีพรรครองรับเพื่อสืบสานแนวทางที่ได้แผ้วถางทางไว้จนเป็นที่ยอมรับไปแล้ว กลายเป็นว่าวันนี้ประชาธิปัตย์ต้องช่วงชิงคะแนนเสียงที่เป็นคอเดียวกันอุตลุดกับพลังประชารัฐ โดยที่ฝ่ายหลังกุมความได้เปรียบทุกประตู
ขณะที่เพื่อไทยปมปัญหางูเห่าภายในพรรค มาตรการเด็ดขาดที่ใช้จัดการ 3 ส.ส.โหวตสวนคนที่ถูกเล่นงานหนักหนีไม่พ้น พรพิมล ธรรมสาร จากเขต 5 ปทุมธานี เพราะเจตนามันชี้ชัด เลือกตั้งครั้งหน้าคงย้ายคอกแน่นอน ดังนั้น การลงดาบด้วยการห้ามร่วมกิจกรรมพรรคและไม่ส่งลงสมัครเลือกตั้งครั้งหน้าจึงเป็นสิ่งที่คณะกรรมการที่พิจารณาตัดสินใจได้โดยไม่ลังเล ขณะที่ พลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ จากกทม.และ ขจิตร ชัยนิคม จากอุดรธานี ยังมีเงื่อนไขที่ให้กลับตัวกลับใจเพื่อพิจารณาส่งลงสมัครได้
ถือเป็นการแก้ไขปัญหากันตามสภาพ เพราะการเมืองที่ออกแบบมามีรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำแบบนี้ ก็เป็นการเปิดช่องให้ส.ส.เสือหิวทั้งหลายได้กอบโกยกันเต็มที่ ความจริงคงอยู่ที่ฝ่ายแจกกล้วยมากกว่าที่ควรจะเกิดความละอาย ซึ่งคงยากเพราะคนระดับเลขาธิการพรรคขนาดบอกว่าพวกเป็นงูเห่าต้องยกย่องโดยอ้างว่าต้องการเห็นประเทศเดินหน้า โดยไม่สนใจว่าที่มาของเสียงนั้นโสมมเพียงใด นี่ไงคุณสมบัติอย่างหนาของขบวนการสืบทอดอำนาจ