‘สรยุทธ’ กรรมคู่สัญญารัฐ
สรยุทธ สุทัศนะจินดา ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 6 ปี 24 เดือน แต่แก้โทษจากศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ 13 ปี 4 เดือน เพราะฎีกาฟังขึ้นว่า ที่บริษัทไร่ส้มจ่ายเช็ค 6 ฉบับ 739,770 บาท ให้พนักงาน อสมท ผู้มีหน้าที่จัดทำใบคิวโฆษณานั้น ไม่ใช่ “สินบน” แต่เป็นเช็คที่จ่ายค่าประสานงานโดยคิดจากเงินค่าโฆษณาร้อยละ 2 ต่อครั้ง
ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง
สรยุทธ สุทัศนะจินดา ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 6 ปี 24 เดือน แต่แก้โทษจากศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ 13 ปี 4 เดือน เพราะฎีกาฟังขึ้นว่า ที่บริษัทไร่ส้มจ่ายเช็ค 6 ฉบับ 739,770 บาท ให้พนักงาน อสมท ผู้มีหน้าที่จัดทำใบคิวโฆษณานั้น ไม่ใช่ “สินบน” แต่เป็นเช็คที่จ่ายค่าประสานงานโดยคิดจากเงินค่าโฆษณาร้อยละ 2 ต่อครั้ง
พนักงาน อสมท ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 จึงไม่ผิดฐานรับสินบน สรยุทธจำเลยที่ 3 และพนักงานไร่ส้มที่เป็นจำเลยที่ 4 จึงไม่ผิดฐานจ่ายสินบน (หักภาษี ณ ที่จ่าย)
กระนั้น ศาลก็ยังเห็นว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่รายงานค่าโฆษณาเกินเวลา ทำให้ อสมท เสียหาย และเห็นว่าจำเลยที่ 4 สั่งให้จำเลยที่ 1 ใช้ปากกาลบคำผิดในใบโฆษณาโดยอ้างว่าจำเลยที่ 3 (สรยุทธ) ขอมา ซึ่งถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ผลตอบแทนก็คงไม่ทำ
ศาลจึงชี้ว่าเช็คหักภาษี ณ ที่จ่าย แม้ไม่ใช่สินบน แต่ถ้าไม่จ่าย ก็ไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 1 จะลบใบโฆษณาและไม่รายงานค่าโฆษณาเกินเวลา
“ผมได้ต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมมาอย่างครบถ้วนแล้ว ผลออกมาอย่างไร ผมก็ต้องยอมรับ
ผมได้พยายามแสดงให้เห็นว่า ไร่ส้มโฆษณาเกิน ในขณะที่ อสมท โฆษณาเกินมากยิ่งกว่า โดยไร่ส้มไม่เคยไปเบียดบังเวลาโฆษณาของ อสมท แต่เมื่อเห็นว่าสถานีเป็นเจ้าของเวลา จะทำอะไรก็ได้ ผมก็ยอมรับ
กระบวนการโฆษณา ไม่เคยมีการปกปิด และถึงจะต้องการปกปิด ก็ปกปิดไม่ได้โดยเจ้าหน้าที่ธุรการเพียงคนเดียว โดยมีกระบวนการที่เปิดเผยเกิดขึ้นต่อเนื่องเรื่อยมาเกินกว่า 500 ครั้ง เจ้าหน้าที่คนนี้ได้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาแล้วผ่านใบคิวโฆษณาทุกวัน แต่เมื่อเห็นว่าโฆษณาเกินปกปิดได้ ผมก็ต้องยอมรับ”
เพจสรยุทธโพสต์ความในใจก่อนฟังคำพิพากษา ที่เขาพูดเป็นจริงหรือไม่
คณะทำงานพิจารณาศึกษาเพิ่มเติม กรณีการทุจริตค่าโฆษณาเกินเวลา ระหว่างบริษัท อสมท และบริษัทไร่ส้ม ในคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารมวลชน สนช. เผยแพร่รายงานที่อาจไม่มีคนสนใจนัก เมื่อเดือนมกราคม 2562 ว่าเป็นความจริง ที่ อสมท ก็โฆษณาเกินเวลาเหมือนกัน และมากกว่าไร่ส้มด้วยซ้ำ
สัญญาร่วมผลิตรายการ “คุยคุ้ยข่าว” กำหนดข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์แบบ Time Sharing 50:50 ทั้งสองฝ่ายแบ่งเวลาไปขายโฆษณา แม้ในสัญญากำหนดไว้เฉพาะส่วนแบ่งของไร่ส้ม วันจันทร์ถึงศุกร์ 2 นาที 30 วินาที วันเสาร์อาทิตย์ 5 นาที แต่โดยความหมาย Time Sharing ก็ควรจะแบ่งเท่า ๆ กันไม่ใช่หรือ
แต่ปรากฏว่า ในช่วง 2 ปีดังกล่าว อสมท โฆษณาเกินไปถึง 237 ล้าน ไร่ส้มเกิน 138 ล้าน แต่เมื่อ อสมท อ้างว่า ตรวจพบการทุจริต องค์กรต่าง ๆ ที่เข้ามาตรวจสอบก็ชี้ว่าไร่ส้มผิดสัญญา
“สถานีเป็นเจ้าของเวลา จะทำอะไรก็ได้” แต่ที่ขายโฆษณาได้นาทีละ 2 แสน ก็ไม่ใช่เพราะสรยุทธหรือ
คณะทำงานยังระบุว่า โดยระบบการพิจารณาและอนุมัติรับรองคิวโฆษณาของ อสมท แสดงให้เห็นว่าผู้บริหาร อสมท ทราบถึงการออกอากาศรายการโฆษณาส่วนเกินของทั้งสองฝ่าย ข้ออ้างที่ว่าผู้บริหารไม่ทราบ เพราะเจ้าหน้าที่ธุรการไม่รายงาน ไม่สมเหตุสมผล
พูดภาษาบ้าน ๆ คือ โฆษณาเกินมาตั้ง 2 ปี ออกอากาศให้เห็นคาตา ระบบโฆษณาทีวีก็มีบริการ Monitor Advertising อสมท จะไม่รู้ได้ไง
สาเหตุเพราะอะไรก็ไม่ทราบ ที่ปล่อยให้โฆษณาเกินทั้งสองฝ่าย แต่ท้ายที่สุดกลายเป็นสรยุทธผิดสัญญา และพอเอาผิดอาญา ก็ติดคุกไป
นี่เป็นบทเรียนว่าใครจะเข้าไปเป็นคู่สัญญาทำประโยชน์กับรัฐ ต้องคิดให้ดี เมื่อไหร่ที่ตีความว่า “รัฐเสียหาย” คุณเป็นฝ่ายผิดเสมอ ต่อให้โอดครวญว่าเสียเปรียบ