สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 22 ม.ค. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 22 ม.ค. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดขยับลงเพียงเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (22 ม.ค.) ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ต่างก็ปิดในแดนบวก หลังจากเทศบาลเมืองอู่ฮั่นของจีนประกาศมาตรการสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งข่าวดังกล่าวช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยหนุนจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนบางแห่ง ซึ่งรวมถึงบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล บิสซิเนส แมชชีน (IBM)
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 29,186.27 จุด ลดลง 9.77 จุด หรือ -0.03% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,321.75 จุด เพิ่มขึ้น 0.96 จุด หรือ +0.03% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,383.77 จุด เพิ่มขึ้น 12.96 จุด หรือ +0.14%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (22 ม.ค.) โดยถูกกดดันจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐขู่ที่จะเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ในอัตราสูงจากสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งส่งผลฉุดหุ้นกลุ่มรถยนต์ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.08% ปิดที่ 423.04 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,010.98 จุด ลดลง 35.00 จุด หรือ -0.58%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 13,515.75 จุด ลดลง 40.12 จุด หรือ -0.30% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,571.92 จุด ลดลง 38.78 จุด หรือ -0.51%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (22 ม.ค.) โดยลดลงเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน ขณะที่เงินปอนด์ที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ส่งผลกดดันหุ้นกลุ่มส่งออก
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,571.92 จุด ลดลง 38.78 จุด หรือ -0.51%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 2% เมื่อคืนนี้ (22 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลหลังจากผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่า ตลาดน้ำมันโลกจะเผชิญกับภาวะน้ำมันล้นตลาดในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) ซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 1.64 ดอลลาร์ หรือ 2.8% ปิดที่ 56.74 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 1.38 ดอลลาร์ หรือ 2.1% ปิดที่ 63.21 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (22 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนลดความต้องการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเริ่มลดน้อยลง อันเนื่องมาจากเทศบาลเมืองอู่ฮั่นของจีนประกาศมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 1.2 ดอลลาร์ หรือ 0.08% ปิดที่ 1,556.7 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 2 เซนต์ หรือ 0.11% ปิดที่ 17.828 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 13.8 ดอลลาร์ หรือ 1.37% ปิดที่ 1,021.3 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. พุ่งขึ้น 102.90 ดอลลาร์ หรือ 4.6% ปิดที่ 2,335.60 ดอลลาร์/ออนซ์
เงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (22 ม.ค.) หลังจากอังกฤษเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคการผลิตพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 6 ปี ขณะที่ดอลลาร์ปรับตัวผันผวน หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจหลายรายการเมื่อคืนนี้
เงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.3133 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3049 ดอลลาร์ ขณะที่ยูโรอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1092 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1095 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6843 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6845 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.88 เยน จากระดับ 109.79 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9683 ฟรังก์ จากระดับ 0.9680 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3143 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3070 ดอลลาร์แคนาดา