แบงก์โชว์งบฯปี 62 กำไร 2.02 แสนล้าน-โบรกฯชู TISCO-KKP เด่น Top pick กลุ่ม

แบงก์โชว์งบฯปี 62 กำไร 2.02 แสนล้าน-โบรกฯชู TISCO-KKP เด่น Top pick กลุ่ม


หุ้นกลุ่มแบงก์ประกาศงบการเงินปี 2562 ครบเป็นที่เรียบร้อย โดยทีมข่าว ”ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการรวบรวมผลประกอบการหุ้นกลุ่มแบงก์ปี 2562 ทั้งหมด 10 แห่งไม่รวมงบฯ TCAP พบว่า มีกำไรสุทธิรวมปี 2562 อยู่ที่ 2.02แสนล้านบาท โต 3.73% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1.94 แสนล้านบาท โดยหุ้นที่มีกำไรโดดได้แก่ CIMBT และ BAY ขณะที่  TISCO,LHFG,KTB,BBL,SCB,KBANK กำไรเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วน KKP และ TMB กำไรลดลงดังตารางประกอบ

สำหรับบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP จะนำส่งงบการเงินประจำปีฉบับตรวจสอบ(Audited) ภายใน 2 เดือน นับจากสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี สำหรับการเปิดเผยผลการดำเนินงานสำหรับสิ้นสุด 31 ธ.ค.2562 บริษัทฯจะไม่นำส่งงบการเงินก่อนตรวจสอบ(Unaudited) ภายใน 21 วัน อย่างที่เคยปฏิบัติมา เนื่องจากตามทีบริษัทได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจภายในกลุ่มธนชาตรวมทั้งดำเนินการซื้อขายหุ้นธนาคารธนาชาต จำกัด (มหาชน) และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเข้าสู่กระบวนการรวมกิจการ

 

ส่วนอันดับ 1 กลุ่มแบงก์มีกำไรเติบโตมากสุดคือ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT กำไรสุทธิปี 2562 โตทะลักกว่า 200 เท่าตัว ที่ระดับ 1,501.60 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปี 2561 มีกำไรสุทธิ 6.90 ล้านบาท สาเหตุหลักเกิดจากการลดลงของสำรองหนี้สงสัยจะสูญร้อยละ 48.7 ซึ่งเป็นผลจากการปรับปรุงกระบวนการเพื่อเพิ่มคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงาน

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้ากำไรสุทธิปี 63 เติบโต 10% จากปีก่อนที่ทำได้ 1,501.6 ล้านบาท ขณะที่กำไรก่อนหักภาษีคาดเติบโตเป็น 3,300 ล้านบาท จากปีก่อนที่ทำได้ 1,943 ล้านบาท แต่เมื่อคำนวณตามมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ปีก่อนจะมีกำไรก่อนหักภาษีอยู่ที่ 3,153 ล้านบาท ซึ่งจะคิดเป็นการเติบโต 10% เช่นกัน

รวมถึงคาดว่ารายได้ปีนี้จะเติบโตได้ 10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 14,032 ล้านบาท จากสินเชื่อที่คาดว่าจะเติบโตได้ราว 11.8% จากปีก่อนที่หากคิดตามมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 จะเติบโต 6.5% โดยวางเป้ายอดสินเชื่อปล่อยใหม่ปีนี้จะมาจากการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยที่คาดว่าจะเติบโตราว 11.3% ซึ่งจะทำให้ยอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี 63 จะอยู่ที่ 159,000 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 143,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ธนาคารยังตั้งเป้าเงินฝากจะเติบโตได้ 16.4% จากปีก่อนที่คิดตามมาตรฐานบัญชีใหม่จะเติบโตราว 7.5% ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (NIM) ปีนี้จะอยู่ 3.8% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดตามมาตรฐานบัญชีใหม่ฯ อยู่ที่ 3.6% รวมถึงตั้งเป้าควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปีนี้ให้ลดลงเหลือ 5.4% จากปีก่อนคิดตามมาตรฐานบัญชีใหม่ฯ อยู่ที่ 5.7% เป็นผลมาจากการควบคุมคุณภาพลูกหนี้ได้ดีขึ้นต่อเนื่อง

 

ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2562 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคมมีกำไรสุทธิ 32,748.51 ล้านบาท  โต 31.98% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  24,812.64  ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น จากการบันทึกกำไรจากการขายหุ้นจำนวนร้อยละ 50 ของบริษัท เงินติดล้อ จำกัด ในไตรมาส 1/2562 โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญร้อยละ 31.9 หรือจำนวน 10,934 ล้านบาท อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิตามการขายตัวของเงินให้สินเชื่อที่แข็งแกร่ง

 

ด้านบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP จะนำส่งงบการเงินประจำปีฉบับตรวจสอบ(Audited) ภายใน 2 เดือน นับจากสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี สำหรับการเปิดเผยผลการดำเนินงานสำหรับสิ้นสุด 31 ธ.ค.2562 บริษัทฯจะไม่นำส่งงบการเงินก่อนตรวจสอบ(Unaudited) ภายใน 21 วัน อย่างที่เคยปฏิบัติมา เนื่องจากตามทีบริษัทได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจภายในกลุ่มธนชาตรวมทั้งดำเนินการซื้อขายหุ้นธนาคารธนาชาต จำกัด (มหาชน) และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเข้าสู่กระบวนการรวมกิจการ

 

ส่วนหุ้นธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2562  สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคมมีกำไรสุทธิ 7,222.48 ล้านบาท ลดลง 37.74% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 11,601.24 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานลดลงเนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิปี 2562 ลดลงมาอยู่ที่ 8,097.75 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 9,337.59 ล้านบาท โดยในปี 2562 รายได้ดอกเบี้ยปี 2562 อยู่ที่ 39,836.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 35,128.35 ล้านบาท ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการปี 2562 อยู่ที่ 11,342.97 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 12,763.65 ล้านบาท

ด้านการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญและขาดทุนจากการด้อยค่าปี 2562 อยู่ที่ 10,336.85 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 16,100.37 ล้านบาท โดยเป็นการตั้งสำรองฯของธนาคารธนชาตเพื่อเป็นการสร้างความแข็งแกร่งด้านฐานการเงินธนาคารภายหลังการรวมกิจการธนาคารยังคงตั้งสำรองฯอย่างรอบคอบ

 

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทเคราะห์ว่า สรุปกำไรกลุ่มแบงก์ไตรมาส 4/62 ลดลง 22% เทียบไตรมาสก่อนหน้า, +5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน(ไม่รวม TCAP) เป็น 4.14 หมื่นลบ. ต่ำกว่าคาด 4% โดย SCB, TMB ต่ำกว่าคาดปรับกำไรและราคาเป้าหมายลง

ส่วน BBL, KBANK, KTB, KKP ดีกว่าคาด (KBANK เป็นแบงก์เดียวที่ปรับกำไรและเป้าขึ้น) ขณะที่ BAY, TISCO ตามคาด กำไรทั้งปี 2563 โต3% สินเชื่อ +2% NPL +5% และสำรองสูงขึ้น ปี 2563 คาดสินเชื่อโต 4-5% กำไร +1% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ระยะสั้นยังไม่มีปัจจัยบวก Top pick มีเพียง TISCO และตัด SCB ออก  

ด้าน KBANK เป็นแบงก์เดียวในขณะนี้ที่ปรับเพิ่มประมาณการ โดยปรับกำไรปี 2020 ขึ้น 5% จากการเพิ่มรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเป็น -6.9% (เดิม -8.1%) สมมติฐานอื่นคงเดิมคือสินเชื่อ +5% NIM 3.23% Cost to income 45.7% ทำให้กำไรเป็น 3.83 หมื่นลบ. -1% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนส่วนกำไร ไตรมาส4/62 ที่ 8.8 พันลบ. ดีกว่าคาดที่ 7 พันลบ.จากรายได้ค่าธรรมเนียมที่ดีขึ้น ปรับเพิ่มราคาเป้าหมายเป็น 164 บาท (เดิม 158 บาท) คาดจ่ายปันผลงวด 2H19 ที่ 3.50 บาท (yield 2.5%) คงคำแนะนำซื้อ

ส่วน SCB ปรับกำไรปี 2563 ลง 14% เหลือ 3.6 หมื่นลบ. -11% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน(ลดลงมากสุดเป็นอันดับ 2 รองจาก BAY) โดยปรับลดรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยและปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายตามเป้าทางการเงินของธนาคารซึ่งสูงกว่าที่คาด ลดราคาเป้าหมายเป็น 112 บาท (เดิม 132 บาท) คงคำแนะนำซื้อ มี Dividend yield จูงใจ

ขณะที่ BBL กำไรดีกว่าคาดแต่น้อยกว่าตลาดคาด อยู่ที่ 8 พันลบ.ใน ไตรมาส4/62 -15% เทียบไตรมาสก่อนหน้า, -1% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนจากกำไรเงินลงทุนราว 1.5 หมื่นลบ. รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นตามสินเชื่อที่เร่งตัวขึ้นใน ไตรมาส4/62 คงประมาณการกำไรปีนี้ -6% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 3.37 หมื่นลบ. คงราคาเป้าหมาย 187 บาท แนะนำซื้อ

 

บล.ฟิลลิป ระบุในบทเคราะห์ว่า กลุ่มธุรกิจการเงิน/กลุ่มธนาคารแนะนำ “ลงทุนมากกว่าปกติ” กำไรไตรมาส 4/62 เพิ่ม 5.1% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลด 21% เทียบไตรมาสก่อนหน้า: โดย 9 ธนาคารที่ทางฝ่ายทำการศึกษา (ไม่รวม TCAP) มีกำไรรวมกัน 42 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากหลายธนาคารมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกำไรจากการขายเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นมาก แต่กำไรลดลงมาก เทียบไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นมากในหลายธนาคาร และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น

กำไรปี 62 ทรงตัว: กำไรปี 62 ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท ลดลง 0.1% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยกำไรที่ลดลงของ TMB เนื่องจากไม่มีกำไรจากการขายเงินลงทุนเหมือนปีก่อน เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กำไรของกลุ่มลดต่ำลง ทางด้านสินเชื่อในปีนี้การได้โอนสินเชื่อของ TBANK มาที่ TMB ทำให้สินเชื่อของทั้งกลุ่มเพิ่มถึง 9.3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

ยังให้น้ำหนัก”ลงทุนมากกว่าปกติ”: ทางฝ่ายคาดว่าการตั้งสำรองจำนวนมากในปี 62 น่าจะทำให้ความเสี่ยงที่จะมีการตั้งสำรองจำนวนมากอีกในปีนี้ลดต่ำลง และยังคาดว่าสินเชื่อน่าจะเติบโตเร่งตัวขึ้นได้จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ และเอกชน ยังคงเลือก KKP เป็น Top pick ของกลุ่ม เนื่องจาก KKP เป็นหุ้นที่มีปันผลโดดเด่น และยังคาดหวังการเติบโตของสินเชื่อได้ต่อ

ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button