คนดี ไม่มีน้ำยาพลวัต2015

ตลาดหุ้นกลายเป็นขาลงติดกันนานกว่า 2 สัปดาห์ อาจจะมีความหมายเฉพาะนักลงทุนในตลาดเป็นหลัก แต่สำหรับนักการเมืองและรัฐบาล รวมทั้งกลุ่มพลังทางการเมืองที่ใส่ใจกับอำนาจมากกว่าความมั่งคั่งของสังคมส่วนรวม อาจไม่มีความหมายอะไรเลย


ตลาดหุ้นกลายเป็นขาลงติดกันนานกว่า 2 สัปดาห์ อาจจะมีความหมายเฉพาะนักลงทุนในตลาดเป็นหลัก แต่สำหรับนักการเมืองและรัฐบาล รวมทั้งกลุ่มพลังทางการเมืองที่ใส่ใจกับอำนาจมากกว่าความมั่งคั่งของสังคมส่วนรวม อาจไม่มีความหมายอะไรเลย

สองวันที่ผ่านมา ข่าวร้ายกระหน่ำตลาดหุ้นรุนแรง ทำให้โอกาสที่ดัชนีผงกหัวขึ้น เป็นไปได้ยากมากกว่าปกติ เริ่มจากรายงานตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจทางลบของกระทรวงพาณิชย์ในวันจันทร์ และกระทรวงการคลังในวันอังคาร

เรื่องแรก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า  ภาวะการส่งออกเดือนมิถุนายน  ลดลง 7.87% เมื่อเทียบกับปีก่อน  และระยะ 6 เดือนแรกของปี ลดลง 4.84%  เมื่อเทียบกับปีก่อนในขณะที่การนำเข้าเดือนมิถุนายน 2558 มีมูลค่าลดลง 0.21% และระยะ 6 เดือนแรกของปี ลดลง 7.91% ส่งผลให้เดือนมิถุนายน ไทยมีการค้าเกินดุล 150 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ระยะ 6 เดือนแรก เกินดุล 3,473 ล้านเหรียญสหรัฐ

เรื่องตัวเลขเกินดุลการค้า ไม่มีความหมายอะไร เพราะการนำเข้าที่ลดลง หมายถึงการสั่งซื้อสินค้าคงทุน และวัตถุดิบหรือกึ่งสำเร็จรูปมาป้อนโรงงานลดลงนั่นเอง สะท้อนว่าการลงทุนภาคเอกชนหดตัวลงชัดเจน

เรื่องหลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประกาศปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2558 ใหม่ จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 3.7% ลงมาเหลือแค่ 3% โดยมีสาเหตุสำคัญคือ การส่งออกจะติดลบ 4% จากที่เคยคาดว่าจะเติบโต 0.2%

ประมาณการเติบโตที่ต่ำมากเพียงแค่ 3% แม้จะดูดีกว่าปีก่อนที่เติบโตเพียงแค่ 0.7% เพราะมีปัจจัยบวกจากการที่รายได้จากการท่องเที่ยว มาชดเชยตัวเลขติดลบของการส่งออก แต่ก็ไม่เพียงพอกับความเสียหายที่ได้รับ

การเติบโตที่ช้าเช่นนี้ สะท้อนถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยที่เติบโตต่ำกว่า 5% ต่อปีมานานกว่า 5 ปีแล้ว โดยที่ยังไม่มีทางออก เพราะรัฐบาลโดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจยังไม่สามารถ และไม่เคยคิดสร้างยุทธศาสตร์เชิงรุกใหม่ๆ เข้ามาขับเคลื่อนสถานการณ์ที่รุมล้อมรอบด้านให้บรรเทาลง

 ความล้มเหลวที่จะรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าอยู่ในยามนี้ อยู่ที่การไม่สามารถออกจากหล่มโคลนของ “กับดักพึ่งพาการส่งออกมากเกินขนาด” ผลลัพธ์คือกลไกทางเศรษฐกิจไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้

โครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยนั้น นับแต่คลื่นการลงทุนครั้งที่สองของญี่ปุ่น (ครั้งแรก 2504-2510 ทำให้เกิดอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าในเขตเมืองใหญ่มากมาย) ในปี 2530-2533 ทำให้ต้องพึ่งพาการส่งออก แซงหน้าธุรกิจบริการ และเกษตรกรรมอย่างไม่เห็นฝุ่น ผลลัพธ์คือ การบิดเบือนเชิงโครงสร้าง ทำให้เมื่อใดที่เศรษฐกิจของชาติคู่ค้า หรือโลกเกิดความผันผวน หรือถดถอย จะทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างรุนแรง

ในหลายประเทศ ทางออกของ “กับดักพึ่งพาการส่งออกมากเกินขนาด” อยู่ที่การสร้างภาคการค้าและบริการในประเทศให้แข็งแกร่งขึ้นมาสร้างสมดุล พร้อมกับการเร่งสร้างตลาดเงินและตลาดทุนเพื่อให้เกิดการสะสมทุนในประเทศจนสามารถส่งออกทุนไปลงทุนในต่างประเทศผ่านทั้งการลงทุนทางตรง และ การลงทุนในพอร์ตโฟลิโอ เพื่อลดแรงกระแทกจากการถดถอยของตัวเลขส่งออก

ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ นอร์เวย์ หรือ ตะวันออกลาง สร้างแบบแผนของกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ(sovereign wealth funds-SWF) เพื่อที่จะส่งออกทุนไปหาความมั่งคั่งจากเศรษฐกิจชาติต่างๆ ในฐานะหมอนรองทางเศรษฐกิจที่ช่วยบรรเทาผลกระทบในยามที่เศรษฐกิจของประเทศถดถอยหรือเป็นขาลงไปได้บางส่วน อย่างน้อยที่สุดการคลังและการเงินสาธารณะของภาครัฐจะยังคงเป็นเสาหลักของภาคเอกชนที่มีปัญหาได้

เรื่องนี้ หน่วยงานรัฐไทยก็ดูจะมีภูมิปัญญาไม่น้อยในการแจกแจงสถานการณ์ ตัวอย่างเช่นกระทรวงพาณิชย์ไทย ระบุว่า ยามนี้ มีตัวแปรเชิงลบที่ทำให้เศรษฐกิจไทยถูกล้อมกรอบสาหัส ประกอบด้วย

–          เศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักในปัจจุบันที่ชะลอตัวและผันผวนหนัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ส่งผลให้การนำเข้าของประเทศหลักของโลกทั่วโลกหดตัวต่อเนื่อง

–          ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงชะลอตัวลง ส่งผลกระทบต่อมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน

–          ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกปรับตัวลดลงมาก ทำให้มูลค่าส่งออกสินค้าลดลง แม้ปริมาณยังคงขยายตัว

–          การหดตัวของการส่งออกสินค้ากลุ่มรถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งแม้เป็นปัจจัยชั่วคราวก็ทำให้มูลค่าลดลงมาก

ความย่ำแย่ของเศรษฐกิจไทยนั้น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ก็ไม่มีใครสามารถหาทางรับมือเชิงนโยบายที่จะสร้างสรรค์เชิงรุกเพื่อบรรเทาความเสียหายลงไปได้ เพราะหลายเดือนมาแล้วที่สภาพัฒน์ หรือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เคยคาดการณ์เอาไว้ (โดยที่สภาพัฒน์เขาก็นั่งเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจในคณะรัฐบาลชุดปัจจุบันด้วย) ตัวเลขส่งออกจะโตน้อยมาก และเงินเฟ้อติดลบ รวมทั้ง อัตราเติบโตจีดีพีจะอยู่ที่แค่ 3.4% แต่ก็มีลักษณะ “รู้ทั้งรู้ รู้ไว้ใช่ว่า” อย่างสูญเปล่า

ยิ่งธนาคารแห่งประเทศไทยโดย กนง. มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงถึง 0.50% จากการประชุม 2 ครั้งล่าสุดปีนี้ และอาจจะลดลงอีกในการประชุมวันนี้ ก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ภาพรวมในการอุปโภคบริโภคย่ำแย่ลง ก็ยังไม่มีเครื่องมือใหม่ๆ และนวัตกรรมเชิงนโยบายใหม่ๆ ออกมาเพื่อรุกก่อนปัญหาเกิดอย่างมีประสิทธิผล 

ภูมิปัญญาที่อ่อนด้อย และอคติที่คับแคบของผู้กุมอำนาจในรัฐบาลเผด็จการทหารเช่นนี้ ต่อให้มีคุณธรรมมากเพียงใด และต่อให้ปรับคณะรัฐมนตรีกี่รอบก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นมากนัก เพียงแค่เล่นมายากลให้บรรยากาศดีขึ้นในระยะชั่วคราวเท่านั้นเอง

คนที่เหลิงในอำนาจ ย่อมมีทัศนคติผิดพลาดได้ง่ายว่า ขอให้เป็นคนดี ไม่จำต้องมีน้ำยา ก็บริหารชาติได้แล้ว  ซึ่งไม่ถูก และพ้นยุคไปแล้ว

Back to top button