ควร ‘แพนิก’ แค่ไหน ?
เมื่อยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนทะลุ 100 คนแล้วเมื่อวานนี้ ตลาดการเงินทั่วโลกตื่นตระหนกอย่างเห็นได้ชัด โดยสะท้อนว่ามีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจจีนและการเติบโตทั่วโลก คำถามในขณะนี้คือมีเหตุผลอันควรที่จะตื่นตระหนกหรือไม่? และไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะกระทบเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกรุนแรงแค่ไหน?
พลวัตปี 2020 : ฐปนี แก้วแดง(แทน)
เมื่อยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนทะลุ 100 คนแล้วเมื่อวานนี้ ตลาดการเงินทั่วโลกตื่นตระหนกอย่างเห็นได้ชัด โดยสะท้อนว่ามีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจจีนและการเติบโตทั่วโลก คำถามในขณะนี้คือมีเหตุผลอันควรที่จะตื่นตระหนกหรือไม่? และไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะกระทบเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกรุนแรงแค่ไหน?
มีบทความของ ชาง-จิน เหว่ย อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ซึ่งปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ด้านการเงินและเศรษฐศาสตร์ที่โคลัมเบีย บิสิเนส สคูล และ โคลัมเบีย สคูล ออฟ อินเตอร์เนชันแนล แอนด์ พับบลิก แอฟแฟร์ส์ ที่ชี้ว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงไม่ใช่ ไวรัสโคโรนา และมีสามเหตุผลที่ไวรัสจะไม่ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างรุนแรง
อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบี คาดการณ์ว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาจะเลวร้ายสุดก่อนที่จะดีขึ้น โดยการติดเชื้อและการเสียชีวิตอาจพุ่งสูงสุดในช่วงสัปดาห์ที่สองหรือสามของเดือนกุมภาพันธ์ และคาดว่าทางการจีนและองค์การอนามัยโลกจะประกาศควบคุมโรคได้ภายในต้นเดือนเมษายน
จากการคาดการณ์เช่นนี้ ชาง-จิน เหว่ย ประเมินว่าไวรัสจะมีผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจอย่างจำกัด โดยผลกระทบที่จะมีต่ออัตราการเติบโตของจีนในปี 2563 น่าจะน้อย โดยอาจจะลดลงเพียง 0.1% ของจีดีพี
อย่างไรก็ดี ผลกระทบในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 จะมาก โดยอาจจะลดการเติบโตลง 1% แต่การเติบโตเกินแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะช่วยชดเชยได้มาก ส่วนผลกระทบต่อการเติบโตของจีดีพีโลกยิ่งน้อยกว่า
การคาดการณ์เช่นนี้ได้คำนึงถึงประสบการณ์ในตอนที่เกิดวิกฤตโรคระบบทางเดินหายใจร้ายแรงเฉียบพลัน (ซาร์ส) ในปี 2546 ในตอนนั้นจีดีพีจีนลดลงมากในช่วงไตรมาสสอง แต่หลังจากนั้นการเติบโตที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงสองไตรมาสต่อมา ช่วยชดเชยได้มาก โดยอัตราการเติบโตของปี 2546 ทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 10% ทั้งที่นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทวาณิชธนกิจหลายแห่งคาดการณ์ผลกระทบในเชิงลบต่อการเติบโตไว้มาก และเมื่อดูไปที่อัตราการเติบโตของจีดีพีที่แท้จริงต่อปี ตั้งแต่ปี 2543-2549 ก็ยากที่จะเห็นผลกระทบของโรคซาร์สในข้อมูลเหล่านั้น
บางคนกลัวว่าจังหวะเวลาในการเกิดการระบาดซึ่งเริ่มขึ้นในช่วงที่ฉลองตรุษจีนนานหนึ่งสัปดาห์และในช่วงกลางของการปิดเทอม จะยิ่งเพิ่มผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยทำให้คนไม่ออกไปจับจ่ายตามร้านค้า ภัตตาคาร หรือเดินทางท่องเที่ยว
แต่อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบีชี้ว่ามีสามปัจจัยสำคัญที่อาจจะจำกัดผลกระทบของไวรัสได้ ปัจจัยแรกคือ ในขณะนี้จีนอยู่ในยุคการค้าอินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่เหมือนกับสมัยที่โรคซาร์สระบาด ผู้บริโภคช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น ยอดช้อปปิ้งตามร้านค้าที่ลดลงเพราะไวรัสน่าจะได้รับการชดเชยจากการซื้อออนไลน์เพิ่มขึ้น
การยกเลิกแผนท่องเที่ยวในวันหยุดในขณะนี้ น่าจะทดแทนโดยการเดินทางในอนาคตเพราะครัวเรือนที่มีรายได้ดีขึ้นได้เตรียมงบประมาณสำหรับการเดินทางในช่วงวันหยุดไว้แล้ว
โรงงานหลายแห่งมีกำหนดหยุดการผลิตในช่วงตรุษจีนอยู่แล้ว ดังนั้นช่วงเวลาของการแพร่ระบาดอาจลดความจำเป็นในการปิดโรงงานต่อ ในทำนองเดียวกันหน่วยงานรัฐบาลและโรงเรียนหลายแห่งได้วางแผนหยุดอย่างอิสระจากการระบาดของไวรัส
รัฐบาลจีนเพิ่งประกาศขยายวันหยุดไปจนถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ แต่บริษัทจำนวนมากจะหาทางชดเชยเวลาที่เสียไปในเวลาต่อมา ดังนั้นผลกระทบทางลบในระยะสั้นน่าจะกระจุกตัวอยู่ที่ภัตตาคาร โรงแรม และสายการบินมากกว่า
ปัจจัยที่สองคือ ทุกรายงานระบุว่า ไวรัสโคโรนา อู่ฮั่น มีความร้ายแรงน้อยกว่าซาร์ส (แม้ว่ามันอาจมีอัตราการติดต่อในตอนแรกเร็วกว่า) และที่สำคัญที่สุด เจ้าหน้าที่จีนได้จัดการปัญหาได้อย่างรวดเร็วกว่าในช่วงที่มีการระบาดของโรคซาร์สตั้งแต่ในการควบคุมข้อมูลจนถึงการควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส
ด้วยมาตรการกักกันคนไข้ที่มีอาการรุนแรงและคนไข้ที่มีแนวโน้ม เจ้าหน้าที่จีนมีโอกาสมากขึ้นที่จะควบคุมการระบาดได้เร็วขึ้น ซึ่งในทางกลับกันจะเพิ่มความเป็นไปได้ที่อัตราผลผลิตทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปในไตรมาสนี้ จะได้รับการชดเชยด้วยกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี
ปัจจัยที่สาม ไม่ว่าผู้เจรจาการค้าของจีนตระหนักหรือไม่ถึงความรุนแรงของไวรัสอู่ฮั่นเมื่อได้ลงนามในข้อตกลงเฟสหนึ่งกับสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 15 มกราคม แต่จังหวะเวลาในการตกลงได้กลายเป็นความโชคดี
การนำเข้าหน้ากากและเวชภัณฑ์จากสหรัฐฯ (และที่อื่น ๆ) เพิ่มขึ้นเป็นอันมาก ทำให้จีนสามารถรับมือกับวิกฤตสุขภาพได้พร้อมกับได้ทำตามคำสัญญาที่ได้ตกลงนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจอื่น ๆ ชาง-จิน เหว่ย เห็นว่า ยิ่งน้อยกว่าจีนมาก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางใหญ่ ๆ หลายแห่งได้พัฒนาโมเดลที่จะวัดผลกระทบของการชะลอตัวในจีนที่จะมีต่อเศรษฐกิจของตนเอง โมเดลเหล่านี้สร้างขึ้นในขณะที่ยังไม่คิดถึงวิกฤตสุขภาพ แต่ได้คำนึงถึงความเชื่อมโยงทางการค้าและการเงินระหว่างจีนและเศรษฐกิจต่าง ๆ
ตามกฎของหัวแม่มือ (Rule of thumb) การเติบโตที่ลดลงของจีดีพีจีนมีผลกระทบในทางลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปประมาณหนึ่งในห้าเปอร์เซ็นต์ ตัวอย่างเช่น หากการระบาดของไวรัสโคโรนาลดการเติบโตของจีนประมาณ 0.1% การเติบโตในสหรัฐฯ และยุโรปน่าจะลดลงประมาณ 0.02%
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจออสเตรเลียอาจจะมากเป็นสองเท่าเนื่องจากมีความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวและการค้าโภคภัณฑ์กับจีนมากกว่า แต่การเติบโตที่ลดลง 0.04% ก็ยังถือว่าน้อย
การคำนวณนี้อยู่บนสมมุติฐานที่ว่าไวรัสโคโรนาไม่กระจายไปยังประเทศอื่น ๆ อย่างกว้างขวาง และไม่ทำให้เกิดความเสียหายโดยตรง แต่แน่นอนว่า ผลกระทบต่อจีนและเศรษฐกิจอื่น ๆ อาจรุนแรงมากขึ้นหากวิกฤตไวรัสโคโรนานานกว่าที่ชาง-จิน เหว่ยได้สมมุติฐานไว้
หากเป็นเช่นนั้น มีความสำคัญที่จะต้องจำไว้ว่า ผู้กำหนดนโยบายของจีนยังมีทั้งมาตราการทางการเงินและการคลังที่จะขยายได้อีก โดยในขณะนี้ เกณฑ์กันสำรองเงินทุนของภาคธนาคารค่อนข้างสูง และอัตราส่วนหนี้ของภาครัฐต่อจีดีพียังสามารถบริหารจัดการได้เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ด้วยการใช้นโยบายเหล่านี้เมื่อจำเป็น เจ้าหน้าที่จีนอาจจำกัดผลกระทบของวิกฤตสุขภาพในขณะนี้ได้ในที่สุด
เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ที่การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กำลังสร้างความตื่นตระหนกในจีนและในที่อื่น ๆ แต่ในมุมเศรษฐกิจ อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบีกล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะแพนิก