SCC คาดยอดขายปีนี้ 4.38 แสนลบ. มองสเปรดปิโตรฯผ่านจุดต่ำสุด จ่อดัน SCGP เข้าตลาดครึ่งปีแรก
SCC คาดยอดขายปีนี้ 4.38 แสนลบ. มองสเปรดปิโตรฯผ่านจุดต่ำสุด จ่อดัน SCGP เข้าตลาดครึ่งปีแรก
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC เปิดเผยว่า เอสซีจีคาดการณ์ยอดขายปี 63 จะทำได้ใกล้เคียงระดับ 4.38 แสนล้านบาทในปี 62 แม้จะมีหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ของโรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นต้น ขนาด 1.4-1.5 ล้านตัน/ปี ในช่วงไตรมาส 2/63 ราว 45 วัน ก็จะทำให้การผลิตสินค้าขั้นปลาย (downstream) ลดลงไปราว 5-7% แต่ขณะเดียวกันก็จะรับรู้ผลการดำเนินงานของ Fajar ผู้นำธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ในอินโดนีเซียเข้ามาชดเชยเต็มปี หลังจากที่ได้เข้าซื้อกิจการเมื่อปีที่แล้ว
นอกจากนี้ การที่เอสซีจีมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตต่าง ๆ รวมถึงการส่งมอบโซลูชั่นและนวัตกรรมสินค้า-บริการครบวงจร รวมถึงการเพิ่มยอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) เพิ่มขึ้นในปีนี้ จากระดับ 41% ของยอดขายรวมในปีที่ผ่านมา และมีเป้าหมายใน 5 ปี (ปี 63-67) จะเพิ่มเป็น 55% ของยอดขายรวมนั้น ก็จะช่วยผลักดันทั้งยอดขายและกำไรด้วย
ด้านราคาสินค้าและส่วนต่าง (สเปรด) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี คาดว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ก็น่าจะช่วยประคองยอดขายรวมได้บ้าง แม้ว่ายังคงต้องจับตาปัจจัยต่าง ๆ ที่จะเข้ามากระทบทั้งจากภายในและต่างประเทศ โดยในส่วนของสเปรดผลิตภัณฑ์หลัก HDPE-แนฟทา มองว่าน่าจะผ่านจุดต่ำสุดกว่า 200 เหรียญสหรัฐ/ตันไปแล้วในช่วงไตรมาส 4/62 โดยช่วงนี้เริ่มฟื้นกลับมาที่กว่า 300 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่ยังต้องจับตาดูว่าการฟื้นตัวขึ้นจะเร็วและแรงได้มากน้อยแค่ไหน หลังจากสหรัฐและจีนลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรกแล้ว ทำให้ความมั่นใจของตลาดค่อนข้างดีขึ้น รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐ ก็ยังหมุนไปได้ในทิศทางที่ค่อนข้างดี
สำหรับงบลงทุนในปีนี้เอสซีจีตั้งเป้าไว้ที่ระดับ 6-7 หมื่นล้านบาท ไม่รวมการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ที่ยังคงมองหาโอกาสอย่างต่อเนื่อง นับว่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับราว 7.75 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา ซึ่งรวม 3 หมื่นล้านบาทที่เป็นการซื้อกิจการไว้ด้วย
ส่วนความคืบหน้าการนำ บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ซึ่งเป็นโฮลดิ้งในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ของเอสซีจี เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น คาดว่าจะสามารถกระจายหุ้นและนำเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ภายในครึ่งแรกของปี 63 หากไม่ติดปัญหาใด หลังได้ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อเดือน ธ.ค.62 ขณะเดียวกันก็อาจจะมีการให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นของ SCC ในการจองซื้อก่อนตามสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท (Pre-emptive Right) โดยต้องรอการตัดสินใจของคณะกรรมการของ SCGP ซึ่งคาดว่าจะมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวช่วงไตรมาส 2/63
ทั้งนี้ กลุ่มบรรจุภัณฑ์ นับว่ามีอัตราการเติบโตสูงในอาเซียน ประกอบกับธุรกิจอีคอมเมิรซ์ที่ขยายตัวอย่างมากก็จะเป็นตัวขับเคลื่อนที่ดีต่อธุรกิจบรรจุภัณฑ์ด้วย การนำหุ้น SCGP เข้าตลาดหุ้นก็จะช่วยระดมทุนเพื่อมองหาการเติบโตได้ต่อไปในอนาคต โดยในปีที่ผ่านมาธุรกิจบรรจุภัณฑ์มีสัดส่วน 16% ของกำไรของเอสซีจี นอกเหนือจากธุรกิจปิโตรเคมีที่มีสัดส่วนกำไร 48% ส่วนธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง อยู่ที่ 17% ขณะที่ในปีนี้สัดส่วนกำไรของธุรกิจบรรจุภัณฑ์น่าจะเพิ่มขึ้นอีกจากการรวบงบการเงินของ Fajar เข้ามาเต็มปีด้วย และการขยายกำลังการผลิตของธุรกิจที่เพิ่มเข้ามาด้วย
ด้าน นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า การประเมินภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในปี 63 ยังคงเป็นไปได้ยาก หลังจากช่วงต้นปีเผชิญกับปัจจัยลบ ทั้งปัญหาความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ,ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่งผลทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทย , งบประมาณรายจ่ายปี 63 ของภาครัฐล่าช้าส่งผลต่อการลงทุนที่จำเป็นของภาครัฐ รวมถึงปัญหาภัยแล้ง และล่าสุดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย
อย่างไรก็ตาม มองว่ายังมีปัจจัยบวกอยู่บ้าง จากการที่จีนและสหรัฐบรรลุข้อตกลงการค้าเฟสแรก ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งคลี่คลายลงบ้าง รวมถึงการจำหน่ายสินค้าในอาเซียนยังเติบโตต่อเนื่อง
สำหรับการที่จีนปิดโรงงานหลายแห่งช่วงนี้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนานั้น คาดว่าจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อเอสซีจี เพราะการปิดโรงงานจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่หายไปก็จะกระทบต่อรายได้ท่องเที่ยวของไทย ส่งผลต่อภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและในที่สุดก็จะกระทบต่อธุรกิจของเอสซีจี แต่ขณะนี้ยังประเมินผลกระทบดังกล่าวไม่ได้เพราะไม่รู้ว่าปัญหาจะจบเร็วแค่ไหน
ส่วนการที่จีนมีแผนลดการใช้พลาสติกลงในระยะ 5 ปีข้างหน้านั้น ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนดำเนินการมาตลอดที่จะลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single use plastic) ซึ่งเอสซีจีก็ต้องปรับพอร์ตสินค้าที่จะลดสินค้าประเภทพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเช่นกัน ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มในส่วนของพอร์ต HVA และสินค้าหมุนเวียนมากขึ้นด้วย
ด้านสถานการณ์ภัยแล้ง เป็นเรื่องที่เอสซีจีให้ความสนใจค่อนข้างมาก เบื้องต้นได้ประสานงานทั้งสถานการณ์การใช้น้ำและสถานการณ์ในพื้นที่ให้กับภาครัฐมาโดยตลอด สิ่งที่เห็นขณะนี้โครงสร้างพื้นฐานในการกักเก็บน้ำดีขึ้น แต่จะทำอย่างไรที่จะใช้ประโยชน์ได้เต็มที่และมีการลงทุนเพิ่มเติมในระยะยาว เบื้องต้นเมื่อพิจารณาแผนงานของภาครัฐนับว่าดีมาก อยู่ที่ว่าภาครัฐจะดำเนินการได้ตามแผนหรือไม่ ทั้งในส่วนของงบประมาณที่จะเข้าไปใช้และการผันน้ำระหว่างพื้นที่ ในส่วนของเอสซีจีก็มีการเตรียมความพร้อม โดยมีแผนลดการใช้น้ำอย่างต่อเนื่องปีนี้คาดว่าจะลดลงได้ราว 12-13%
สำหรับแนวโน้มความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปีนี้ก็ยังประเมินได้ค่อนข้างยาก หลังจากในปีที่ผ่านมามีการเติบโตเพียง 1% เท่านั้น โดยหลักเป็นการเติบโตจากการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ แต่ในปีนี้ยังไม่มีความชัดเจนต่อการเบิกจ่ายงบประมาณปี 63 หลังการออกกฎหมายยังมีความล่าช้าก็จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ปูนซีเมนต์
โดยแม้ในช่วงนี้ที่แนวโน้มผลการดำเนินงานของเอสซีจียังมีทิศทางไม่ดีนัก แต่ก็ยังรักษาระดับการจ่ายปันผล โดยในปี 62 ที่มีกำไรสุทธิลด 28% จากปี 61 แต่เอสซีจีจ่ายปันผลในระดับ 52% ของกำไรสุทธิ แต่เมื่อหักรายการเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานแล้วจะเห็นว่าจ่ายปันผลในระดับ 48% ของกำไรสุทธิก่อนรายการพิเศษ ซึ่งเท่ากับอัตราการจ่ายปันผลในปี 61 และยังอยู่ในกรอบนโยบายการจ่ายปันผลของเอสซีจีที่ 40-50% ของกำไรสุทธิ