“WHO” ประกาศภาวะฉุกเฉิน “ไวรัสโคโรนา” หวังยกระดับป้องกัน-สกัดแพร่เชื้อข้ามพรมแดน
"องค์การอนามัยโลก" (WHO) ประกาศยกระดับการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาเป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของโลก” หวังยกระดับป้องกัน-สกัดแพร่เชื้อข้ามพรมแดน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) เป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของโลก” (Public Health Emergency of International Concern – PHEIC) แล้ว ภายหลังเปิดการประชุมคณะกรรมการกฎอนามัยฉุกเฉินรอบใหม่เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ วานนี้ (30 ม.ค.63)
โดยนายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO เปิดเผยว่าการตัดสินใจครั้งนี้ ไม่ใช่การสูญเสียความเชื่อมั่นต่อมาตรการควบคุมโรคของรัฐบาลจีน แต่มาจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการพบผู้ติดเชื้อในต่างประเทศมากขึ้น การติดต่อระหว่างคนสู่คน และความรวดเร็วในการแพร่กระจายของเชื้อโรค เพิ่มความเสี่ยงสำหรับประเทศที่ระบบสาธารณสุขอ่อนแอ ซึ่งจะทำให้ยากลำบากในการควบคุม นอกจากนี้ การประกาศภาวะฉุกเฉินระดับโลกยังมีเป้าหมายที่จะป้องกันหรือลดการแพร่ระบาดข้ามพรมแดนด้วย
ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ระบุว่า ยังคงเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา โดย WHO จะให้คำแนะนำประเทศต่างๆในการใช้มาตรการที่แข็งแกร่งในการวินิจฉัยอาการผู้ป่วยติดเชื้อ การคัดแยกและการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ การติดตามประวัติการสัมผัสผู้อื่นของผู้ป่วยติดเชื้อ และการสนับสนุนให้ชุมชนตระหนักรู้ถึงความจำเป็นในการแยกตัวออกจากพื้นที่เสี่ยง
อย่างไรก็ตาม WHO ไม่ได้แนะนำให้ประเทศทั่วโลกใช้มาตรการจำกัดด้านการค้าต่อจีน หรือจำกัดการเดินทางไปยังประเทศจีน อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก WHO ระบุว่า การที่ผู้ติดเชื้อ SARS ทั่วโลกมีจำนวนมากกว่า 8,000 ราย ต้องใช้เวลามากถึงประมาณ 8 เดือน ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ พุ่งเกือบแตะหลักหมื่นรายภายในเวลาเพียง 1 เดือน หลังจากมีการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกจากเจ้าหน้าที่ในเมืองอู่ฮั่นในวันที่ 31 ธ.ค.2562
โดยล่าสุดคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC) แถลงยืนยันว่า ณ วันพฤหัสบดีที่ 30 ม.ค. จำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจีน เพิ่มขึ้นเป็น 213 ราย ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกอยู่ที่ 9,692 ราย รวมถึงผู้ติดเชื้อนอกดินแดนจีนที่มีจำนวนประมาณ 100 ราย ใน 18 ประเทศ