สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 31 ม.ค. 2563

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 31 ม.ค. 2563


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 600 จุดเมื่อวันศุกร์ (31 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ประกอบกับการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐ และการเปิดเผยผลประกอบการที่ไร้ทิศทางของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐนั้น ได้ตอกย้ำความวิตกเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ แรงเทขายหุ้นกลุ่มพลังงานออกมาอย่างหนัก ฉุดตลาดลงด้วย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 28,256.03 จุด ร่วงลง 603.41 จุด หรือ -2.09%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,225.52 จุด ลดลง 58.14 จุด หรือ -1.77% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,150.94 จุด ลดลง 148.00 จุด หรือ -1.59%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อวันศุกร์ (31 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากจีน หลังจากอังกฤษและอิตาลียืนยันพบผู้ติดเชื้อไวรัส 2 รายแรกในประเทศ นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการเปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของยูโรโซนที่ต่ำกว่าคาดในไตรมาส 4/2562

ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 1.07% ปิดที่ 410.71 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,806.34 จุด ลดลง 65.43 จุด หรือ -1.11%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,981.97 จุด ลดลง 175.15 จุด หรือ -1.33% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,286.01 จุด ลดลง 95.95 จุด หรือ -1.30%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงเมื่อวันศุกร์ (31 ม.ค.) สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์ หลังอังกฤษยืนยันการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2 รายแรกในประเทศ และนักลงทุนวิตกว่าการระบาดของไวรัสดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ขณะที่อังกฤษมีกำหนดออกจากสหภาพยุโรป (EU) อย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ม.ค.

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,286.01 จุด ลดลง 95.95 จุด หรือ -1.30%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงเมื่อวันศุกร์ (31 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลก หลังจากที่ไวรัสดังกล่าวได้แพร่กระจายจากจีนไปยังราว 20 ประเทศ และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คนแล้ว

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วง 58 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 51.56 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 0.13 เซนต์ หรือ 0.2% ปิดที่ 58.16 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงเล็กน้อยเมื่อวันศุกร์ (31 ม.ค.) อันเป็นผลจากแรงขายทำกำไรหลังราคาพุ่งขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาจากแรงซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 1.30 ดอลลาร์ หรือ 0.08% ปิดที่ 1,587.90  ดอลลาร์/ออนซ์ แต่สัญญาทองปรับตัวขึ้น 0.6% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเป็นการปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2556 และเพิ่มขึ้นราว 3.8% ในเดือนม.ค.

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 2 เซนต์ หรือ 0.11% ปิดที่ 18.012 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 18.60 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 961.90 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 9 ดอลลาร์ หรือ 0.4% ปิดที่ 2,224.70 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (31 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนได้พากันเข้าซื้อสกุลเงินปลอดภัย อาทิ เยนและฟรังก์สวิส ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากจีนไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.47% สู่ระดับ 97.4024 ในวันศุกร์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.35 เยน จากระดับ 108.77 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9635 ฟรังก์ จากระดับ 0.9694 ฟรังก์ แต่เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3234 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3217 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1087 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1029 ดอลลาร์ และเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3198 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3083 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.6694  ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6710 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button