‘น้ำมัน’ กับ ‘สตอรี่ระดับโลก’

มีรายงานออกมาว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร หรือที่เรียกว่า “โอเปกพลัส” กำลังจะลดกำลังการผลิตลงอีกประมาณ 500,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ส่งผลกระทบต่อดีมานด์น้ำมัน แต่ถึงแม้ว่าจะมีข่าวออกมาเช่นนี้ ราคาน้ำมันก็ยังดิ่งลงอย่างรุนแรงและมีแนวโน้มว่าจะมืดมนต่อไป


พลวัตปี 2020 : ฐปนี แก้วแดง(แทน)

มีรายงานออกมาว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร หรือที่เรียกว่า “โอเปกพลัส” กำลังจะลดกำลังการผลิตลงอีกประมาณ 500,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ส่งผลกระทบต่อดีมานด์น้ำมัน แต่ถึงแม้ว่าจะมีข่าวออกมาเช่นนี้ ราคาน้ำมันก็ยังดิ่งลงอย่างรุนแรงและมีแนวโน้มว่าจะมืดมนต่อไป

ตราสารน้ำมันเวสต์ เท็กซัส อินเตอร์มีเดียต (WTI) ลดลงไปอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยลดลงถึง 23.7% จากระดับ 65.65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อวันที่ 8 มกราคม จากข้อมูลของรีฟินิทีฟน้ำมันดิบ WTI ลดลงจากระดับวันที่ 27 มกราคม มากกว่า 20% จึงถือว่าเข้าสู่ตลาดภาวะหมีแล้ว

ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนต์ก็ปรับตัวลงเกือบ 4% ในวันจันทร์ลดลงจาก 54.45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลซึ่งเป็นระดับสูงสุดของเดือนมกราคมราว 24%

มีรายงานว่าโอเปกและรัสเซียได้หารือในเบื้องต้นเกี่ยวกับการลดกำลังการผลิตต่อหลังจากที่ได้ตกลงลดกำลังการผลิตมาตั้งแต่ปี 2559  มีการคาดการณ์ว่า คณะกรรมการทางเทคนิคร่วมที่เป็นคนจับตาความคืบหน้าจากความพยายามในการลดน้ำมันของกลุ่ม จะหารือกันในสัปดาห์นี้เพื่อถกเถียงถึงผลกระทบของไวรัสโคโรนาที่มีต่อดีมานด์น้ำมันและแนวทางในการปฏิบัติที่อาจจะมีขึ้น

เหตุผลที่ราคาน้ำมันดิ่งลงอย่างรุนแรงเมื่อวันจันทร์เนื่องจากไวรัสยังคงแพร่เชื้อไปทั่วและธุรกิจเรือสำราญเริ่มเป็นกังวลมากขึ้นเมื่อญี่ปุ่นได้กักกันเรือ “ไดมอนด์ พรินเซส” ของบริษัทคาร์นิวัล หลังจากที่ชายฮ่องกง วัย 80 ปี ซึ่งได้บินไปลงเรือในญี่ปุ่นเดือนที่ผ่านมา ตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนา

มีความหวาดกลัวในอุตสาหกรรมการเดินทางว่าไวรัสอาจกระทบต่อการจองเรือสำราญหรือแม้แต่มีการควบคุมเรือสำราญหลังจากที่สายการบินต่าง ๆ ได้ระงับเที่ยวบินไปยังจีนแล้ว และในขณะเดียวกันจีนได้ระงับการขนส่งในเมืองใหญ่ ๆ และระงับเที่ยวบินในประเทศ

ราคาน้ำมันพยายามที่จะดีดตัวขึ้นในวันจันทร์เพราะรายงานที่โอเปกอาจจะลดกำลังการผลิตอีก 500,000 บาร์เรลต่อวันนอกเหนือจากที่ได้ลดไปแล้วในขณะนี้ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ในที่สุดก็สู้ความกังวลเรื่องไวรัสไม่ได้

ดีมานด์เชื้อเพลิงในภาคขนส่งซึ่งมีแนวโน้มที่จะลดลงมาก ได้ทำให้นักวิเคราะห์พลังงานของซิตี้กรุ๊ปลดประมาณการราคาน้ำมันดิบของปีนี้ลงจาก 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเหลือเพียง 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยคาดว่าราคาเฉลี่ยในช่วงไตรมาสหนึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 54 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และเหลือ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงไตรมาสสอง

นักวิเคราะห์ ซิตี้กรุ๊ป ยังเชื่อว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนต์อาจลดลงไปถึง 47 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลและจากนั้นจะกลับมาอยู่ที่ประมาณ 58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลภายในไตรมาสสี่ และจากนั้นจะลดลงเหลือ 53 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีหน้า

สาเหตุที่ลดประมาณการเช่นนี้เพราะว่าผลกระทบของไวรัสที่มีต่อน้ำมันลึกมากกว่าที่คิดไว้ในตอนแรกแม้ว่าโอเปกพลัสจะลดการผลิตมากขึ้น  โดยมองว่ารัฐบาลจีนจะมีมาตรการควบคุมไวรัสที่จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากซึ่งจะทำให้ความสมดุลของน้ำมันลดลง  แม้ว่าในช่วงไตรมาสสี่น้ำมันอาจจะฟื้นตัวแต่อาจจะได้รับผลกระทบอีกครั้งจากซัพพลายที่เริ่มกลับมาจากลิเบียและอิหร่าน

ตามความเห็นของนักวิเคราะห์ซิตี้กรุ๊ป  การขนส่งสินค้าและผู้โดยสารในจีนอาจลดลงอีก 2 สัปดาห์ หรืออาจจะมากกว่านั้นก่อนที่จะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ดังนั้นดีมานด์น้ำมันอาจจะลดลงประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงไตรมาสหนึ่ง เนื่องจากว่า ดีมานด์น้ำมันและเศรษฐกิจจีนในขณะนี้มีขนาดใหญ่ขึ้นมากเมื่อเทียบกับในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคซาร์สเมื่อปี 2546

นักวิเคราะห์น้ำมันกล่าวว่า ถึงแม้ว่าน้ำมันจากลิเบียหายไปจากตลาด 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่โลกก็ยังมีซัพพลายมากในขณะที่ดีมานด์เหือดแห้งลง  นอกจากนี้ แม้ว่าดีมานด์ในสหรัฐฯ ลดลง แต่อุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐฯ ยังคงส่งออกน้ำมันประมาณ 3.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

มีข้อมูลจากนักวิเคราะห์ของอาร์บีซีที่ชี้ว่า มีการยกเลิกเที่ยวบินมากกว่า 3,000 เที่ยวต่อวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และจากการรวบรวมฐานข้อมูลการบินเพื่อติดตามรูปแบบการบินตามเวลาจริงในห้าสนามบินที่มีการบินมากสุดในจีน พบว่ากิจกรรมการบินลดลงมากกว่าในช่วงสุดสัปดาห์ตรุษจีน 12% และลดลงจากระดับปกติถึง 41%

นักวิเคราะห์อาร์บีซีตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะนี้ไวรัสโคโรนาเป็นสตอรี่เกี่ยวกับดีมานด์เชื้อเพลิงเครื่องบินในจีน ยังไม่ใช่สตอรี่ดีมานด์น้ำมันทั่วโลก

ตลาดน้ำมันได้รับผลกระทบจาก “ซัพพลาย” น้ำมันหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ได้รับผลกระทบจาก “ดีมานด์” อย่างรุนแรงตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2551  ผลกระทบของไวรัสโคโรนาในครั้งนี้ ได้ทำให้ตลาดน้ำมันซวนเซควบคู่ไปกับสินทรัพย์อื่น ๆ แต่การแพร่ระบาดของโรคในครั้งนี้เป็น “สตอรี่ระดับโลก” ไม่ใช่เป็นแค่เรื่อง “ปัจจัยพื้นฐานในตลาดน้ำมัน”

Back to top button