สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 4 ก.พ. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 4 ก.พ. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 400 จุดเมื่อคืนนี้ (4 ก.พ.) ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดทำนิวไฮ เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโคโรนาที่กำลังแพร่ระบาด หลังจากธนาคารกลางอัดฉีดสภาพคล่องติดต่อกัน 2 วันเพื่อรักษาเสถียรภาพในตลาดการเงิน ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ธนาคารกลางจีนจะเข้าแทรกแซงตลาดเพิ่มเติมเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าชั้นดี (LPR) และปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของสถาบันการเงิน (RRR)
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 28,807.63 จุด พุ่งขึ้น 407.82 จุด หรือ +1.44% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,297.59 จุด เพิ่มขึ้น 48.67 จุด หรือ +1.50% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,467.97 จุด เพิ่มขึ้น 194.57 จุด หรือ +2.10%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (4 ก.พ.) โดยปรับตัวขึ้นวันเดียวมากที่สุดในรอบเกือบ 4 เดือน เนื่องจากนักลงทุนขานรับการเปิดเผยผลประกอบการที่สดใสของบริษัทบีพีและบริษัทเกล็นคอร์ นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางจีนกำลังเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
ดัชนี Stoxx Europe 600 บวก 1.64% ปิดที่ 418.47 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,935.05 จุด เพิ่มขึ้น 102.54 จุด หรือ +1.76%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 13,281.74 จุด เพิ่มขึ้น 236.55 จุด หรือ +1.81% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,439.82 จุด เพิ่มขึ้น 113.51 จุด หรือ +1.55%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (4 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับธนาคารกลางจีนออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งช่วยคลายความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบทั่วโลกจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ขณะที่การรายงานผลประกอบการในเชิงบวกของบริษัทจดทะเบียนอังกฤษได้ช่วยหนุนตลาดด้วย
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,439.82 จุด เพิ่มขึ้น 113.51 จุด หรือ +1.55%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (4 ก.พ.) โดยราคาน้ำมันร่วงหลุดจากระดับ 50 ดอลลาร์/บาร์เรลเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในขณะนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลก ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบซึ่งสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) มีกำหนดเปิดเผยในวันนี้
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 50 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 49.61 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 49 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 53.96 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 สัปดาห์เมื่อคืนนี้ (4 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย และเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า หลังจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นสหรัฐทะยานขึ้นกว่า 400 จุด นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ยังสร้างแรงกดดันต่อตลาดทองคำ
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 26.9 ดอลลาร์ หรือ 1.7% ปิดที่ 1,555.5 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 10.9 เซนต์ หรือ 0.62% ปิดที่ 17.561 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 4.6 ดอลลาร์ หรือ 0.47% ปิดที่ 966.1 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ทะยานขึ้น 102.10 ดอลลาร์ หรือ 3.5% ปิดที่ 2,335.60 ดอลลาร์/ออนซ์
สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (4 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐ และจากการที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโคโรนา หลังจากธนาคารกลางออกมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพในตลาดการเงิน
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.49 เยน จากระดับ 108.68 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9696 ฟรังก์ จากระดับ 0.9660 ฟรังก์ แต่หากเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3283 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3295 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.1042 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1063 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3037 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2997 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6736 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6688 ดอลลาร์สหรัฐ