ก.ล.ต.เปิดเฮียริ่งเกณฑ์ระดมทุน “เอสเอ็มอี-สตาร์อัพ” เพิ่มทางเลือกเข้าถึงแหล่งเงินตลาดทุน
ก.ล.ต.เปิดเฮียริ่งเกณฑ์ระดมทุน "เอสเอ็มอี-สตาร์อัพ" เพิ่มทางเลือกเข้าถึงแหล่งเงินตลาดทุน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการระดมทุนในวงกว้างของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และสตาร์ทอัพ เพื่อช่วยเพิ่มทางเลือกให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้ตามความเหมาะสม ขณะที่ดูแลผู้ลงทุนให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่เพียงพอ
โดยก.ล.ต. พบว่า ในปัจจุบันเอสเอ็มอียังไม่สามารถระดมทุนจากผู้ลงทุนในวงกว้างและนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ เนื่องจากกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอาจไม่เอื้ออำนวยและต้นทุนในการระดมทุนค่อนข้างสูง ดังนั้นเพื่อส่งเสริมให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ตามเป้าหมายของแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำหนดการเพิ่มสัดส่วนเอสเอ็มอี ต่อ GDP เป็น 60% ภายในปี 80 ก.ล.ต. จึงจะเปิดช่องทางให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพสามารถระดมทุนในวงกว้าง (Public Offering: PO) ได้ ขณะเดียวกันยังดูแลให้ผู้ลงทุนได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ ก.ล.ต. กำหนดแนวทางให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่เป็นบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งมีผลการดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง (proven track record) หรือมีมูลค่ากิจการระดับหนึ่งแล้ว เช่น เอสเอ็มอีขนาดกลางตามนิยามของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และเอสเอ็มอีที่อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สามารถระดมทุนจากบุคคลในวงกว้างและนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดรอง* ได้โดยไม่ต้องยื่นคำขออนุญาต แต่ต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลต่อ ก.ล.ต. และจัดทำหนังสือชี้ชวนให้แก่ผู้ลงทุนเพื่อให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน รวมทั้งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังนี้
1.เปิดเผยข้อมูลของกิจการและงบการเงินตามที่กำหนด โดยงบการเงินจะต้องผ่านการสอบทานหรือตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีที่สังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่ผ่านการตรวจคุณภาพจาก ก.ล.ต. ซึ่งมีอยู่ 29 แห่งในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 12 ก.พ.63)
2.ผู้ลงทุนต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
(1) ผู้ลงทุนสถาบัน กิจการเงินร่วมลงทุน นิติบุคคลร่วมลงทุน ผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ (angel investor)
(2) กรรมการและพนักงานของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ หรือบริษัทในเครือ
(3) ผู้ลงทุนที่มีประกาศนียบัตรวิชาชีพที่แสดงถึงความรู้ด้านการเงินและการลงทุน (professional license)
(4) ผู้ลงทุนทั่วไปที่มีความรู้และประสบการณ์การลงทุนในหุ้นโดยจะต้องมีเงินลงทุนโดยตรงในหุ้นเฉลี่ยตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไปในรอบระยะเวลา 12 เดือนล่าสุด และการซื้อขายหุ้นเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพต้องทำผ่านตัวกลางที่ปฏิบัติตามกระบวนการขายผลิตภัณฑ์ (sales conduct) เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ประเภทเสี่ยงสูงและซับซ้อน รวมทั้งผู้ลงทุนต้องผ่านแบบทดสอบความรู้ (knowledge test) เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ลงทุนทราบถึงความเสี่ยงจากการลงทุน