สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 14 ก.พ. 2562
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 14 ก.พ. 2562
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อวันศุกร์ (14 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) และการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ แต่ดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ปิดบวกโดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัท Nvidia และนักลงทุนขานรับรายงานข่าวที่ว่า ทำเนียบขาวกำลังพิจารณาออกมาตรการจูงใจด้านภาษีสำหรับชาวอเมริกันในการซื้อหุ้น
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 29,398.08 จุด ลดลง 25.23 จุด หรือ -0.09% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,380.16 จุด เพิ่มขึ้น 6.22 จุด หรือ +0.18% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,731.18 จุด เพิ่มขึ้น 19.21 จุด หรือ +0.20%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อวันศุกร์ (14 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และตลาดยังถูกกดดันจากการที่บริษัทหลายแห่งในยุโรปคาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการในเชิงลบ อันเนื่องมาจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการเปิดเผยข้อมูลการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนที่ชะลอตัวลงด้วย
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.13% ปิดที่ 430.52 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,069.35 จุด ลดลง 23.78 จุด หรือ -0.39%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 13,744.21 จุด ลดลง 1.22 จุด หรือ -0.01% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,409.13 จุด ลดลง 42.90 จุด หรือ -0.58%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อวันศุกร์ (14 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่บริษัทจดทะเบียนในอังกฤษรายงานผลประกอบการที่อ่อนแอเกินคาด
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,409.13 จุด ลดลง 42.90 จุด หรือ -0.58%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (14 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันดิบที่อาจลดลงทั่วโลกในปีนี้ หลังจากคาดว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) อาจส่งผลกระทบแค่ในระยะสั้นต่อเศรษฐกิจโลก และมีความหวังว่า ธนาคารกลางจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงด้วย
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้แรงหนุนจากการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร กำลังพิจารณาที่จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลงอีก เพื่อพยุงราคาน้ำมันที่ทรุดตัวลงจากความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 63 เซนต์ หรือ 1.2% ปิดที่ 52.05 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 98 เซนต์ หรือ 1.7% ปิดที่ 57.32 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (14 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนได้เข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) นอกจากนี้ การปรับตัวลงของดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ในตลาดหุ้นสหรัฐเมื่อคืนนี้ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนคำสั่งซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 7.6 ดอลลาร์ หรือ 0.48% ปิดที่ 1,586.4 ดอลลาร์/ออนซ์ และในรอบสัปดาห์นี้ สัญญาทองคำปรับตัวขึ้น 0.8%
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 11.5 เซนต์ หรือ 0.65% ปิดที่ 17.734 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 5.9 ดอลลาร์ หรือ 0.61% ปิดที่ 968.8 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 34.3 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 2,316.7 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (14 ก.พ.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากผลสำรวจที่บ่งชี้ว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้นในเดือนก.พ. นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนเมื่อเทียบกับยูโรจากการเปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของยูโรโซนที่ชะลอการขยายตัวในไตรมาส 4/2562
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.05% สู่ระดับ 99.1248
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.0839 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0842 ดอลลาร์, เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3032 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3053 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6710 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6724 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9818 ฟรังก์ จากระดับ 0.9792 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 109.76 เยน จากระดับ 109.82 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาโดยแตะที่ระดับ 1.3252 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3260 ดอลลาร์แคนาดา